‘เดลตา’ มาแล้ว! เช็คประสิทธิภาพ 'วัคซีน’ ยี่ห้อไหน เป็นอย่างไร?
เช็คระดับภูมิคุ้มกันวัคซีน เมื่อเจอโควิดสายพันธุ์ "เดลต้า" (อินเดีย) ยี่ห้อไหนเป็นอย่างไร ด้านที่ปรึกษา ศบค. เผยเตรียมใช้แอสตร้าเซนเนก้า-ไฟเซอร์ เป็นบูสเตอร์โดสให้บุคลากรการแพทย์ พร้อมแนะไม่จำเป็นจองวัคซีนทางเลือกเป็นเข็ม3 ขอให้รอรุ่นใหม่ ปลอดภัยขึ้น
เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 6 ก.ค. 2564 ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.อุดม คชินทร ที่ปรึกษาด้านสาธารณสุขศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 (ศบค.) แถลงข่าวประเด็น วัคซีนโควิด-19 ว่า คณะที่ปรึกษาซึ่งมี ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร เป็นประธานและมีคณบดีคณะแพทยศาสตร์ในกทม.เป็นกรรมการ ได้มีการประชุมหารือเกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19ที่หลายคนสนใจ ผลการประชุมรายงานนายกฯ ไปแล้ว และให้ทำความเข้าใจประชาชนในฐานะศบค.
ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ทั่วโลกมีการระบาดของไวรัสกลายพันธุ์ เดลตา (อินเดีย) อย่างมาก ประมาณ 96 ประเทศ ส่วนสถานการณ์ในประเทศไทย 2 เดือนก่อน 85-90%เป็นสายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) พอมิ.ย. - ก.ค. ภาพรวมทั้งประเทศเป็นเดลตา 30% ถือว่าไปเร็วมาก เฉพาะกทม.ปริมณฑลเป็นเดลตา 50% ของเชื้อที่พบ ซึ่งสายพันธุ์เดลตาระบาดเร็วกว่าอัลฟา 40 % คาดว่า 1-2 เดือน ทั้งประเทศไทยและโลกจะเป็นเดลตาเกือบทั้งหมด เพราะกระจายเร็วมาก และมีลักษณะพิเศษทำให้ผู้ป่วยอยู่ในสภาวะต้องการออกซิเจน หรือออกซิเจนต่ำกว่าปกติเร็วขึ้น ปอดอักเสบเร็วขึ้น อัลฟาเดิมใช้เวลา 7-10 วันถึงกลายเป็นปอดอักเสบ ต้องใช้ออกซิเจน ไฮโฟลว์ เครื่องช่วยหายใจ ส่วนเดลตาใช้เวลา 3-5 วัน ดังนั้นเมื่อมีคนติดเชื้อมาก เตียงผู้ป่วยหนัก ไอซียูจึงเพิ่มขึ้น เตียงตึงมาก โดยเฉพาะสีแดง ถ้าปล่อยให้เหตุการณ์ไปอย่างนี้เรื่อยๆ ระบบสาธารณสุขจะอยู่ไม่ได้
สายพันธุ์ "เดลตา" กระจายเร็วมาก และมีลักษณะพิเศษทำให้ผู้ป่วยอยู่ในสภาวะต้องการออกซิเจน หรือออกซิเจนต่ำกว่าปกติเร็วขึ้น ปอดอักเสบเร็วขึ้น ขณะที่สายพันธุ์อัลฟาเดิมใช้เวลา 7-10 วันถึงกลายเป็นปอดอักเสบ ส่วนเดลตาใช้เวลา 3-5 วัน
