แอพไทยเจ๋ง! ‘ผ่อดีดี’ คว้ารางวัลชนะเลิศใน ‘อังกฤษ’
“ผ่อดีดี” แอพพลิเคชันสัญชาติไทยจากบริษัทโอเพ่นดรีม เปลี่ยนเกษตรกรไทยให้เป็นนักสืบโรคเพื่อเฝ้าระวังโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน คว้าเงินรางวัลชนะเลิศมูลค่า 1.3ล้านปอนด์ ในโครงการThe Trinity Challenge
The Trinity Challenge (TCC) เป็นโครงการจากอังกฤษ เพื่อเฟ้นหานวัตกรรมการรับมือและแก้ปัญหาภัยฉุกเฉินด้านสาธารณสุขผ่านการเก็บและวิเคราะห์ข้อมูล ประกาศให้ทีมแข่งขันสัญชาติไทย PODD หรือ “ผ่อดีดี” ซึ่งเป็นแอพพลิเคชั่นที่ช่วยเฝ้าระวังสุขภาพคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อมในชุมชนเป็นผู้ชนะเลิศ คว้ารางวัลเงินทุนมูลค่า1.3ล้านปอนด์ (ราว57.7ล้านบาท) เพื่อนำไปใช้พัฒนาแอพพลิเคชั่นดังกล่าว
“โครงการนี้จะช่วยเกษตรกรในการตรวรจหาและรายงานโรคติดเชื้อจากสัตว์สู่คนที่อาจทำให้เกิดโรคระบาดใหญ่ระดับโลกได้อีก” TCC ประกาศรางวัลจัดขึ้นแบบออนไลน์ในวันศุกร์ (25 มิ.ย.)
“ผ่อดีดี” (Participatory One Health Disease Detection: PODD) นำทีมโดยนายปฏิพัทธ์ สุสำเภา ผู้ก่อตั้งบริษัท Opendream พัฒนาแอพพลิเคชั่นให้เกษตรกรที่มีฟาร์มปศุสัตว์ช่วยสังเกตุและรายงานอาการป่วยของสัตว์แลกกับการดูแลรักษาอาการป่วยของสัตว์เป็นการตอบแทน หากมีความเป็นไปได้ว่าจะมีการแพร่ระบาดโรคของสัตว์ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขท้องถิ่นจะทำการกักตัวสัตว์ตัวนั้น ๆ เพื่อปกป้องสัตว์ตัวอื่น ๆ และป้องกันไม่ให้เกิดโรคระบาดใหญ่จากสัตว์สู่คนในลักษณะเดียวกับโรคโควิด-19
ปัจจุบัน “ผ่อดีดี” ประสบความสำเร็จในประเทศไทยแล้วโดยมีเครือข่ายเกษตรกรกว่า20,000รายช่วยเฝ้าระวังและควบคุมการแพร่ระบาดของโรค แต่ทางทีมผู้จัดทำยังมีแผนที่จะขยายเครือข่ายไปยังประเทศอื่น ๆ อย่างกัมพูชา อินเดีย อินโดนีเซีย ลาว ยูกานดา และเวียดนามในช่วงสามปีข้างหน้า
โครงการ The Trinity Challenge ยังได้มอบรางวัลกับผู้เข้าร่วมแข่งขันทีมอื่น ๆ อีก 7 ทีมที่ได้ใช้และวิเคราะห์ข้อมูลในรูปแบบหลากหลาย เพื่อเตรียมการรับมือกับโรคระบาดและการฟื้นฟูรักษา โดย2ทีมที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศมูลค่า1ล้านปอนด์ (ราว44.4ล้านบาท) เป็นเจ้าของผลงาน “The Sentinel Forecasting System” ที่ช่วยทำนายการเกิดขึ้นของโรคใหม่ ๆ ในแอฟริกาตะวันตก และทีม “Blood Counts!” ที่ทำการตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (Complete Blood Count)จากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 3.6 ล้านราย และนำผลการตรวจมาใช้เป็นเครือข่ายเฝ้าระวังโรคได้อย่างกว้างขวางโดยใช้ Machine Learning ตรวจหาการเปลี่ยนแปลงที่อาจส่งสัญญาณถึงการเกิดโรคใหม่
Dame Sally Daviesอดีตหัวหน้าที่ปรึกษาด้านการแพทย์ของรัฐบาลสหราชอาณาจักร กล่าวว่า ตั้งแต่โควิด-19เริ่มระบาดก็เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าโลกของเราขาดแคลนข้อมูล การเข้าถึงข้อมูล และการจัดการข้อมูลร่วมกัน ซึ่งถือเป็นความท้าทาย ในขณะที่คนอื่น ๆ ได้แต่พูด เราเริ่มลงมือทำแล้ว แนวทางการแก้ไขปัญหาด้านข้อมูลที่เราได้ค้นพบตลอดโครงการแข่งขันนี้จะเป็นตัวเชื่อมโยงระบบข้อมูลและประเทศต่าง ๆ เข้าด้วยกัน
นอกจากการให้เงินทุนสนับสนุนทีมผู้ชนะแล้ว ทางโครงการจะแนะนำเครือข่ายองค์กรที่เหมาะสมให้แต่ละทีมเพื่อช่วยให้เกิดผลลัพธ์สูงสุด ตั้งแต่เริ่มโครงการมาได้ 9 เดือน TCCได้แนะนำให้ทีมผู้เข้าแข่งขันรู้จักกับเครือข่ายพันธมิตรในภาคเอกชน แวดวงวิชาการ และภาคสังคมเพื่อให้สามารถเข้าถึงเครื่องมือดิจิทัล ข้อมูล และคำแนะนำทางเทคนิค อันจะทำให้ใช้ และวิเคราะห์ข้อมูลได้ดียิ่งขึ้นเพื่อปกป้องโลกจากภัยด้านสาธารณสุขในอนาคต โดยปัจจุบันโครงการได้ช่วยสร้างเครือข่ายระหว่างผู้เข้าแข่งขันและพันธมิตรกว่า 200 รายแล้ว