ILINK ขายหุ้น ITEL เพิ่มฟรีโฟลท เผยสถาบันต่อคิวซื้อ
ILINK เผยลดสัดส่วนถือหุ้นบริษัทย่อย ITEL เหลือ 50% จากเดิมถือ 60.31% หลังขายหุ้นบิ๊กล็อตรวม 83 ล้านหุ้นให้กองทุน ดึงสถาบันถือหุ้นเพิ่ม เล็งนำเงินที่ได้ขยายธุรกิจ-คืนหนี้
นายสมบัติ อนันตรัมพร ประธานกรรมการ บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ILINK เปิดเผยว่า บริษัทได้มีการขายหุ้น บมจ.อินเตอร์ลิ้งค์ เทเลคอม (ITEL) ไปแล้วจำนวน 83 ล้านหุ้น ทำให้ปัจจุบันเหลือถือหุ้นใน ITEL สัดส่วน 50% จากเดิมที่ถือหุ้น 60.31% แบ่งเป็นเสนอขายแก่ บลจ.เอ็มเอ็มซี 50 ล้านหุ้น และ กองทุนต้นโพธิ์ จำนวน 33 ล้านหุ้น
ทั้ง นี้การลดสัดส่วนถือหุ้น ITEL เนื่องจากกองทุนดังกล่าวสนใจเข้ามาลงทุน และเพื่อเป็นการเพิ่มสัดส่วนของนักลงทุนสถาบันเข้ามาถือหุ้นเพิ่มขึ้น หลังการขายหุ้นดังกล่าวทำให้สถาบันถือหุ้น ITEL เพิ่มเป็น 5% รวมถึงเป็นการเพิ่มสภาพคล่องให้กับหุ้นด้วย และหลังจากการขายหุ้นให้กับสถาบันทั้ง 2 แห่ง ทำให้มีนักลงทุนสถาบันหลายแห่งสนใจเข้ามาถือหุ้น ITEL ซึ่งขณะนี้มีสถาบันขอเข้ามารับฟังข้อมูลกับบริษัทจำนวนมาก เช่น บลจ.กสิกรไทย และ บลจ.บัวหลวง ฯลฯ ซึ่งเชื่อว่าเกิดจาก ITEL มีผลการดำเนินงานที่ดี จากที่ผ่านมาได้งานใหม่ๆ เพิ่มขึ้น
สำหรับ ILINK ได้ขายหุ้นที่ซื้อคืนจำนวน 15.14 ล้านหุ้น ให้กับทาง บลจ.เอ็มเอฟซีแล้ววันที่ 2 ส.ค.2564 โดยเป็นการขายหุ้นบิ๊กล็อต จำนวน 15 ล้านหุ้น ส่วนหุ้นบิ๊กล็อต จำนวน 7 ล้านหุ้น เมื่อวันที่ 3 ส.ค.2564 นั้นเป็นการขายของ นางชลิดา อนันตรัมพร ให้กับกองทุนต้นโพธิ์
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเพิ่มฟรีโฟลทให้กับบริษัท และทำให้นักลงทุนสถาบันเข้ามาถือหุ้นเพิ่มขึ้น ส่วนเงินที่ได้จากการขายหุ้นดังกล่าว ITEL และหุ้นซื้อคืนของ ILINK นั้น ส่วนหนึ่งจะนำไปขยายคลังสินค้า และนำไปชำระคืนหนี้เพื่อปรับลดอัตราหนี้สินต่อทุน (D/E) ของบริษัท จาก ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2564 อยู่ที่ 1.71 เท่า
นายสมบัติ กล่าวว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งหลังคาดว่าจะเติบโตต่อเนื่องจากครึ่งปีแรก เพราะปกติไตรมาส 3 และไตรมาส 4 ของทุกปีจะเป็นไฮซีซั่นของธุรกิจ โดยธุรกิจจัดจำหน่ายสายสัญญาณ (Distribution) คาดว่ายอดขายสายส่งสัญญาณระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Rooftop) จะเติบโตได้ดีกว่าครึ่งปีแรก
ขณะที่ธุรกิจโทรคมนาคม (Telecom) จะเน้นประมูลงานที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยซึ่งมีการเติบโตสูง (New S-Curve) ได้แก่ กลุ่มอากาศยานไร้คนขับและเทคโนโลยีการตรวจจับอากาศยานไร้คนขับ (Drone and Anti-drone) รวมถึงโครงการพัฒนาทักษะสร้างความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (Course Online) โดยปัจจุบันมีงานรอรับรู้รายได้ (Backlog) มูลค่า 3,600 ล้านบาท คาดว่าจะรับรู้ปีนี้ 1,424 ล้านบาท และมีงานที่รอประมูลในช่วงครึ่งหลังที่เหลืออีกประมาณ 2,000 ล้านบาท
ส่วนกลุ่มธุรกิจวิศวกรรม (Engineering) ล่าสุด บริษัทประกาศลงนามสัญญาจ้างใหม่ 3 สัญญา มูลค่า 595 ล้านบาท ส่งผลให้ Backlog เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1,330 ล้านบาท โดยจะทยอยรับรู้รายได้ตั้งแต่ไตรมาส 3 ปี 2564 เป็นต้นไป โดยคาดว่าในช่วงครึ่งหลังของปีนี้จะรับรู้รายได้ 70% และจะทยอยรับรู้ส่วนที่เหลืออีก 30% ในปี 2565 ทั้งนี้ จากงานที่บริษัทประมูลเข้ามาใหม่อย่างต่อเนื่อง และงานเดิมที่ทยอยรับรู้รายได้ จึงคาดว่าเป้าหมายรายได้ปีนี้ที่วางไว้ 6,000 ล้านบาท จะสามารถทำได้ตามเป้าหมาย และมีลุ้นเติบโตมากกว่าเป้าหมาย
เมื่อสอบถามถึงผลกระทบจากสถานกาณณ์โควิด-19 นายสมบัติ กล่าวว่า ยอมรับว่าธุรกิจสื่อสารได้รับผลกระทบเช่นเดียวกับธุรกิจอื่นๆ เพราะกระบวนการทำงานจะต้องปรับเปลี่ยนมาอยู่ในช่องทางออนไลน์ทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ผลกระทบเบาบางลงจากปี 2563 เนื่องจากบริษัทและลูกค้าสามารถปรับตัวได้แล้วในระดับหนึ่ง ขณะที่ผลเชิงบวกมาจากความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้น จากกลุ่มลูกค้าเดิมที่จำเป็นต้องวางระบบและกลุ่มลูกค้าใหม่จากกลุ่มโรงพยาบาลสนามที่ต้องการใช้โครงข่ายอินเทอร์เน็ต