การมีการกลายพันธุ์ของไวรัสเป็นปกติ เป็นการปรับตัวเพื่ออยู่รอด ยิ่งแบ่งตัวระบาดได้มากยิ่งกลายพันธุ์ได้มาก และดื้อต่อภูมิคุ้มกันจากวัคซีน โดยวัคซีนขณะนี้ทำจากไวรัสดั้งเดิมอู่ฮั่น สำหรับตัวกลายพันธุ์ยังไม่มี ซึ่งประสิทธิภาพเดิมได้ผลดีมาก แต่เมื่อเจอไวรัสกลายพันธุ์ประสิทธิภาพลดลงชัดเจน ซึ่งไม่ใช่วัคซีนไม่ดีแต่ไวรัสกลายพันธุ์ทำให้ดื้อวัคซีน จึงต้องหาวัคซีนรุ่นใหม่ที่จะมาครอบคลุมไวรัสกลายพันธุ์ซึ่งยังไม่มี ทุกยี่ห้อยังไม่มีและกำลังอยู่ระหว่างการศึกษา เร็วสุดอาจปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า เพราะฉะนั้นระหว่างที่รอต้องหาวิธีการ คือ ให้บูสเตอร์โดสเพื่อให้ภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้นมาต่อสู้กับเชื้อกลายพันธุ์ให้ได้
- เดลตาทำภูมิคุ้มกันวัคซีนลดลง
คณะที่ปรึกษาฯมีการหารือมาร่วม 2-3 เดือนทั้ง การฉีดเข็ม 3 และ ฉีดสลับชนิดวัคซีนในเข็ม 1 และ 2 ซึ่งกรณี "เดลตา" จะเป็นสายพันธุ์ที่มีมากสุดในโลกและไทย
ถ้าดูข้อมูลวัคซีนที่ใช้ปัจจุบัน "เดลตา" ทำให้ภูมิคุ้มกันลดลง โดยข้อมูลในอังกฤษ "ไฟเซอร์" 2 เข็ม ภูมิคุ้มกันลดลง 2.5 เท่า, "แอสตร้าเซนเนก้า" 2 เข็ม ลดลง 4.3 เท่า ส่วน "ซิโนแวค" ข้อมูลในประเทศไทยเองเพราะอังกฤษไม่ได้ใช้ ภูมิคุ้มกัน ลดลง 4.9 เท่า ส่วนการกระตุ้นภูมิต้านทานวัคซีนชนิด mRNA สูงสุดอยู่ระดับพันถึงหมื่น แอสตร้าหลักพันต้นๆ ซิโนแวคหลักหลายร้อยปลายๆ ในเรื่องการป้องกันโรคต่อสายพันธุ์เดลตา ไฟเซอร์ป้องกันลดลงจาก 93% เหลือ 88% แอสตร้าฯลดลงจาก 66% เหลือ 60% แต่ป้องกันอยู่ รพ. เจ็บป่วยรุนแรง ไฟเซอร์ 96% แอสตร้าฯ 92% ไม่มีความแตกต่างทางสถิติ
"เดลตา" ทำให้ภูมิคุ้มกันลดลง โดยข้อมูลในอังกฤษ "ไฟเซอร์" 2 เข็ม ภูมิคุ้มกันลดลง 2.5 เท่า, "แอสตร้าฯ" 2 เข็ม ลดลง 4.3 เท่า ส่วน "ซิโนแวค" ข้อมูลในประเทศไทยเองเพราะอังกฤษไม่ได้ใช้ ภูมิคุ้มกัน ลดลง 4.9 เท่า
“อยากย้ำว่า แม้การป้องกันลดลง แต่การป้องกันเจ็บป่วยรุนแรง นอนโรงพยาบาล ป้องกันการตายยังได้ผลสูงมาก ส่วนซิโนแวค ข้อมูลน้อย ไม่มีข้อมูลป้องกันได้เท่าไหร่ แต่ถ้าเทียบจากภูมิคุ้มกันคงป้องกันเดลตาไม่ดีแน่ แต่ซิโนแวค 2 เข็ม ป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรง การต้องเข้ารพ. ป้องกันตายได้มากกว่า 90% จากข้อมูลของหลายประเทศและไทย”ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.อุดมกล่าว
- ฉีดวัคซีนแล้วยังติดเชื้อ
ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.อุดม กล่าวด้วยว่า ต้องทำความเข้าใจถึงวัตถุประสงค์ของการฉีดวัคซีน ไม่มีทางป้องกันได้ 100% แต่ละตัวมีประสิทธิภาพแตกต่างกัน แม้ประสิทธิภาพป้องกันลดลง แต่ประสิทธิภาพป้องกันป่วยรุนแรง เข้ารพ. และตายยังสูงมากเกิน 90% หลักการวัคซีนป้องกันไม่ให้เจ็บป่วยรุนแรงเข้ารพ.เป็นผู้ป่วยหนัก คุ้มค่ามหาศาลสำหรับชีวิต และช่วยปกป้องระบบสุขภาพระบบสาธารณสุขนี่คือประโยชน์ ซึ่งวัคซีนเฉลี่ยป้องกันติดเชื้อได้ 60-70% แต่ป้องกันเจ็บป่วยรุนแรง เสียชีวติ 90% คุ้มค่าแล้วจึงต้องไปฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกัน และต้องคงมาตรการด้านสาธารณสุขใส่หน้ากาก ล้างมือบ่อยๆ เว้นระยะห่าง เลี่ยงไปสถานที่แออัด และขณะนี้ ผู้ป่วยรายใหม่ติดเชื้อจากคนในครอบครัว 20% เพื่อนร่วมงาน 40%
