กลยุทธ์การลงทุนรายสัปดาห์ (19 ก.ค.64)

กลยุทธ์การลงทุนรายสัปดาห์ (19 ก.ค.64)

19-23 กรกฎาคม: ยังคงเน้นหุ้นที่ปลอดภัยจากวิกฤตโควิด

ความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นจากการใช้มาตรการ lockdown คุม COVID-19 จะยังกดดันตลาดต่อไป

ในสัปดาห์ที่แล้ว (12-16 กรกฎาคม) ตลาดหุ้นไทยแกว่งตัวอยู่ในช่วงแคบตามที่เราระบุเอาไว้ในบทวิเคราะห์รายสัปดาห์ โดย ศบค. ได้กลับมาใช้มาตรการ ‘กึ่ง lockdown’ ในกรุงเทพ และจังหวัดที่มียอดผู้ติดเชื้อสูงตั้งแต่วันที่ 12 กรกฎาคม ซึ่งดูเหมือนราคาหุ้นในตลาดจะปรับตัวรอมาตรการนี้ไปแล้วสองสามวันก่อนที่การประกาศมาตรการ ในขณะเดียวกัน ปัจจัยมหภาคของเศรษฐกิจโลกก็พลิกมาเป็นบวกมากขึ้นกับสินทรัพย์เสี่ยง โดยนาย Powell ประธาน Fed ได้กล่าวกล่าวถ้อยแถลงแสดงความเห็นเรื่องทิศทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ รอบครึ่งปีต่อสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ ว่าเศรษฐกิจสหรัฐยังไม่ถึงขีดที่จะทำให้ต้องมีการปรับท่าทีนโยบายการเงินในปัจจุบัน ในขณะเดียวกัน สถานการณ์ COVID-19 ในประเทศไทยในสัปดาห์ที่แล้วยิ่งรุนแรงมากขึ้น โดยยอดผู้ติดเชื้อใหม่รายวันทะลุ 10,000 รายตั้งแต่ช่วงสุดสัปดาห์ และทำให้ในวันที่ 18 กรกฎาคม ศบค. ออกมาประกาศเพิ่มความเข้มข้นของมาตรการ โดยเพิ่มจำนวนจังหวัดที่บังคับใช้ curfew เป็น 13 จังหวัด และคุมเข้มการเดินทางข้ามจังหวัด เราคาดว่าจะมีการใช้มาตรการ lockdown ที่เข้มข้นนี้ยาวไปจนถึงต้นเดือนสิงหาคม

สำหรับในสัปดาห์นี้ (19-23 กรกฎาคม) เราคาดว่าดัชนี SET จะขยับลงแบบ sideways down แต่เรายังเชื่อว่า downside จำกัดอยู่ที่ประมาณ 1,550 จุด โดยเรามองว่าการใช้มาตรการคุมเข้มในกรุงเทพรอบล่าสุดไม่ได้ต่างจากที่นักลงทุนรับรู้ไปแล้วในสัปดาห์ก่อนมากนัก แต่มีความเป็นไปได้ที่สถานการณ์การระบาดที่รุนแรงจะทำให้กิจกรรมทางธุรกิจชะลอตัวลงไปอีกในระยะสั้น นักเศรษฐศาสตร์ของเราใช้ baseline ของประมาณการ GDP ปี 2564 ที่ 2.7% ซึ่งสะท้อนการใช้มาตรการคุมเข้มรอบล่าสุดรวมถึงมาตรการกระตุ้นการบริโภคที่ผ่านการอนุมัติของคณะรัฐมนตรีไปเรียบร้อยแล้ว

ในอีกด้านหนึ่ง ยังมีปัจจัยบวกสองสามเรื่องเกี่ยวกับการจัดหาและกระจายวัคซีน ได้แก่ การเจรจากับ AstraZeneca อีกรอบเพื่อให้ได้วัคซีนเพิ่มขึ้น และความคืบหน้าในการลงทะเบียนขอรับวัคซีน Sinopharm ซึ่งเมื่อพิจารณาปัจจัยทั้งหมดแล้ว เรามองว่าปัจจัยภายในเป็นลบสุทธิกับตลาดเล็กน้อย สำหรับปัจจัยภายนอก ความกังวลของตลาดว่าโมเมนตั้มเศรษฐกิจสหรัฐอาจจะชะลอลงใน 3Q64 และความเชื่องช้าของสภา Congress ในการออกกฎหมายให้การสนับสนุนมาตรการกระตุ้นมูลค่า 5.79 แสนล้านดอลลาร์ฯ อาจจะเป็นปัจจัยที่จำกัด upside ในระยะสั้นของตลาดสหรัฐ

นอกจากประเด็น COVID-19 แล้ว นักลงทุนยังต้องจับตาการตัดสินนโยบายของ ECB และข้อมูลการส่งออกนำเข้าของไทยในเดือนมิถุนายนด้วย

(0) การตัดสินนโยบายของ ECB ในการประชุมวันที่ 22 กรกฎาคม เนื่องจากยอดผู้ติดเชื้อ COVID-19 ในยุโรปกลับมาพุ่งสูงขึ้นอีกครั้ง และเมื่อไม่นานมานี้ ECB ได้ส่งสัญญาณว่าอาจจะยอมทนให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น ดังนั้น นักลงทุนส่วนใหญ่จึงคาดว่า ECB จะยังคงรักษาระดับการซื้อสินทรัพย์ผ่าน PEPP เอาไว้เท่าเดิมต่อไป ทั้งนี้ ท่าทีของ ECB ประกอบกับความคาดหวังของตลาดว่า Fed จะยังคงไม่ปรับนโยบายการเงินไปอีกระยะหนึ่ง หมายความว่าสภาพคล่องทั่วโลกจะยังคงเอื้อต่อตลาดทุน

(0) ข้อมูลการส่งออกนำเข้าเดือนมิถุนายนของไทยที่จะเผยแพร่ในวันที่ 23 กรกฎาคม เราคาดว่าการฟื้นตัวของอุปสงค์ในตลาดโลก และเงินบาทที่อ่อนค่าลงจะทำให้ตัวเลขการส่งออกเดือนมิถุนายนของไทยแข็งแกร่งมาก YoY เราคาดว่าการส่งออกที่ฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยบรรเทาผลกระทบด้านลบจาก COVID-19 ต่อ GDP ของไทย

หุ้นส่งออก, หุ้นที่ได้อานิสงส์จาก COVID-19 และหุ้นที่มีแนวโน้มกำไรดีใน 2Q64 น่าจะ outperform เนื่องจากเรามองว่าตลาดจะขยับลงแบบ sideways down และจะยังคงถูกกดดันจากสถานการณ์ COVID-19 เราจึงยังคงแนะนำให้เน้นหุ้นส่งออก, หุ้นที่ได้อานิสงส์จาก COVID-19 และหุ้นที่มีแนวโน้มว่าผลประกอบการ 2Q64 จะออกมาน่าประทับใจ โดยเรามองว่าหุ้นที่น่าสนใจในธีมเหล่านี้ ได้แก่ KCE*, HANA*, TU*, EPG*, SCGP*, BCH*, BEC* และ SAT