ส่อง 6 ข้อต้องรู้ ‘แลมบ์ดา’ โควิดสายพันธุ์ใหม่ รุนแรงกว่า ‘เดลตา’ จริงหรือไม่?
"แลมบ์ดา" โควิดสายพันธุ์ใหม่ที่กำลังถูกพูดถึงในแง่ของความรุนแรงที่มากกว่า "เดลตา" ต้นตอมาจากไหน อาการรุนแรงอย่างไร วัคซีน mRNA เอาอยู่หมัดหรือไม่?
เมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ไวรัสโควิด-19กลายพันธุ์ สายพันธุ์น้องใหม่ล่าสุดอย่าง “แลมบ์ดา” (Lambda) ก็ได้เป็นที่ถูกพูดถึงกันอย่างหนาหู โดยเฉพาะเรื่องความอันตรายที่รุนแรงมากกว่า สายพันธุ์ “เดลตา” (Delta)
“กรุงเทพธุรกิจออนไลน์” พาไปดู “แลมบ์ดา โควิดสายพันธุ์ใหม่นี้มาต้นตอมาจากไหน ระดับความรุนแรงของอาการเป็นอย่างไร แล้ววัคซีน mRNA เอาอยู่หรือไม่?”
- 1. โควิดสายพันธุ์ “แลมบ์ดา” พบครั้งแรกที่ไหน?
โควิดสายพันธุ์ แลมบ์ดา “พบครั้งแรกที่ประเทศเปรู” เดือนสิงหาคม ปี 2563 โดยประเทศเปรูเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราประชากรเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 มากที่สุด กว่า 194,000 รายและมีผู้ติดเชื้อสะสมกว่า 2 ล้านราย
- 2. “แลมบ์ดา” จัดเป็นไวรัสกลายพันธุ์ประเภทอะไร?
โดยมีชื่อรหัสไวรัสทางวิทยาศาสตร์เป็น “C.37” และองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ชี้แจงอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2564 ว่า ได้มีการจัดให้โควิดสายพันธุ์ “แลมบ์ดา” เป็น “สายพันธุ์ที่อยู่ในประเภทต้องให้ความสนใจ” (Variant of Interest; VOI)
ต่างจากสายพันธุ์ “เดลตา”ที่จัดอยู่ในประเภท “ไวรัสกลายพันธุ์ที่น่าเป็นห่วง” (Variant of Concern; VOC)
- 3. “แลมบ์ดา” ระบาดในประเทศไหนแล้วบ้าง?
โควิดสายพันธุ์ แลมบ์ดา ณ ปัจจุบันมีการระบาดเกือบ 30 ประเทศ โดยพบในยุโรป 11 ประเทศ พบในแถบอเมริกาใต้ 10 ประเทศ โซนเอเชีย 2 ประเทศ ซึ่งคือ อิสราเอล และตุรกี
- 4. “แลมบ์ดา” อาการรุนแรงกว่า “เดลตา” จริงแท้แค่ไหน?
โควิดสายพันธุ์ “เดลตา” มีลักษณะการกลายพันธุ์ที่ที่ทั่วโลกกังวล ดังนี้ 1.ไวรัสกระจายตัวได้ไวขึ้น ทำให้สูญเสียการรับรู้กลิ่น 2.ทำให้โปรตีนหนามแข็งแกร่งขึ้นและระบบภูมิคุ้มกันลดลง และ 3. ทำให้ติดเชื้อในระดับเซลล์
ส่วนโควิดสายพันธุ์ “แลมบ์ดา” มีลักษณะการกลายพันธุ์แบบใหม่ที่ยังไม่ค่อยมีการพบเห็น แต่สายพันธุ์นี้ “สามารถแพร่กระจายเชื้อไวรัสได้เร็ว” เทียบเท่ากับ “เดลตา” และมีการแพร่เชื้อได้มากกว่า “อัลฟา” และ “แกมมา”
องค์การทางการแพทย์ในชิลีได้มีการศึกษาตัวอย่างของสายพันธุ์แลมบ์ดา แต่ยังไม่ได้ทำการตรวจสอบอย่างเป็นทางการ ณ “ตอนนี้ยังไม่อาจทราบได้ว่า สายพันธุ์แลมบ์ดา อันตรายกว่า เดลตา แค่ไหน”
- 5. วัคซีน mRNA รับมือ “แลมบ์ดา” อยู่หมัดหรือไม่?
มีการวิจัยที่ยังไม่ได้ทำการตรวจสอบของชิลีเปิดเผยว่า “วัคซีนประเภท mRNA” เช่น ไฟเซอร์ (Pfizer) หรือโมเดอร์นา (Moderna) สามารถช่วยกระตุ้นการตอบสนองภูมิคุ้มกันได้ดี แต่ในแง่ของประสิทธิภาพจะยังสูงคงเดิมหรือลดลงหรือไม่ ยังไม่มีตัวเลขระบุออกมาอย่างเป็นที่ชัดเจน
แต่ในการใช้วัคซีนประเภทนี้เพื่อป้องกันโควิดสายพันธุ์เดลตา จากการศึกษาหลายประเทศ พบว่ามีประสิทธิภาพในการป้องกันอยู่ที่ 64-88%
- 6. “แลมบ์ดา” มีการระบาดในไทยแล้วหรือยัง?
อัพเดท ณ วันที่ 16 กรกฎาคม 2564 จากการตรวจสอบพบว่า ยังไม่มีการปรากฎคนไทยหรือคนที่เดินทางเข้าประเทศไทยแล้วนำเชื้อไวรัสโควิดกลายพันธุ์ สายพันธุ์แลมบ์ดา เข้ามาแพร่กระจายในประเทศ
อ้างอิง: bioRxiv, Financial Times, medRxiv, Science Focus