'ส.ส.ชาติพันธุ์' วอน 'รัฐ' คุ้มครอง 'กลุ่มชาติพันธุ์แก่งกระจาน'

'ส.ส.ชาติพันธุ์' วอน 'รัฐ' คุ้มครอง 'กลุ่มชาติพันธุ์แก่งกระจาน'

ส.ส.ก้าวไกล ขอรัฐบาล คุ้มครองชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ป่าแก่งกระจาน หลังถูกขึ้นมรดกโลก ระบุ ห่วงปมละเมิดสิทธิมนุษยชน

       นายณัฐพล สืบศักดิ์วงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ฐานะ ประธานคณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) เพื่อพิจารณาศึกษาด้านผู้สูงอายุ ผู้พิการ และกลุ่มชาติพันธุ์ ใน  กมธ. กิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ สภาฯ แถลงที่รัฐสภากรณีองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ขึ้นทะเบียนผืนป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลก ว่า ตนขอให้รัฐบาลให้ความคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่ในพื้นที่แก่งกระจาน ตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 70 กำหนดไว้ ซึ่งกรณีที่แก่งกระจานได้รับการขึ้นทะเบียนนั้น ควรใช้คำว่ามรดกโลก เพื่อการพัฒนากลุ่มชาติพันธุ์อย่างยั่งยืน ไม่ใช่กดเอาไว้ อย่างไรก็ดีกลุ่มชาติพันธุ์กังวลใจต่อประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน  และในการประชุมคณะกรรมการยูเนสโก 21 ชาติ และประเทศไทยได้เป็นกรรมการพิจารณา พบว่า ประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ตัวแทน และผู้เชี่ยวชาญเรื่องสิทธิมนุษยชน ขององค์การสหประชาชาติ ให้ข้อเสนอแนะว่าควรชะลอการขึ้นทะเบียนผืนป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลก เนื่องจากในพื้นที่ยังมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบางกลอย ที่ปัจจุบันไม่สามารถแก้ปัญหาได้ แต่ ประเทศใหญ่ที่เคยให้ข้อสังเกตเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนบางประเทศ ไม่ได้พูดถึงประเด็นดังกล่าว

 

        "เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม  คณะอนุกมธ.ฯ ได้หารือร่วมกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยกสม.มีข้อสังเกต เสนอแนะรัฐบาลให้ชะลอการเสนอการขึ้นทะเบียนมรดกโลก แต่รัฐบาลโดย นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยังนำเสนอจนท้ายที่สุดเป็นที่มาในการรับรองป่าแก่งกระจายเป็นมรดกโลก และข้อสังเกตในรายงานของกมธ.กิจการเด็กฯ ได้มีรายงานนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี  วันที่ 7 กรกฏาคม  ซึ่งครม. ได้พิจารณาและตอบรับมา หนึ่งในนั้นให้ชะลอ และยุติการดำเนินคดีกับประชาชนในพื้นที่ที่ยังมีปัญหากว่า 80 คน จึงกังวลว่าเมื่อประกาศให้เป็นมรดกโลก รัฐไทยจะดูแล และเยียวยา เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่อย่างไร" นายณัฐพล กล่าว

       ทางด้าน นายสุรพงษ์ กองจันทึก เลขานุการ อนุกมธ.ฯ แถลงให้ข้อสังเกตว่า แก่งกระจานถือเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพค่อนข้างสูง นอกจากพืช และสัตว์ ยังมีมนุษย์อาศัยที่นี่นับพันปี  ทั้งนี้คณะกรรมการมรดกโลกให้ข้อสังเกตกับไทยมา 3 ข้อ คือ 1.ต้องสร้างความเข้าใจร่วมกันเกี่ยวกับการปรับปรุงพื้นที่รอบขอบเขตมรดกโลก 2.ต้องรับประกันว่าจะจะมีการคุ้มครองการบริหารจัดการพื้นที่อย่างเต็มที่ และ 3.ต้องรับประกันว่าจะมีการปรึกษาหารือร่วมกับชุมชนท้องถิ่น และสนับสุนนการมีส่วนร่วมในท้องถิ่น ซึ่งรัฐต้องทำให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 1 ธันวาคม 64 ในส่วนนี้เรากังวลว่าชาวบ้านอยู่มานานแล้ว แต่การดูแลยังไม่ดีนัก โดยหลายประเทศตั้งข้อสังเกตถึงการไม่ดูแลเรื่องการละมิดสิทธิมนุษยชน แม้ในปึ 2532 ทุ่งใหญ่นเรศวร - ห้วยขาแข้ง ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก รัฐให้กะเหรี่ยงในพื้นที่อยู่ได้ตามวิถีชีวิตของเขา โดยอยู่กันอย่างสงบสุข ตนอยากให้เกิดภาพนี้ขึ้นมาอีกครั้งกับผืนป่าแก่งกระจาน โดยจะต้องให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมจริงๆในการบริหารจัดการ

         "ผมขอเสนอไปยังรัฐบาล 1.รัฐต้องยอมรับการมีตัวตน และการมีอยู่ของชุมชนกะเหรี่ยงในเขตมรดกโลกแก่งกระจาน ในฐานะชุมชุนท้องถิ่นดั้งเดิม 2.ต้องให้ความคุ้มครอง พัฒนาคุณภาพชีวิตชาวกะเหรี่ยงให้ดำรงชีวิตตามวิถีวัฒนธรรม ตามมติครม. เมื่อวันที่ 3 ส.ค.2553 3.รัฐต้องยุติการจับกุมดำเนินคดีชาวกะเหรียงดั้งเดิม 28 คน ที่เป็นชนเผ่าพื้นเมืองเดิมในพื้นที่มรดกโลก ตลอดจนสนับสนุนให้คนเหล่านี้มีส่วนร่วมในการจัดการพื้นที่ และ 4.รัฐต้องเร่งรัดเสนอร่างพระราชบัญญัติ ส่งเสริมคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ ที่อยู่ระหว่างการยกร่างให้เข้าสู่การพิจารณาของสภาโดยเร็ว หวังว่ารัฐจะให้ความสนใจเรื่องนี้อย่างจริงจัง" นายสุรพงษ์ กล่าว.