“ซีพี”เตรียมพลิกโฉม แอร์พอร์ตลิงก์เชื่อมไฮสปีดฯ

“ซีพี”เตรียมพลิกโฉม  แอร์พอร์ตลิงก์เชื่อมไฮสปีดฯ

ความคืบหน้าการส่งมอบแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ให้กับกลุ่มซีพีผู้ชนะการประมูลรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) ตามกำหนดส่งมอบกิจการในวันที่ 24 ต.ค.2564

สุเทพ พันธุ์เพ็ง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (ร.ฟ.ฟ.ท.) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ เปิดเผยว่าทางกลุ่มซีพีได้นำบุคลากรเข้ามาศึกษาดูงานเพื่อเตรียมความพร้อม ส่วนแผนบริหารกิจการและการลงทุนนั้น เบื้องต้นทราบว่ากลุ่มซีพีจะมีการลงทุนปรับปรุงบริการของแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ในหลายส่วน เช่น สิ่งอำนวยความสะดวกภายในสถานีรถไฟฟ้า ป้ายโฆษณา ตลอดจนการปรับปรุงขบวนรถโดยสาร

โดยแผนปรับปรุงขบวนรถโดยสาร ปัจจุบันแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ มีขบวนรถให้บริการ 9 ขบวน แบ่งออกเป็น ขบวนรถไฟฟ้าด่วน (Express Line) 4 ขบวน และรถไฟฟ้าธรรมดา (City Line) 5 ขบวน ซึ่งกลุ่มซีพีจะปรับปรุงส่วนของขบวน Express Line ที่มีจำนวน 4 ตู้ จากเดิมจะแบ่งเป็น 3 ตู้รองรับผู้โดยสาร และ 1 ตู้รองรับสัมภาระ ปรับเป็น 4 ตู้เพื่อรองรับผู้โดยสาร ส่งผลให้ขบวน Express Line จะเพิ่มขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้นราว 250 – 300 คนต่อเที่ยว

นอกจากนี้ ทราบว่าปัจจุบันทางกลุ่มซีพีเตรียมงบประมาณไว้ส่วนหนึ่งเพื่อปรับปรุงระบบสื่อสาร และระบบอาณัติสัญญาณให้ระบบของรถไฟแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ สามารถรองรับระบบไฮสปีดเทรน อีกทั้งเตรียมปรับปรุงทางหลีกของขบวนรถไฟฟ้า บริเวณสถานีมักกะสัน จากที่ปัจจุบันมีทางหลีกพร้อมให้บริการอยู่แล้วบริเวณสถานีหัวหมาก

162371933481

“การปรับโฉมแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ตามแผนของซีพี ทราบว่าจะปรับปรุงสถานี อาจจะมีการปรับโฉมในเรื่องของสีตกแต่งภายในอาคารและตัวรถโดยสารให้เป็นตัวตนทางธุรกิจของเขขามากขึ้น ปรับโฉมเรื่องของขบวนรถให้รองรับผู้โดยสาร จากดีมานด์ที่พบว่าคนใช้บริการเยอะขึ้น รวมไปถึงปรับโฉมส่วนของบัตรโดยสารที่อาจจะนำระบบทรูมันนี่มาใช้ สามารถซื้อตั๋วผ่านคิวอาร์โค้ดได้เลย”

สุเทพ เผยด้วยว่า กลุ่มซีพีจะได้รับสิทธิในการบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ทั้งภายในสถานีรถไฟฟ้าและพื้นที่โดยรอบสถานีมักกะสัน ซึ่งเบื้องต้นทราบว่าซีพีมีการกำหนดโมเดลของการพัฒนาสถานีมักกะสันให้เป็นประตูสู่พื้นที่พัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC Gateway ซึ่งจะมีบริการครอบคลุมทั้งระบบขนส่งสาธารณะ สำนักงานออฟฟิศต่างๆ ห้างสรรพสินค้าให้ลักษณะโครงการผสมผสาน หรือ มิกซ์ยูส

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันทางกลุ่มซีพีน่าจะมีการเตรียมความพร้อมเจรจาในโครงการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ไว้แล้ว เนื่องจากภายหลังรับมอบการบริหาร ทางกลุ่มซีพีจะเริ่มเข้ามาพัฒนา ส่วนผู้ประกอบการพื้นที่เชิงพาณิชย์ที่มีสัญญาเช่าอยู่กับ ร.ฟ.ฟ.ท.ในปัจจุบัน ส่วนใหญ่เป็นสัญญาเช่าระยะสั้น และใกล้จะครบกำหนดอายุสัญญาแล้ว จึงมั่นใจว่าจะไม่มีปัญหาของการยกเลิกสัญญา

สำหรับความคืบหน้าของการโอนย้ายบุคลากรของ ร.ฟ.ฟ.ท.เพื่อไปบริหารการเดินรถไฟชานเมืองสายสีแดง ขณะนี้ได้โอนย้ายพนักงานบางส่วนไปทดสอบการเดินรถและบริหารกิจการของรถไฟสายสีแดงแล้ว ซึ่งพนักงานของ ร.ฟ.ฟ.ท.ทั้งหมด 256 คน จะถูกโอนย้ายไปบริหารสายสีแดงภายหลังที่กลุ่มซีพีเข้ามาบริหารธุรกิจแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ในเดือน ต.ค.นี้

ส่วนความคืบหน้าของการทดสอบเดินรถสายสีแดง ภาพรวมมั่นใจว่าในเดือน ก.ค.นี้ จะสามารถเปิดทดลองให้บริการฟรีแก่ประชาชน และจะเปิดเดินรถเชิงพาณิชย์ในเดือน พ.ย.นี้ ตามเป้าหมาย

ด้านสฤษดิ์ จิณสิทธิ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทรถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด เปิดเผยก่อนหน้านี้ว่า บริษัทฯ ได้ส่งผู้เชี่ยวชาญระดับโลกลงพื้นที่ ประกอบกับผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนผู้ใช้บริการ โดยบริษัทฯมีมติให้อัดฉีดงบประมาณเพิ่มเติมกว่า 1.7 พันล้านบาท สำหรับดำเนินงานล่วงหน้าก่อนรับโอนสิทธิ โดยเริ่มวางแผนงานตั้งแต่ต้นปี 2563 และทยอยดำเนินการในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้ 1