ชาวจันท์เตรียมโค่นยางปลูกทุเรียนเพิ่มหมื่นไร่ รออ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด
ชาวจันทบุรี เตรียมโค่นยางปลูกทุเรียนเพิ่มนับหมื่นไร่ รออ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด เผยปี 64 มูลค่าทุเรียนกว่า 6 หมื่นล้านขยายได้อีกเพราะยังไม่พอกับตลาด
นายอุดม วรัญูรัฐ สว.จันทบุรี กล่าวว่า คนจังหวัดจันทบุรีสนับสนุนการสร้างเก็บน้ำคลองวังโตนดเพราะคนประชาชนในพื้นที่ต่างทราบดีถึงความสำคัญของการมีอ่างเก็บน้ำแห่งนี้ และที่ผ่านมาต่างประสบปัญหาภัยแล้งอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่การเกษตรชาวสวนทุเรียนผลไม้สำคัญของจังหวัด และผลไม้ส่งออกสำคัญของประเทศ ซึ่งจากข่าวที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติกก.วล.เห็นชอบแล้วทำให้ขณะนี้หลายพื้นที่เกษตรกรเตรียมโค่นยางพาราเพื่อหันมาปลูกทุเรียนเพราะเพื่อรออ่างเก็บน้ำที่จะมาสร้างความมั่นคงให้กับพื้นที่
“ทุเรียนในจังหวัดจันทร์ประมาณ 3 แสนไร่ ปี2564 รวบรวมได้ประมาณ 4 แสนตัน มูลค่าประมาณ 6 หมื่นล้านบาท เพราะต่างมองว่าทุเรียนเป็นอนาคต เพราะคนที่นี่มีความชำนาญในการปลูกทำให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพที่ตลาดต้องการ แต่ทั้งนี้จันทบุรีไม่ได้มีทุเรียนเพียงอย่างเดียว ยังมีมังคุด เงาะ ยางพารา และอื่นๆ ซึ่งหลายปีก่อนแล้งมากคนสวนทุเรียนต้องซื้อน้ำมาใส่ต้น แต่ทุกคนก็สู้แพงก็ต้องซื้อหามาเพราะถ้าต้นตายต้องใช้เวลาปลูกมากกว่า 5ปี แต่ถามว่าน้ำมาจากไหนก็มาจากลำน้ำ มาจากอ่างเช่นกัน ทุกคนก็ทราบว่าสภาพอากาศเปลี่ยน เมืองจันทร์มีน้ำท่าเยอะแต่เราไม่มีอ่างเก็บ อ่างวังโตนดจึงเป็นความหวังของชาวสวนเมืองจันทบุรีซึ่งนอกจากเมืองจันทร์ใช้เองแล้ว ยังสามารถเผื่อแผ่ให้กับจังหวัดอื่นได้อีกด้วย”นายอุดมกล่าว
นายเจริญ ปิยารมย์ ประธานคณะทำงานลุ่มน้ำคลองวังโตนดกล่าวว่า คนในพื้นที่ลุกขึ้นมาสู้เพื่อให้ได้อ่างคลองวังโตนด ก็เพื่อลูกหลานในอนาคตที่จะมั่นคงด้านน้ำ เพราะ ตนเองปัจจุบันอายุ 77 ปี ไม่รู้จะมีโอกาสได้เห็นอ่างนี้เมื่อสร้างเสร็จหรือไม่ ซึ่งเมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 64 ที่ผ่านมานายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน ก็ลงมาหารือในพื้นที่ ทางประชาคมลุ่มน้ำคลองวังโตนดยืนยันว่าพร้อมสนับสนุนกรมชลฯทุกมิติ เพราะจากอดีตที่อยู่กันมาทราบถึงปัญหาขาดแคลนน้ำดีว่าเดือดร้อนกันอย่างไร จึงไม่แปลกที่อ่างแห่งนี้เป็นอ่างที่คนลุ่มน้ำวังโตนดและคนเมืองจันทบุรีลุกขึ้นมาสนับสนุน แต่ก็มีบางคนยังมาแย้งว่าน้ำจะไปเลี้ยงพื้นที่อีอีซีด้วย ซึ่งในฐานะคนที่ทำงานด้านน้ำมาก่อนก็ฝากว่า น้ำนั้นต้องแบ่งปันกัน ที่ผ่านมาทางลุ่มน้ำยังมีอ่างไม่ครบ 4 อ่าง มีเพียง 3 แห่งอ่างพะวาใหญ่ อ่างประแกด อ่างแก่งหางแมวที่กำลังก่อสร้าง ทางลุ่มน้ำได้มีการจัดสรรแบบมีเงื่อนไข เมื่ออ่างครบ4อ่างก็ยังคงมีเงื่อนไขว่าต้องผันในช่วงฤดูฝน นอกจากนั้นยังต้องสร้างระบบกระจายน้ำเพื่อสามารถนำน้ำไปใช้ในพื้นที่รอบอ่างให้สมบูรณ์ด้วยซึ่งทางกรมชลประทานก็รับรอง ในขณะที่ด้านสิ่งแวดล้อมคนลุ่มน้ำจะช่วยกันฟื้นฟูตามแผนที่กก.สว.กำหนด คนลุ่มน้ำคลองวังโตนดเห็นตรงกันว่าสมควรมีอ่างเก็บน้ำที่ลุ่มน้ำวังโตนด