'แบงก์ชาติ' เผย 4 ปัจจัยกดดัน 'เงินบาท' อ่อนค่ากว่า 10% มากที่สุดในภูมิภาค
'แบงก์ชาติ' ชี้ 4 ปัจจัยกดดัน 'ค่าเงินบาท' ปีนี้อ่อนค่าแรงกว่า 10% มากที่สุดในภูมิภาค หลังดอลลาร์แข็ง สกุลเงินภูมิภาคทรงตัว ขณะที่เศรษฐกิจไทยถูกกดดันจากโควิด ส่งผลต่างชาติเทขายหุ้นไทยต่อเนื่อง
ค่าเงินบาทปีนี้อ่อนค่าแรงต่อเนื่อง โดยปิดการซื้อขายเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (13 ส.ค.) ที่ระดับ 33.35 บาทต่อดอลลาร์ เทียบกับระดับปิดสิ้นปี 2563 ที่ 29.99 บาทต่อดอลลาร์
โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า ตั้งแต่ต้นปีเงินบาทอ่อนค่าลงมากกว่า 10% และเป็นการอ่อนค่ามากกว่าสกุลเงินภูมิภาค เป็นไปตามกลไกตลาด ซึ่งได้รับผลกระทบจากปัจจัยทั้งภายนอกและภายในประเทศ ดังนี้
1. สถานการณ์เศรษฐกิจกลุ่มประเทศหลักที่มีแนวโน้มฟื้นตัวดี ส่งผลให้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้น สร้างแรงกดดันต่อสกุลเงินภูมิภาคให้ปรับอ่อนค่าลง
2. เงินสกุลภูมิภาคบางประเทศอาจได้รับผลบวกจากปัจจัยเฉพาะ เช่น ประเทศที่มีสัดส่วนการส่งออกสินค้าสูง หรือประเทศที่สามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด 19 ได้ดี ทำให้สกุลเงินอ่อนไม่มากนัก เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย เกาหลีใต้
3. ไทยยังมีการแพร่ระบาดของโควิด 19 ที่รุนแรง รวมถึงนักวิเคราะห์ปรับลดคาดการณ์การฟื้นตัวเศรษฐกิจไทยลงมากกว่าประเทศอื่น เนื่องจากมีสัดส่วนพึ่งพาการท่องเที่ยวสูง
4. นักลงทุนต่างชาติปรับลดการถือครองหุ้นไทย แต่ยังคงเพิ่มการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลไทย โดยเฉพาะพันธบัตรระยะยาว สะท้อนความเชื่อมั่นในปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของไทย รวมถึงฐานะด้านต่างประเทศของไทยยังอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง จากปริมาณเงินสำรองระหว่างประเทศที่สูง และสัดส่วนหนี้ต่างประเทศที่ต่ำ
ทั้งนี้ ธปท. ติดตามถานการณ์อย่างใกล้ชิด และพร้อมดูแลไม่ให้เงินบาทผันผวนจนกระทบการปรับตัวของภาคธุรกิจ และแนะนำให้ภาคเอกชนบริหารความเสี่ยงค่าเงินอย่างสม่ำเสมอ โดยผู้นำเข้า-ส่งออก ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการบริหารความเสี่ยงค่าเงินได้ที่ https://bit.ly/35lWOaG