รู้จัก ‘ล็อกดาวน์’ ก่อนล็อกจริง! ย้อนดู ‘ล็อกดาวน์ เม.ย.63’ มีอะไรบ้าง
จับตาคำสั่ง “ล็อกดาวน์” ที่จะมีการประกาศในวันที่ 19 กรกฎาคมนี้ หลังโควิดไทยสุดวิกฤติ ยอดติดเชื้อพุ่งหมื่นต่อวัน ขณะที่ยอดตายนับร้อย “กรุงเทพธุรกิจ” ชวนเปิดปมปัจจัยสำคัญ พร้อมย้อนดูมาตรการ “ล็อกดาวน์ เม.ย. 2563” เข้มข้นแค่ไหน ใครกระทบบ้าง?
สถานการณ์โควิด-19 ในไทยยังอยู่ขั้นวิกฤติ กระทั่งประเด็น “ล็อกดาวน์” ถูกหยิบมาถกอย่างจริงจัง ล่าสุด ศบค. เอง โดยเมื่อวันที่ 17 ก.ค.64 มีรายละเอียดจาก ศปก.ศบค. ถึงการยกระดับมาตรการใน 10 จังหวัดสีแดงเข้ม พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด หรือยาแรงอย่าง ล็อกดาวน์เดือน เม.ย.63
โดยล่าสุด วันที่ 17 กรกฎาคม 2564 ภายหลังจากที่มีการแถลงของจากกระทรวงสาธารณสุข ว่าจะมียกระดับเพิ่มมาตรการเพื่อลดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด -19 ทั้งลดการเดินทางข้ามจังหวัด การปิดสถานที่เสี่ยง รวมไปถึงการทำงานที่บ้าน
แหล่งข่าวระดับสูงในทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า จะมีการการกลับไปบังคับใช้มาตรการเช่นเดียวกับช่วงเดือนเมษายน พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา โดยจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันจันทร์ที่ 19 กรกฎาคม 2564 ที่จะถึงนี้
ระหว่างที่สังคมยังคงรอลุ้นว่า ประเทศไทยจะมาถึงการ ล็อกดาวน์เต็มรูปแบบ หรือ ล็อกดาวน์ทั้งประเทศ รอบสองหรือไม่นั้น “กรุงเทพธุรกิจออนไลน์” ชวนไปดูกันว่า จำเป็นแค่ไหน เมื่อเทียบกับสถานการณ์การระบาดของโควิดวันนี้ในประเทศไทย
- 6 ปัจจัยสำคัญ ทำไมไทยต้อง “ล็อกดาวน์”
ก่อนจะถึงตอนสรุปว่า ไทยจะล็อกดาวน์หรือไม่ และควรล็อกดาวน์ในระดับใดนั้น เราจะชวนมาดูความซีเรียสของสถานการณ์การระบาดของโควิดในไทยกันเสียก่อนว่า ทำไมประเทศไทยจำเป็นต้องล็อกดาวน์ ซึ่งในเรื่องนี้สามารถแบ่งเป็น 6 ประเด็นหลักๆ ได้แก่
1. จำนวนการฉีดวัคซีนต่ำ โดยจำนวนผู้ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 “เข็มแรก” แค่ 16.5% ของเป้าหมาย 50 ล้านราย ซึ่งเป็นเกณฑ์การสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ หรือถ้านับรวมประชากรทั้งประเทศ 70 ล้านคน มีผู้ได้รับวัคซีนเข็มแรกแล้วเพียง 11.77% เท่านั้น (ข้อมูลจากศบค. ณ วันที่ 7 ก.ค.64)
2. ความร้ายแรงของโควิดสายพันธุ์เดลต้า (อินเดีย) ซึ่งปัจจุบันกำลังยึดไทย เป็นเชื้อที่ติดง่ายมาก และอาการรุนแรง โดยทำให้ผู้ป่วยอยู่ในภาวะออกซิเจนต่ำกว่าปกติเร็วขึ้น ปอดอักเสบเร็วขึ้น
ขณะที่สายพันธุ์ “อัลฟ่า” (อังกฤษ) เดิมใช้เวลา 7-10 วันถึงกลายเป็นปอดอักเสบ ต้องใช้ออกซิเจน ไฮโฟลว์ เครื่องช่วยหายใจ แต่สายพันธุ์ “เดลต้า” (อินเดีย) ใช้เวลา 3-5 วัน นำมาสู่ความวิกฤติเรื่องเตียงไม่เพียงพอ โดยเฉพาะเตียงผู้ป่วยหนัก ICU ซึ่ง “ตึง” มากและส่งผลกระทบต่อระบบสาธารณสุขในภาพรวม
