SCGP เผยยังมีการเจรจาดีลซื้อกิจการต่อเนื่อง หนุนสร้างฐานการเติบโตระยะยาว
"เอสซีจีพี" ทุ่ม 5 พันล้านซื้อหุ้น ”ธุรกิจกล่องลูกฟูกอินโด -อุปกรณ์การแพทย์สเปน" ในไตรมาส 3 ปีนี้ แย้มยังมีดีลควบรวมกิจการเจรจาต่อเนื่องแม้โควิดระบาด พร้อมเดินหน้าขยายกำลังการผลิตตามแผน ยันฐานะการเงินแกร่ง คงเป้ารายได้ปีนี้ไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้าน
นายวิชาญ จิตร์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP เปิดเผยว่า ในช่วงครึ่งหลังปีนี้ บริษัทยังคงเดินหน้าเจรจาเข้าซื้อหุ้น (Mergerand Partnership: M&P)ในต่างประเทศอีก 2 ดีล โดยจะเข้าถือหุ้น 75%
ในบริษัท Intan Group ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์กล่องลูกฟูกในประเทศอินโดนีเซีย และการเข้าถือหุ้น 85 ในบริษัท Deltalab, S.L ซึ่งประกอบธุรกิจวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์จดทะเบียนในสเปน คาดว่าจะปิดดีลสำเร็จในไตรมาส 3 ของปี 2564 และจะมาช่วยหนุนให้ผลประกอบการของบริษัทในช่วงครึ่งปีหลังปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น
สำหรับในครึ่งแรกปี2564 บริษัทดำเนินการปิดดีลไปแล้ว 3 ดีล คือ การเข้าถือหุ้น 70% ในบริษัท Duy TanPlastics ManufacturingCorporation ผู้ผลิตสินค้าบรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบคงรูปในเวียดนาม ,การเข้าถือหุ้น 100% ในบริษัท Go–Pak ผู้นำการให้บริการโซลูชันด้านบรรจุภัณฑ์อาหารแถบสหราชอาณาจักรยุโรป และการถือซื้อหุ้น 94% ใน SOVI ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ใน. เวียดนาม
ดังนั้น จากแผนการเข้าซื้อกิจการทั้ง 5 บริษัทดังกล่าว คาดว่า จะช่วยสร้างรายได้ให้กับบริษัทราว 18,000 ล้านบาทต่อปี แบ่งเป็นรายได้จาก 3 บริษัท ได้แก่ Duy Tan, SOVI และ Go-Pak ราว 12,000 ล้านบาทต่อปี และ 2 บริษัท Deltalab กับIntan ราว 6,000 ล้านาบาท ต่อปี ซึ่งจะเริ่มเข้ามาในช่วงครึ่งปีหลังปีนี้
ขณะเดียวกัน บริษัทยังมีการเจรจากับพันธมิตรทางธุรกิจM&P อย่างต่อเนื่องตลอดเวลา เชื่อว่า จะเป็นกลยุทธ์ที่สร้างฐานการเติบโตของบริษัทในระยะยาว แต่บริษัทจะพิจารณาการลงทุนอย่างระวัดระวัง ซึ่งยังไม่สามารถเปิดเผยได้ว่าจะมีอีกกี่ดีล แต่ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 รุนแรงขึ้น มองว่า ไม่กระทบกับการเจรจาการซื้อกิจการในต่างประเทศ เนื่องจากสถานการณ์ในสหรัฐและยุโรปเริ่มมีพัฒนาการที่ดีขึ้นสามารถเดินทางไปเจรจาทางธุรกิจได้และเมื่อเปิดภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ในไทย น่าจะทำให้การเดินทางเจรจาทางธุรกิจยังคงเดินหน้าต่อได้เช่นกัน
นอกจากนี้ ในกลยุทธ์ส่วนอื่นๆ เช่น โครงการขยายกำลังการผลิต ยังดำเนินการตามแผนที่วางไว้ต่อเนื่อง ได้แก่ การขยายกำลังการผลิตบรรจุภัณฑ์อาหารจากกระดาษเพิ่มขึ้นอีก 1,615 ล้านชิ้นต่อปี ที่ประเทศไทยและประเทศเวียดนาม คาดว่าจะเริ่มการผลิตเชิงพาณิชย์ได้ภายในไตรมาสที่ 3 ปีนี้ รวมถึงการขยายกำลัง การผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์ในฟิลิปปินส์อีก 220,000 ตันต่อปี และการขยายกำลังการผลิตบรรจุภัณฑ์พอลิเมอร์แบบอ่อนตัวในประเทศไทยอีก 53 ล้านตารางเมตรต่อปี ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จในไตรมาสที่ 4 ปีนี้
นายวิชาญ กล่าวว่า ภายใต้กลยุทธ์ดังกล่าว ทำให้บริษัทยังคงรักษาการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยวางเป้าหมายรายได้จากการขายรวมทั้งปีนี้ไม่ต่ำกว่า 100,000 ล้านบาท หรือเติบโตเป็นตัวเลขสองหลัก จากปี 2563 ที่มีรายได้รวม 93,388.33 ล้านบาท ขณะที่ในช่วงครึ่งปีแรก บริษัทสามารถทำรายได้รวมแล้วกว่า 57,148 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 24% จากช่วงเดียวกันปีก่อน
ในปีนี้บริษัทยังคงงบลงทุนไว้ที่ 20,000 ล้านบาท แบ่งเป็นการใช้ทำดีล M&P ในส่วนของ 3 บริษัทก่อนหน้านี้ ได้แก่ Duy Tan ,SOVI และGo-Pak ราว 11,000 ล้านบาท และใช้ปรับปรุงเครื่องจักรและขยายกำลังการผลิตราว 4,000 ล้านบาท ส่วนครึ่งหลังปีนี้ใช้สำหรับดีล M&P Deltalab กับIntan ราว 5,000 ล้านบาทและกำไร หลังจากครึ่งปีแรกใช้งบลงทุนไปแล้วราว 6,300ล้านบาท
ขณะที่ฐานะการเงินบริษัทยังแข็งแกร่ง ด้วยกระแสเงินสดในปัจจุบันราว 30,000 ล้านบาท และด้วยหนี้สินต่อทุนที่อยู่ในระดับต่ำที่ 0.6 เท่า ทำให้ยังมีศักยภาพในการกู้เงินอีกมาก มีต้นทุนดอกเบี้ยเงินกู้เฉลี่ยที่ 2.5% รองรับการลงทุนในอนาคต หากบริษัทมีโครงการลงทุนที่ดีก็สามารถกู้เงินเพิ่มได้ หรือใช้จากกระแสเงินสดที่มีและการกู้เงินได้
"ทิศทางธุรกิจในช่วงครึ่งปีหลัง แม้สถานการณ์โควิด-19 ยังเป็นปัจจัยที่กระทบต่อภาวะเศรษฐกิจอยู่ แต่ธุรกิจบรรจุภัณฑ์ถือเป็นกลุ่มสำคัญต่อการบริโภค พบว่า ยอดขายในประเทศสหรัฐ เริ่มฟื้นตัวเกือบเท่ากับก่อนมีโควิด-19 แล้วและในยุโรป คาดจะฟื้นตัวตามมาได้เร็วๆนี้ อย่างไรก็ตามแนวโน้มผลการดำเนินงานช่วงไตรมาส 3 ปีนี้ อยู่ที่สภาพตลาด ยังต้องรอดูต่อไป แต่เชื่อมั่นว่ายังเติบโตได้ตามแผน"