“ข้อมูลในสหรัฐอเมริกา รัฐแมสซาชูเซตส์ เก็บข้อมูล 3.7 ล้านคนที่ฉีดไฟเซอร์ครบ 2 เข็ม ยังเกิดติดโควิด 0.1% ในอินเดีย เก็บข้อมูล 10 กว่าล้านคน ฉีดแอสตร้าฯ 2 เข็ม ติดโควิด 0.2% ดังนั้น วัคซีนมีประโยชน์ แต่ไม่ใช่เรื่องป้องกัน แต่ช่วยชีวิตไม่ให้เจ็บป่วยรุนแรง ไม่ให้ตาย ปกป้องระบบสาธารณสุขไม่ให้เกินกำลัง”ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.อุดมกล่าว
- 3-4 เดือนภูมิต้านทานลดครึ่งหนึ่ง
ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.อุดม กล่าวด้วยว่า ขณะนี้มีข้อมูลมากขึ้น แม้คนไข้ติดเชื้อโควิดตามธรรมชาติ พบว่า ภูมิต้านทานตกเร็ว หลัง 3-6 เดือนหลังติดเชื้อ บางคนไม่มีภูมิต้านทานขึ้นเลยแม้ป่วยรุนแรง เพราะเป็นไวรัสใหม่มีอีกหลายอย่างที่ยังไม่รู้ ซึ่งการฉีดวัคซีน ภูมิต้านทานขึ้นแน่นอน แต่ 3-6 เดือนจะลดลง
นักวิจัยที่ออกซ์ฟอร์ดเก็บข้อมูล พบว่า ระยะเวลามีชีวิตอยู่ลดลงครึ่งหนึ่งใช้เวลา 3-4 เดือน ฉะนั้น อาจจะป้องกันไม่ได้ ถ้าภูมิต้านทานไม่ได้สูงมาก จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมต้อง "บูสเตอร์โดส" ไม่อยากเรียกเข็มที่ 3 เพราะยังไม่มีไกด์ไลน์จากองค์การอนามัยโลกหรือประเทศใดว่าต้องฉีดเข็มที่ 3 เป็นเพียงการเสริม
ขณะนี้มี 2 ประเทศที่ฉีดเข็ม 3 คือ ยูเออีและบาห์เรน โดย 2 เข็มแรกเป็นซิโนแวค และเข็ม 3 เป็นซิโนฟาร์ม เพราะหาตัวอื่นไม่ได้ อย่างน้อยช่วยกระตุ้นอาจจะไม่มาก ถ้าจะกระตุ้นมากวัคซีนต้องต่างชนิดกันต่างแพลตฟอร์ม แต่ขณะนี้ข้อมูลน้อยมากและยังไม่มีประเทศใดดำเนินการเป็นทางการในการฉีดเข็มที่ 3
- อย่าเพิ่งจองวัคซีนเข็ม 3
“หลักการสำคัญที่ทุกประเทศเน้น คือ ฉีดเข็ม 1-2 ให้ได้ครบก่อน ขอให้ฉีดให้ครบ 2 เข็มตามกำหนดก่อน กันตายเจ็บป่วยรุนแรง อย่าเพิ่งนึกถึงเข็ม3 ซึ่งหากฉีดแอสตร้าฯระยะห่างเข็ม 1 และเข็ม 2 อยู่ที่ 3 เดือน และจะฉีดเข็ม 3 อาจต้องห่างอีก 3 เดือน รวมถึง 6 เดือน ดังนั้น อย่าเพิ่งไปจองวัคซีนตัวอื่นเพื่อมาเป็นเข็ม 3 เลย พูดจากข้อมูลทางวิชาการ เพราะถ้าจองตอนนี้จะได้ วัคซีนmRNA รุ่นเก่า แต่หากรออีก 6 เดือน จะได้ mRNA รุ่นใหม่ ฤทธิ์ข้างเคียงอาจน้อยลง ปลอดภัยมากกว่า”ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.อุดม กล่าว
"อย่าเพิ่งไปจองวัคซีนตัวอื่นเพื่อมาเป็นเข็ม 3 เลย พูดจากข้อมูลทางวิชาการ เพราะถ้าจองตอนนี้จะได้ วัคซีนmRNA รุ่นเก่า แต่หากรออีก 6 เดือน จะได้ mRNA รุ่นใหม่ ฤทธิ์ข้างเคียงอาจน้อยลง ปลอดภัยมากกว่า" ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.อุดม กล่าว
