เช็ค!เกณฑ์เด็กไทยกลุ่มแรกฉีด'วัคซีนไฟเซอร์'
"วัคซีนไฟเซอร์"ล็อตบริจาค 1.5 ล้านโดสจากประเทศสหรัฐอเมริกา จะมีเด็กไทยกลุ่มแรกที่จะได้รับการฉีดวัคซีนโควิด 19 ด้วย แต่อยู่ภายใต้เกณฑ์ที่กำหนด
สถิติเด็กไทยติดโควิด 19
จากข้อมูลกรมควบคุมโรคตั้งแต่ 1 เม.ย.-15 มิ.ย. 2564 รายงานผู้ป่วยเด็กอายุน้อยกว่า 18 ปีติดโรคโควิด19 สะสมจำนวน 13,608 ราย จากผู้ป่วยติดเชื้อทุกอายุ 173,401 ราย คิดเป็นผู้ติดเชื้อที่เป็นเด็ก 7.8 %ของผู้ติดเชื้อทุกกลุ่มอายุ มีผู้ป่วยเด็กเสียชีวิต 4 ราย คิดเป็นอัตราการเสียชีวิต 0.03 % ทั้งหมดเป็นผู้มีโรคประจำตัว
ข้อมูลจนถึง 13 ก.ค. 2564 พบผู้ป่วยเด็กเพิ่มขึ้นเป็น 33,020 ราย โดยมีอัตราส่วนของเด็กที่ติดเชื้อสูงขึ้นเป็น 13.2 % ของผู้ติดเชื้อทุกกลุ่มอายุ อย่างไรก็ตาม พบว่าผู้ป่วยเด็กส่วนใหญ่ติดเชื้อโดยไม่แสดงอาการหรือมีอาการเพียงเล็กน้อย
เด็กมีอาการเหมือนคาวาซากิ
ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ กุมารแพทย์โรคติดเชื้อ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ขณะนี้พ่อแม่มีความกังวลมาก เพราะมีการติดเชื้อในโรงเรียนหรือศูนย์เด็กเล็ก ซึ่งบางกรณีเด็กติดโดยที่พ่อแม่ไม่ติด หรือติดแล้วกลับมาที่บ้านแพร่เชื้อให้พ่อแม่ด้วย หรือพ่อแม่ติดแล้วแพร่ให้ลูกและพาไปติดที่โรงเรียน ซึ่งเวลาที่เด็กติดเชื้อจะดูแลค่อนข้างยาก โดยเฉพาะเมื่อเด็กติดแล้วแต่พ่อแม่ยังไม่ติด ต้องแยกเด็กไปนอนรพ.หรือฮอสพิเทล ถ้าเป็นเด็กเล็กจะไปไม่ได้ต้องมีพ่อแม่ไปด้วย แต่ข้อได้เปรียบของเด็ก คือโดยปกติเมื่อเด็กติดเชื้อ จะไม่ค่อยมีอาการรุนแรงไม่เหมือนผู้ใหญ่ติดเชื้อ และติดยากกว่าผู้ใหญ่
กรณีมาเจอโควิด19สายพันธุ์เดลตา จะเห็นว่ามีการติดเชื้อในเด็กมากขึ้นจริงๆ แต่ถึงแม้ว่าเด็กจะมีอาการไม่ค่อยมาก แต่จะมีกลุ่มอาการเหมือนโรคคาวาซากิ ซึ่งบางทีอาจจะรุนแรงได้ในเด็ก ไม่ได้เกิดทันทีที่ติด โดยส่วนใหญ่เกิดตามหลังการติดโควิด19ไม่เกิน 1 เดือน เพราะฉะนั้น ความปรารถนาที่จะให้เด็กได้รับการป้องกันสูงมากในกลุ่มพ่อแม่ แต่ปัญหาคือวัคซีนที่มีขณะนี้ มีเพียงยี่ห้อเดียวคือยี่ห้อไฟเซอร์ ซึ่งได้รับการรับรองในต่างประเทศที่ให้ใช้ในเด็กได้ตั้งแต่อายุ 12 ปีขึ้นไป คาดว่าในเร็วๆนี้วัคซีนโมเดอร์นาก็จะได้รับการรับรองให้ใช้ในเด็ก 12 ปีขึ้นไปเช่นกัน อีกวัคซีนซึ่งมีการศึกษาแล้วว่าใช้ในเด็กแล้วมีความปลอดภัย คือ ซิโนแวค ที่ฉีดได้ตั้งแต่อายุ 3ขวบขึ้นไป โดยใช้ปริมาณครึ่งโดสของผู้ใหญ่ แต่ยังไม่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการ มาเหมือนวัคซีนไฟเซอร์ที่มีการรับรองและใช้ในวงกว้างให้ฉีดในเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปได้
เกณฑ์เด็กกลุ่มแรกฉีดไฟเซอร์