3. จำนวนผู้ติดเชื้ออาจพุ่งถึงระดับหมื่นคนต่อวัน ถ้าดูจากตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวัน จะพบว่า มีแนวโน้มพุ่งสูง ทำนิวไฮต่อเนื่อง โดยผู้ติดเชื้อ ณ วันที่ 7 ก.ค.64 สูงถึง 6,519 ราย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ในแง่ของการระบาด ระหว่างการแถลงข่าวสถานการณ์ประจำวันที่ 7 ก.ค. ได้เปิดเผยตัวเลขคาดการณ์การระบาดในวันที่ไทยกำลังรับมือกับโควิด "สายพันธุ์เดลต้า" ว่า จะมีการเพิ่มจำนวนผู้ติดเชื้อ 2 เท่า ภายใน 2 สัปดาห์ และมีโอกาสขึ้นไปถึง 10,000 รายต่อวันในสัปดาห์หน้า
4. ติดเชื้อในสำนักงานมากขึ้น ปัจจุบัน แหล่งสำคัญของการติดเชื้อที่ต้องจับตา คือ พบว่า มีการติดเชื้อจากที่ทำงานหรือองค์กรมากถึง 40%
5. ปริมาณเตียงมีไม่เพียงพอ โดยเฉพาะสำหรับผู้ป่วยอาการหนัก ความร้ายของสายพันธุ์เดลต้า คือ นอกจากจะแพร่เชื้อง่ายแล้ว ยังเสี่ยงที่จะ “อาการหนัก” มากกว่าโควิดสายพันธุ์อื่นๆ ด้วย โดยปัจจุบัน (7 ก.ค.) มีผู้ป่วยอาการหนักทั้งสิ้น 2,496 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 676 ราย
ซึ่ง พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค. เผยว่า ในจำนวนผู้ป่วยอาการหนัก 10 ราย เกือบครึ่งหนึ่งหรือราว 4-5 รายจำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ และในจำนวนที่ใช้เครื่องช่วยหายใจทุก 10 ราย จะมีรายงานผู้เสียชีวิต 1-2 คน
และเมื่อมาดูที่สถานการณ์ของ “ผู้ป่วยสีแดง” รอเตียง ใน กทม.มีมากถึงราว 40-50 รายต่อวัน สีเหลือง 200-300 รายต่อวัน โดยตัวเลขสะสม 2 สัปดาห์ พบว่า แต่ละวันมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ทั้งระดับ เขียว เหลือง แดง เข้ามาสูงขึ้นหลักพัน ขณะที่ การส่งผู้ป่วยเข้ารับการรักษา โดยเจ้าภาพหลัก คือ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน ศูนย์เอราวัณ ก็มีศักยภาพในการขนผู้ป่วยที่ประมาณ 500 เที่ยวต่อวันเท่านั้น
6. เชื้อถูกส่งออกจากคนกทม. ปัญหาเตียงไม่เพียงพอ ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ ที่ทำให้ผู้ป่วยตัดสินใจเดินทางออกต่างจังหวัดเพื่อไปรักษาตัวในโรงพยาบาลที่ยังพอมีศักยภาพรองรับได้ นอกจากนี้ แม้จะมีคำสั่งให้งดเดินทางออกนอกพื้นที่จังหวัดควบคุมสูงสุดและเข้มงวด แต่เนื่องจากไม่ได้ห้ามเด็ดขาด จึงเกิดการเคลื่อนย้ายของประชากร ที่อาจเสี่ยงต่อการนำเชื้อไปแพร่ต่อได้
ทั้ง 6 ข้อข้างต้น คือ ปัจจัยสำคัญที่ ศบค. จะนำมาประเมินการล็อกดาวน์ โดยคาดว่าจะมีการประชุมในวันที่ 12 ก.ค.64
- ล็อกดาวน์ทั้งประเทศ Vs ล็อกดาวน์เฉพาะจุด
เมื่อมาถึงคำถามสำคัญว่า แล้าถ้ามีการล็อกดาวน์จริง จะล็อกแบบไหน เข้มข้นเท่าไร และใครกระทบบ้าง?