- บูสเตอร์โดสให้บุคลากรฯ
ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.อุดม กล่าวด้วยว่า เมื่อภูมิต้านทานตกเร็ว ในทางการแพทย์เท่าที่มีข้อมูลคือต้องฉีดบูสเตอร์ ในประเทศไทยใช้ 2 ตัว คือ ซิโนแวค เมื่อฉีดครบ 2 เข็ม ภูมิคุ้มกันลดลงครึ่งหนึ่งใน 3-4 เดือนต้องการบูสเตอร์แน่นอน โดยกลุ่มแรกที่จะได้รับบูสเตอร์ คือ บุคลากรทางการแพทย์และด่านหน้าที่ฉีดเข็ม 2 ครบ 3-4 เดือนแล้ว ซึ่งเข็มบูสเตอร์โดสจะเป็นวัคซีนแอสตร้าฯ หรือ mRNA ซึ่งหากภายในสัปดาห์นี้ วัคซีน "ไฟเซอร์" ที่ได้รับบริจาค 1.5 ล้านโดสยังไม่มา ก็จะพิจารณาให้ "แอสตร้าเซนเนก้า" แต่หากไฟเซอร์เข้ามาภายหลังก็จัดให้ตามล็อตที่วัคซีนเข้ามา ไม่สามารถระบุได้ว่าต้องการวัคซีนชนิดใด แล้วแต่ว่าใครจะได้รับตัวไหน แต่ละประเทศก็ทำเช่นนี้ทั้งนั้น ขอให้เข้าใจด้วย จากนั้นจึงพิจารณาในกลุ่มเสี่ยงที่มีโรคต่างๆ
- อยู่ระหว่างศึกษาความปลอดภัย
“ส่วนเรื่องความปลอดภัยในการฉีดเชื้อตาย 2 เข็ม แล้วบูสต์ด้วย mRNA หรือไวรัลเว็คเตอร์ อยู่ระหว่างการศึกษาคาดว่าผลจะออกใน 1 เดือนนี้ และย้ำว่าบูสเตอร์โดส ยังไม่ใช่สำหรับคนทั่วไป ยังไม่มีประเทศไหนกำหนดแนวทางไกด์ไลน์หรือแม้กระทั่งองค์การอนามัยโลกก็ไม่มี ขณะนี้ที่ศิริราช และจุฬาฯกำลังทำการศึกษาเข็ม 3 ว่าตัวไหนจะเหมาะ ตัวไหนดีที่สุด อีก 1 เดือนรู้ผล ซึ่งจะเป็นการศึกษาแรกๆ ในโลกและกำหนดไกด์ไลน์ การให้บูสเตอร์โดสจะใช้อะไรบ้างอย่างไร ข้อมูลที่มีอยู่ใช้ในคนที่มีความเสี่ยงสูงไปสัมผัสกับผู้ติดเชื้อหรือไปรับเชื้อ คือ บุคลากรทางการแพทย์และด่านหน้า ส่วนการสลับชนิดวัคซีนเข็ม1และ2 ขอให้รอผลศึกษาความปลอดภัยในไทยและต่างประเทศก่อน”ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.อุดม กล่าว
- ไม่จำเป็นต้องจองวัคซีนเข็ม 3
เมื่อถามว่าตอนนี้หลายคนจองวัคซีนทางเลือกmRNA เพื่อเป็นเข็ม 3 ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.อุดม กล่าวว่า หากไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงสูงจริงๆ คือบุคลากรการแพทย์ และคนเสี่ยงที่มีโรคร่วม เรารีวิวข้อมูลแล้วไม่ได้จำเป็นสำหรับคนทั่วไป และตอนนี้กำลังดูคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกว่าจะฉีดให้ใครบ้าง ซึ่งการฉีดเข็ม 3 เป็นบูสเตอร์ ไม่ใช่สำหรับคนทั่วไป ตอนนี้ยอมรับว่าซิโนแวคกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้น้อยกว่า จึงต้องได้รับการกระตุ้นในระยะเวลาที่เร็วกว่า ส่วนแอสตร้าฯ และไฟเซอร์ก็ต้องบูสเตอร์เหมือนกัน โดยการคิดและวางแผนทุกอย่างบนพื้นฐานข้อมูลทางวิชาการทั้งนั้น