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่า สำหรับวัคซีนไฟเซอร์ซึ่งได้รับบริจาคจากประเทศสหรัฐอเมริกาจำนวน 1.5 ล้านโดส จะใช้ฉีดให้ 4 กลุ่มเป้าหมาย ประกอบด้วย กลุ่มที่ 1 บุคลากรการแพทย์และสาธารณสุข ที่ดูแลผู้ป่วยโควิด19ทั่วประเทศ เป็นเข็มที่ 3 เพื่อกระตุ้นภูมิค้มกัน จำนวน 7 แสนโดส กลุ่มที่ 2 ฉีดในผู้สูงอายุ ผู้ที่มี 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง หญิงตั้งครรภ์ที่อายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ และเด็กอายุ12ปีขึ้นไปที่มี 7 กลุ่มโรค จำนวน 645,000 โดส
“เนื่องจากวัคซีนไฟเซอร์สามารถฉีดในเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปได้ด้วย เพราะฉะนั้นจะมีการฉีดให้กลับเด็กที่มีอายุ 12 ขึ้นไปและป่วยใน 7 กลุ่มโรคเรื้อรังจะได้รับวัคซีนนี้ด้วย ซึ่งจะมีการกระจายไปใน 13 จังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด คือ กรุงเทพฯ สมุทรปราการ ปทุมธานี นนทบุรี นครปฐม สมุทรสาคร ฉะเชิงเทรา ชลบุรี พระนครศรีอยุธยา สงขลา ปัตตานี ยะลาและนราธิวาส”นพ.โอภาสกล่าว
กลุ่มที่ 3 ชาวต่างชาติที่อาศัยในประเทศไทย โดยเป็น ผู้ที่มี 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง หญิงตั้งครรภ์ที่อายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ และคนไทยผู้ที่จะเดินทางไปต่างประเทศที่จำเป็นต้องฉีดวัคซีนไฟเซอร์ เช่น นักเรียน นักศึกษา เป็นต้น จำนวน 150,000 โดส และกลุ่มที่ 4 ทำการศึกษาวิจัย โดยการอนุมัติของคณะกรรมการวิจัยจริยธรรม เพื่อนำผลการวิจัยมาใช้ในการกำหนดนโยบายต่อไป จำนวน 5,000 โดส
ทำไมเด็กฉีดวัคซีนไฟเซอร์
ศ.พญ.กุลกัญญา กล่าวว่า การถอดบทเรียนในต่างประเทศที่มีการใช้ไฟเซอร์มานาน ยกตัวอย่างเช่น อเมริกาและยุโรป โดยอเมริกาออกคำแนะนำให้ฉีดเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป อิสราแอลก็เช่นกัน ส่วนยุโรปหลายประเทศชักเริ่มถอย บางประเทศบอกว่าให้ฉีดในเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปเฉพาะกลุ่มที่มีปัจจัยเสี่ยงค่อนข้างสูง เช่น มีโรคประจำตัว สาเหตุเพราะเรื่องเดียว คือ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ซึ่งมาพบว่าเมื่อฉีดไปแล้วในเข็มที่ 2 ในเด็ก ส่วนใหญ่เด็กผู้ชายเกิดขึ้นหลังฉีดเข็มที่ 2 พบโอกาสเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบได้ประมาณ 1 ใน 5 หมื่น ถึง 1 ในหลายๆแสน อัตราสูงสุดในช่วงอายุน้อยๆในเข็มที่2 คือ 1 ใน 5 หมื่น
เขาจึงมีความกังวลใจว่าเด็กเหล่านี้ มีโอกาสติดเชื้อได้แต่ไม่ค่อยรุนแรง แต่ขณะที่เป็นกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบส่วนใหญ่ก็ไม่รุนแรงเช่นกัน ส่วนใหญ่กินยาแก้อักเสบต่างๆก็หายแล้ว กลับบ้านได้ แต่มีบางรายต้องนอนไอซียู หลายแห่งจึงบอกว่า “คุ้มหรือไม่” จึงต้องชั่งน้ำหนัก ในหลายประเทศจึงให้ดูก่อนว่าคุ้ม ในประเทศอเมริกชั่งน้ำหนักแล้วแนะนำให้ฉีด แต่ต้องอธิบายพ่อแม่ว่ามีความเสี่ยง โดยเฉพาะเด็กผู้ชาย อายุไม่มาก