ในเรื่องนี้ พล.อ.ณัฐพล เผยว่า อาจจะไม่เหมือนกัน แต่จะเน้นความเข้มข้นในพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาด กทม. ปริมณฑล 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนพื้นที่อื่นก็ต้องมีมาตรการเสริมด้วย
"หากล็อกดาวน์ เซมิล็อกดาวน์ หรืออะไรก็ตาม ถ้าทำเฉพาะ กทม.ปริมณฑล แต่พื้นที่อื่นไม่ทำ ก็ไม่สอดคล้องกัน ก็ต้องลดหลั่นกันไปตามลำดับ"
เมื่อตอบมาเช่นนี้ “กรุงเทพธุรกิจออนไลน์” จึงชวนย้อนกลับไปดูการ ล็อกดาวน์ 100% เมื่อครั้งเดือนเมษายน 2563 ว่า มีความเข้มข้นแค่ไหน
คำสั่งระดับประเทศ
สำหรับรายละเอียด การ "ล็อกดาวน์" ช่วงเดือนเมษายน 2563 ตามที่ พล.อ.ณัฐพล เอ่ยถึงนั้น เป็นไปตามข้อกำหนดและข้อปฏิบัติตาม พ.ร.ก ฉุกเฉิน ฉบับ 1 ที่ประกาศเมื่อ 25 มี.ค.63 ดังนี้
- ห้ามออกนอกเคหสถาน ระหว่าง 4 ทุ่ม - ตี 4 (เริ่ม 3 เม.ย.63)
- ปิดสถานที่เสี่ยง อาทิ ผับ สถานบริการ สนามมวย สนามกีฬา สถานประกอบการ อาบ อบ นวด และนวดแผนโบราณ สปา ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑลได้แก่ จังหวัดนนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม สมุทรปราการ และสมุทรสาคร (สถานที่อื่นให้พิจารณาโดยสั่งปิดเฉพาะส่วน หรือทั้งหมด ตามความจําเป็นและเหมาะสม)
- ปิดช่องทางเข้าประเทศ
- ห้ามกักตุนสินค้า (ยา เวชภัณฑ์ อาหาร น้ําดื่มฯลฯ)
- ห้ามชุมนุม
- ห้ามเสนอข่าว ไม่จริง บิดเบือน หรือทําให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว
- งด/ชะลอการเดินทางข้ามจังหวัด
คำสั่งของ กทม. (ตลอดเดือน เม.ย.63)
- ร้านอาหาร งดนั่งทาน
- ปิดห้างสรรพสินค้า ยกเว้นซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านยาฯลฯ
- ปิดตลาด/ตลาดนัด (เปิดเฉพาะจำหน่ายอาหาร สินค้าจำเป็น)
- ปิดสถานที่เสี่ยง อาทิ ร้านเสริมสวย ร้านสัก สวนสนุก ร้านเกม สระว่ายน้ำ สถานที่ออกกำลังกาย ศูนย์แสดงสินค้า ฯลฯ
ทั้งนี้ พล.อ.ณัฐพล เผยว่า ผลจาก “คำสั่งปิด” ตามมาตรการล็อกดาวน์เต็มรูปแบบเมื่อเดือน เม.ย.63 ส่งผลให้รัฐบาลต้องเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบเกือบ 3 แสนล้านบาท ซึ่งแม้จะใช้เงินมากขนาดนั้น ก็ยังไม่ทั่วถึง
“ศบค.คำนึงถึงผลกระทบต่อประชาชน ก็คือการให้ประชาชนบางส่วนยังทำมาหากินได้ โดยไม่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาด ฉะนั้นเราต้องวิเคราะห์หาปัจจัย ต้นเหตุจริงๆ ว่าคืออะไร ถ้าสาธารณสุขระบุว่าต้นเหตุจริงๆ คือทั้งหมด ก็อาจจำเป็นต้องล็อกดาวน์ ก็ต้องรอฟังข้อเสนอเป็นทางการอีกที” ผอ.ศปก.ศบค.ระบุ