“แนวร่วม 157” ฟ้อง “บิ๊กตู่” ผันวิกฤติ “รัฐบาล” เป็นโอกาส “ฝ่ายแค้น”

“แนวร่วม 157” ฟ้อง “บิ๊กตู่”  ผันวิกฤติ “รัฐบาล” เป็นโอกาส “ฝ่ายแค้น”

คำทำนาย และคาดการณ์ "ยุบสภา" จะเกิดขึ้นอีก 6 เดือนข้างหน้า เหมือนเป็นสัญญาณให้ "พรรคการเมือง" ต้องเตรียมพร้อม โกย-แย่ง-แบ่งคะแนนนิยม "แคมเปญ ฟ้องรัฐบาล" จึงเป็นความเคลื่อนไหวหนึ่ง เพื่อนำไปสู่จุดนั้น

       แคมเปญฟ้อง รัฐบาล ผ่านตัวผู้นำอย่าง “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เพราะบริหารสถานการณ์ โควิด-19 ผิดพลาด แถมไม่เคร่งครัดต่อการยึดถือหลักปฏิบัติที่รัฐธรรมนูญหลายมาตรากำหนด โดยเฉพาะกลุ่มมาตราว่าด้วย “หน้าที่ของรัฐ” ถูกคิกออฟแล้ว โดย พรรคไทยสร้างไทย ของ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์

       โดยแกนนำพรรคไทยสร้างไทยประกาศรวบรวมข้อมูล และคัดเลือกตัวแทนประชาชนจากจำนวน 6.5 แสนรายชื่อในแคมเปญ #ฟ้องรัฐบาลฆาตกร ยกร่างคำฟ้อง โดยมี “นรินทร์พงศ์ จินาภักดิ์" นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย รับอาสาเป็นทนายฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์ ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ

162630282416

       และที่กำลังทำกันอยู่ คือ “พรรคเสรีรวมไทย” ของ “ตู่ใหญ่” พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ที่เชิญชวนคนที่ควักเงินจ่ายค่าบริการทางการสาธารณสุข เพราะ ไวรัสโควิด-19 ทั้ง การสวอปหาเชื้อ การสั่งจองวัคซีน รวมถึงค่าใช้จ่ายที่ต้องดูแลตัวเองให้ปลอดภัยจากการระบาดของโควิด-19 เช่น ซื้อหน้ากากอนามัย เจลล้างมือ ให้นำใบเสร็จ ไปแจ้งความที่สถานีตำรวจในพื้นที่พักอาศัย

       รวมถึง “ผู้ประกอบการร้านอาหาร-โรงแรม” ที่เดือดร้อนและถูกผลกระทบจากมาตรการของรัฐบาล แจ้งความดำเนินคดี

       โดยชี้ช่องขอกฎหมายที่ประชาชนมีสิทธิ์ คือ “ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157” เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ อย่างน้อย 2 มาตรา คือ

       “มาตรา 47” ว่า ด้วยสิทธิของประชาชนที่ต้องได้รับการบริการสาธารณสุขของรัฐ รวมถึงการป้องกัน ขจัดโรคติดต่ออันตรายจากรัฐโดย “ไม่เสียค่าใช้จ่าย” และ “มาตรา 55” ว่าด้วยหน้าที่ของรัฐ ต้องจัดบริการสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพและทั่วถึง

       กรณีของ “เสรีรวมไทย” นั้นนำร่องไปแล้ว ผ่าน “ผู้ช่วย ส.ส.” แต่สำหรับ “ส.ส.” นั้นยังรอความสมัครใจ เพราะแคมเปญของ “เสรีพิศุทธิ์” ไม่ใช่นโยบายพรรค และไม่ได้บังคับให้ “ส.ส.หรือ สมาชิกพรรค” ต้องทำ

162630314922

       กับท่าทีและความเคลื่อนไหวของ “กลุ่มคนขั้วตรงข้าม - พล.อ.ประยุทธ์” ต่อการฟ้องร้องเพื่อเอาผิด ตามกฎหมาย โดยเฉพาะ “คนเสรีรวมไทย” ในเชิงข้อเท็จจริงอาจไม่ได้หวังผล ให้ “คดี” ไปสู่การลงโทษ รับผิด แบบปัจจุบันทันด่วน

       เพราะเป็นเหมือนกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์อีกด้าน ที่สะท้อนให้เห็นว่า “คนไม่เอาประยุทธ์” มีมากแค่ไหน โดยผสมโรงกับความเดือดร้อนของประชาชน ในช่วงวิกฤตโควิด-19 และหาก มีผู้ที่ยื่นเอาผิด พล.อ.ประยุทธ์จริง นั่นจะสะท้อนให้เห็นว่า โอกาสของเสรีรวมไทยต่อการสร้างชื่อทางการเมืองและความนิยมในสนามเลือกตั้ง มีมากน้อยแค่ไหน

       เช่นเดียวกับ “พรรคไทยสร้างไทย” ที่หวังใช้แคมเปญ ฟ้องรัฐบาลฆาตกร สร้างฐาน ขยายการรับรู้ และชิงความนิยมทางการเมือง จาก “พรรคการเมือง” ที่เคยเป็นกลุ่มขั้วเดียวกัน

       ย้อนดูเรื่องในอดีต ต่อการยื่นเอาผิด ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ฐานะ “ผู้นำ” ต่อการบริหารงานที่ผิดพลาด ไม่ควบคุมหรือกำกับดูแลให้ การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ มีเพียงเคสเดียวที่ถูกตัดสินความผิด คือ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี ในคดีจำนำข้าว

       ส่วนนักการเมือง คนอื่นๆ ที่ถูกตัดสินใน มาตรา 157 ทั้ง “ทักษิณ ชินวัตร” คดี ที่ดินรัชดา- "ประชา มาลีนนท์" ในคดีทุจริตรถดับเพลง - "วัฒนา อัศวเหม" คดีคลองด่าน จะความผิดที่เป็นพฤติกรรมที่แจ่มชัด เรื่อง "โกง - ทุจริต - เอื้อประโยชน์” จนสร้างความเสียหายให้แก่รัฐ

       เมื่อพิจารณา ถึงเจตนารมณ์ของ ประมวลกฎหมายมาตรา 157 นั้น คือ "เป็นกฎหมายเพื่อควบคุมผู้ใช้อำนาจ ไม่ให้ใช้อำนาจเพื่อส่วนตัว หรือ ตามอำเภอใจ จนก่อให้เกิดความเสียหาย แก่รัฐ ผู้ปกครอง และประชาชนที่อยู่ภายใต้ปกครอง ขณะเดียวกัน คือ การคุ้มครองประชาชนที่ได้รับความเสียหายจากการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ”

       ดังนั้น การยื่นฟ้อง “พล.อ.ประยุทธ์” เรื่องแก้โควิด-19 ที่ล้มเหลว และไม่ดูแลประชาชนให้ได้รับบริการฟรี แท้จริงอาจเป็นแค่เกมวัดพลังทางการเมืองเท่านั้น.

162630319021