บ.ญี่ปุ่นกว้านซื้อกิจการต่างแดนเพิ่ม 56%
บ.ญี่ปุ่นกว้านซื้อกิจการต่างแดนเพิ่ม 56% สะท้อนให้เห็นถึงภาวะอิ่มตัวของธุรกิจในประเทศ การลดลงของจำนวนประชากรเกิดใหม่ และการกระจายวัคซีนที่ครอบคลุมประชากรกลุ่มต่างๆได้มากขึ้นทำให้เกิดกระแสคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัว
รีคอฟ บริษัทที่ปรึกษาด้านผนวกและควบรวมกิจการ เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทญี่ปุ่นกลับมาขยายธุรกิจในต่างแดนมากขึ้นอีกครั้ง ส่งผลให้มีการทำข้อตกลงผนวกและควบรวมกิจการ (เอ็มแอนด์เอ) นอกประเทศในช่วงเดือนเม.ย.-มิ.ย.จำนวน 182 ข้อตกลง เพิ่มขึ้น 56% และมีมูลค่าเพิ่มขึ้นโดยรวม 455% เป็น 2.16 ล้านล้านเยน (19,000 ล้านดอลลาร์)
การทำข้อตกลงซื้อกิจการในต่างประเทศเพิ่มขึ้นของบริษัทญี่ปุ่น สะท้อนให้เห็นถึงภาวะอิ่มตัวของธุรกิจในประเทศ การลดลงของจำนวนประชากรเกิดใหม่ และการกระจายวัคซีนที่ครอบคลุมประชากรกลุ่มต่างๆได้มากขึ้นทำให้เกิดกระแสคาดการณ์ในแง่ดีว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัว โดยบริษัทญี่ปุ่นเริ่มทำข้อตกลงเอ็มแอนด์เอก่อนจะเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ขณะที่มีบริษัทญี่ปุ่นมากขึ้นที่พยายามสร้างความหลากหลายแก่ธุรกิจและขยายการลงทุนในต่างประเทศ โดยในปี 2562 มีการทำข้อตกลงครอบครองกิจการในต่างประเทศของบริษัทญี่ปุ่นโดยรวมสูงเป็นประวัติการณ์ที่ 826 ข้อตกลง
เมื่อเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 บริษัทหลายแห่งชะลอการลงทุนในต่างประเทศเนื่องจากวิตกกังวลว่าเศรษฐกิจโลกจะซบเซาและกลัวว่าปัญหาการดิสรัปของระบบห่วงโซ่อุปทานโลกจะรุนแรงขึ้น ขณะที่ธุรกิจจำนวนมากให้ความสำคัญกับการปกป้องพนักงานและเก็บเงินสดไว้กับตัวให้ได้มากที่สุดแทนที่จะเพิ่มการลงทุนด้านต่างๆ
อย่างไรก็ตาม เมื่อเริ่มมีการกระจายวัคซีนให้แก่ประชาชนกลุ่มต่างๆทั่วประเทศ และเศรษฐกิจของบรรดามหาอำนาจโลกอย่างสหรัฐและจีนเริ่มส่งสัญญาณการฟื้นตัว การกว้านซื้อกิจการในต่างประเทศของบริษัทญี่ปุ่นก็เริ่มกลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้งอย่างค่อยเป็นค่อยไป
ในไตรมาส2 การเข้าซื้อกิจการในต่างประเทศขยับเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดือนม.ค.-มี.ค. มีการทำข้อตกลงซื้อกิจการเพิ่มขึ้น 29%เมื่อเทียบกับไตรมาสแรก ขณะที่มูลค่าการซื้อกิจการโดยรวมเพิ่มขึ้น 9% ส่วนมูลค่าการทำข้อตกลงโดยรวมในไตรมาสแรกของปีนี้อยู่ที่ 4.1 ล้านล้านเยน เทียบกับมูลค่าข้อตกลงโดยรวมปี 2563 ซึ่งอยู่ที่ 4.4 ล้านล้านเยน
บิซิท(BIZIT)ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มจับคู่ด้านการลงทุนทางออนไลน์ในเครือบริษัทจีซีเอ คอร์ป บริษัทที่ปรึกษาด้านเอ็มแอนด์เอ กล่าวว่า “การเข้าซื้อกิจการในต่างประเทศของบริษัทญี่ปุ่นเริ่มมีมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากการที่มีบริษัทมากขึ้นเข้ามาใช้บริการบริษัทเราในช่วง2 -3เดือนที่ผ่านมา”
การเข้าซื้อกิจการใหญ่สุดในปีนี้คือบริษัทฮิตาชิ ทำข้อตกลงครอบครองกิจการโกลบอลลอจิก บริษัทพัฒนาซอฟต์แวร์สัญชาติสหรัฐในวงเงิน 9,600 ล้านดอลลาร์
นอกจากนี้ มีบริษัทพานาโซนิก ที่ประกาศแผนเข้าครอบครองกิจการบริษัทบลู ยอนเดอร์ ซึ่งเป็นบริษัทพัฒนาระบบบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานสัญชาติสหรัฐ ในวงเงิน 7,100 ล้านดอลาร์ ถือเป็นการทำข้อตกลงครอบครองกิจการใหญ่สุดในรอบ10ปี
“ส่วนใหญ่ของการทำข้อตกลงเอ็มแอนด์เอของบริษัทญี่ปุ่น จะเป็นการซื้อกิจการบริษัทซอฟต์แวร์หรือบริษัทที่เกี่ยวข้องกับไอทีของสหรัฐ”เคอิชิ ซากากิบารา ผู้จัดการแผนกทำข้อตกลงข้ามพรมแดนของนิฮอน เอ็มแอนด์เอ เซนเตอร์ ซึ่งเป็นบริษัทเอ็มแอนด์เอ อิสระรายใหญ่สุดของญี่ปุ่น กล่าว
ซากากิบารา กล่าวเพิ่มเติมว่า เหตุผลที่บริษัทญี่ปุ่นซื้อบริษัทซอฟต์แวร์สหรัฐเพราะซื้อกิจการได้ง่ายกว่า เมื่อเทียบกับการซื้อกิจการบริษัทที่เป็นผู้ผลิตในอุตสาหกรรม และมาตรการคุมเข้มด้านการเดินทางของประเทศต่างๆก็ทำให้บริษัทญี่ปุ่นไม่สะดวกที่จะเดินทางไปตรวจสอบบรรดาโรงงานผลิตในต่างประเทศ และเมื่อไม่มีโอกาสได้ตรวจสอบโรงงานที่ต้องการซื้อด้วยตาตัวเอง โอกาสที่จะซื้อกิจการบริษัทที่เป็นโรงงานผลิตจึงมีน้อยตามไปด้วย
กลุ่มบริษัทเพื่อการลงทุนด้านเทคโนโลยีชั้นนำของญี่ปุ่นอย่างซอฟต์แบงก์ กรุ๊ป ก็เข้าซื้อหุ้น 40% ในออโต้สโตร์ บริษัทหุ่นยนต์ที่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีอัตโนมัติในโกดังสินค้า มีฐานดำเนินงานอยู่ในนอร์เวย์ ด้วยความหวังว่าจะชิงส่วนแบ่งตลาดโลจิสติกที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องท่ามกลางการระบาดของโรคโควิด-19ที่กระตุ้นให้ผู้คนหันมาช็อปปิ้งทางออนไลน์มากขึ้น