ในประเทศไทย ในกลุ่มผู้เชี่ยวชาญราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ได้มีการหารือกัน ถ้ามีวัคซีนไฟเซอร์จะแนะนำให้ฉีดอายุ 12ปีขึ้นไป เหมือนฝั่งอเมริกาและอิสราเอลหรือไม่ ก็ต้องชั่งน้ำหนักเช่นกัน แต่ตอนนี้สถานการณ์ประเทศไทยต้องเร่งฉีดเข็ม 1 และเข็ม 2 ให้กับประชาชนทั่วไปผู้ใหญ่ ผู้เสี่ยง คือ ผู้สูงอายุ ผู้มี 7 กลุ่มโรคเรื้อรังและหญิงตั้งครรภ์ก่อน กว่าจะฉีดกลุ่มเหล่านี้แล้วเสร็จคงหลายเดือน ก็จะทำให้ได้ข้อมูลมากขึ้นว่าความปลอดภัยของวัคซีนไฟเซอร์ที่จะมาฉีดในเด็กวัยรุ่นฝั่งเอเชียเป็นอย่างไร
เพราะต้องไม่ลืมว่า โรคที่เกิดตามหลังการฉีดวัคซีนแต่ละภาวะอาจจะมีความแตกต่างกันในหลายเชื้อชาติ เช่น ภาวะลิ่มเลือดที่พบหลังฉีดวัคซีนแอสตร้าฯ ของคนเอเชียเจอน้อยมาก ของประเทศไทยมีรายงาน 1 ราย คิดเป็นอัตราประมาณ 1 ใน 5-6 ล้านโดส และไม่ได้รุนแรงเท่ายุโรป เพราะฉะนั้นข้อมูลต่างๆเหล่านี้ต้องจับตามองและเก็บข้อมูล ซึ่งหลายประเทศมีการใช้วัคซีนไฟเซอร์ไปก่อน แล้วจะมาให้คำแนะนำต่อไปว่าวัยรุ่นไทยควรได้หรือไม่ได้ ตอนนี้อยากเน้นให้ผู้ใหญ่รอบตัวเด็กฉีดก่อน
วัคซีนซิโนแวคกับเด็กเล็ก
ส่วนวัคซีนซิโนแวคที่ว่ามีข้อมูลในเด็กเล็กด้วย อาจจะเป็นทางเลือกที่ดี แต่อาจจะไม่ใช่ตอนนี้ เพราะขณะนี้มีสายพันธุ์เดลตาระบาด ซึ่งมีความดื้อวัคซีนค่อนข้างสูง เพราะฉะนั้น พอฉีดแล้ว 2 เข็ม ยังป้องกันป่วยหนักและเสียชีวิตได้ดี แต่ป้องกันการป่วยเบาและป่วยทั่วไปได้น้อยลง ขณะที่เด็กเมื่อติดเชื้อก็ป่วยเบาๆอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น ความจำเป็นฉีดวัคซีนซิโนแวคในเด็กเล็กจึงน้อยลงไปอีก ยกเว้น ซิโนแวคจะเปลี่ยนเป็นรุ่นใหม่ที่สามารถจัดการเชื้อกลายพันธุ์ได้ดี อาจจะทำให้ประสิทธิภาพในการป้องกันติดเชื้อเบาและไม่เบาดีขึ้น เพราะฉะนั้นในเด็กตอนนี้ ไม่ใช่หัวใจสำคัญในการฉีดวัคซีนขณะนี้ หัวใจสำคัญยังเป็นผู้สูงอายุ ผู้มีโรคร่วมและผู้ใหญ่ทั่วไปก่อน
เด็กที่ควรฉีดวัคซีนโควิด19
ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ได้ออกแถลงการณ์ โรคโควิด 19ในเด็ก(ฉบับที่ 2/2564) วัคซีนป้องกันโรคโควิด19 สำหรับเด็ก เมื่อวันที่ 16 ก.ค. 2564 ว่า คำแนะนำของราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ฯมีดังนี้
-ยังไม่แนะนำวัคซีนโควิด 19 สำหรับเด็กทั่วไปที่แข็งแรงดีในขณะนี้ จนกว่าจะมีวัคซีนที่มากขึ้น และมีข้อมูลเรื่องประสิทธิภาพและความปลอดภัยของวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ในเด็กเพิ่มเติม
-แนะนำให้ฉีดวัคซีนที่กระทรวงสาธารณสุขรับรองให้ใช้ในเด็ก ในกรณีผู้ป่วยเด็กที่มีโรคประจำตัวที่มีความเสี่ยงของโรคโควิด 19 ที่รุนแรง เช่น โรคอ้วน โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็งและภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ และโรคเบาหวาน เป็นต้น
-แนะนำให้ผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิดรับวัคซีน
-แนะนำให้สร้างวินัยในการป้องกันตัวเอง เช่น สวมหน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่างให้แก่เด็กในทุกวัยและหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่อากาศไม่ถ่ายเท
-แนะนำผู้ปกครอง ทำงานที่บ้าน งดการเยี่ยมเยียนจากบุคคลภายนอก