'ก.แรงงาน' ห่วงลูกจ้าง ‘อัลฟ่า’400 ชีวิตถูกเลิกจ้าง
'ก.แรงงาน' ห่วงใยลูกจ้างบริษัท 'อัลฟ่า' 400 ชีวิต ถูกเลิกจ้าง สั่ง กสร.และหน่วยงานในสังกัด ตรวจสอบ เร่งให้ความช่วยเหลือคุ้มครองตามกฎหมาย
วันนี้ (14 มิถุนายน 2564) นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงกรณีบริษัท 'อัลฟ่า' เพอร์ฟอร์มานซ์ กรุ๊ป จำกัด ได้ส่งหนังสือบอก 'เลิกจ้าง'พนักงาน โดยให้มีผลเลิกจ้างพนักงานทันทีในวันที่ 13 มิ.ย. ทำให้พนักงานประมาณ 400 คนถูก'เลิกจ้าง'ทันที และยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับการได้เงินชดเชยนั้น
ในเรื่องนี้ ท่านนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และกระทรวงแรงงาน ภายใต้การกำกับดูแลของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากกรณีดังกล่าว จึงได้ให้ผมในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานในพื้นที่ทำงานเชิงรุก เข้าไปติดตามสาเหตุการประกาศหยุดกิจการและ'เลิกจ้าง'พนักงาน
รวมทั้งเร่งให้ความช่วยเหลือ'เยียวยา'สิทธิประโยชน์ตามกฎหมายโดยด่วน ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน จึงได้สั่งการให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริงและให้ความช่วยเหลือคุ้มครองตามกฎหมาย
- พร้อมช่วยเหลือชดเชยกรณี'ว่างงาน'พนักงาน 'อัลฟ่า' หลังถูกเลิกจ้าง
ด้าน นายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวว่า จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงของสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 5 พบว่า บริษัท อัลฟ่า เพอร์ฟอร์มานซ์ กรุ๊ป จำกัด 'อัลฟ่า' มีสำนักงานตั้งอยู่ที่เลขที่ 338 ถนนรัชดาภิเษก เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร
ได้ส่งหนังสือบอก'เลิกจ้าง'พนักงานเมื่อวันที่ 12 มิ.ย.64 โดยให้มีผล 'เลิกจ้าง'พนักงานในวันที่ 13 มิ.ย.64 ทำให้พนักงานประมาณ 400 คนถูกเลิกจ้างทันที และยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับการได้เงินชดเชย ซึ่งบริษัทแจ้งต่อพนักงานว่าจะมีการประชุมพูดคุยกันเรื่องค่าชดเชยในวันนี้ (14 มิ.ย.64) สำหรับสาเหตุการหยุดกิจการเนื่องจากบริษัทประสบปัญหาทางธุรกิจการขนส่งพัสดุอีคอมเมิร์ซเติบโตอย่างรวดเร็วและมีการแข่งขันที่รุนแรงทำให้ต้องหยุดดำเนินธุรกิจและเลิกกิจการ
นายอภิญญา กล่าวต่อว่า สำหรับการให้ความช่วยเหลือในเบื้องต้น สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 5 ได้เข้าติดตามให้มีการปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายและได้ประสานหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน ลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือตามภารกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น การให้คำปรึกษาข้อกฎหมาย สิทธิประโยชน์ การใช้สิทธิประกันการ'ว่างงาน' การหาตำแหน่งงานว่างให้การฝึกทักษะทางด้านอาชีพตามความต้องการ การขอรับประโยชน์ทดแทนกรณี'ว่างงาน'จาก'กองทุนประกันสังคม' กองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง เป็นต้น