ย้ำยังไม่มียาเฉพาะรักษาโควิด19 ใช้'ฟาวิพิราเวียร์'ให้เร็วลดรุนแรง
อธิบดีกรมการแพทย์ย้ำยังไม่มียาเฉพาะรักษาโควิด19 ใช้ ‘ฟาวิพิราเวียร์’เป็นหลัก เหตุผลศึกษาต่างประเทศ-ไทย พบให้ยาเร็วลดอาการรุนแรงลงได้เกือบ 30 %
เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 20 ส.ค.2564 ในการแถลงข่าวสถานการณ์โควิด 19 ของกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ประเด็น “ยารักษาโควิด19” นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่าขณะนี้ทั่วโลกยังไม่มียาต้านไวรัสตัวไหนขึ้นทะเบียนว่าเป็นยารักษาโควิด 19 อย่างเป็นทางการ เพราะการจะรักษาได้ ต้องมีการทำการศึกษา ให้ยาตัวนี้กับยาหลอกและปกปิดคนไข้ ซึ่งยังอยู่ระหว่างการทดลอง และประเทศไทยกำลังสั่งจองยาตัวนี้อยู่
แต่ตอนนี้ยังไม่มียาตัวไหนขึ้นทะเบียนว่ารักษาได้ ส่วนยาฟาวิพิราเวียร์กลไกการออกฤทธิ์ คือ ยับยั้งการเพิ่มจำนวน RNA ของไวรัส ทำให้เชื้อไวรัสเปลี่ยนแปลงไป และถูกร่างกายกำจัด ข้อบ่งใช้เป็นยาต้านไวรัสแบบกว้างๆ ทั่วไป รักษาไข้หวัดใหญ่ และนำมาใช้รักษาอีโบลาได้ผล
“ระยะแรกของการระบาดเมื่อปี 2563 มีรายงานจากประเทศจีนว่า ฟาวิพิราเวียร์ลดการติดเชื้อได้ดีกว่ายาต้านไวรัสตัวอื่น เช่น ยาต้านเอชไอวี และการศึกษาของประเทศรัสเซียว่ากำจัดเชื้อได้ดีกว่าการรักษาตามมาตรฐานในวันที่ 5 เมื่อมี 2 รายงานนี้ จึงทำแนวทางการรักษาฉบับแรกเมื่อราวก.พ.2563 และมีการปรับเป็นระยะมาตลอดถึงปัจจุบันฉบับที่ 17 โดยข้อมูลของประเทศไทยที่กรมการแพทย์ร่วมกับคณะแพทย์เกือบทุกคณะใน กทม. และรพ.ในกทม.รวบรวมคนไข้ 400 กว่าคนเมื่อปี2563 พบว่า ผู้ติดเชื้อที่รับยาฟาวิพิราเวียร์เร็ว ภายใน 4 วันตั้งแต่เริ่มมีอาการ พบว่า ลดอาการรุนแรงลงได้เกือบ 30% เมื่อเทียบกับได้รับยาภายหลัง 4 วัน ส่วนค่ามัธยฐานของระยเวลาการเริ่มให้ยาฟาวิพิราเวียร์จนถึงผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น คือ คนไข้ปอดบวมรุนแรงใช้เวลา 17 วันจึงดีขึ้น ส่วนปอดบวมไม่รุนแรงดีขึ้นใน 9 วัน" นพ.สมศักดิ์กล่าว
ขณะที่โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) ได้ทบทวนรายงาน 12 การศึกษาในต่างประเทศเกี่ยวกับฟาวิพิราเวียร์ บางรายงานพบว่ามีประสิทธิผล บางรายงานไม่มีประสิทธิผล ทั้งนี้ การศึกษาที่รวบรวมมา ผลมีความแปรปรวน เพราะศึกษาปริมาณยาขนาดไม่เท่ากัน การเปรียบเทียบการรักษากับยาอีกตัวหนึ่งก็แตกต่างกัน แต่ข้อมูลที่ HITAP สรุปคือ ยาฟาวิพิราเวียร์มีประสิทธิผลลดอาการทางคลินิกใน 7 วัน และ 14 วัน เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้ยาฟาวิพิราเวียร์ จึงสนับสนุนแนวทางการรักษาฉบับล่าสุด คือฉบับที่ 17 ที่ให้เริ่มให้ยาฟาวิพิราเวียร์ให้เร็วที่สุด
"จากการถามแพทย์หน้างานว่าใช้ยานี้แล้วเป็นอย่างไร ก็บอกว่า ให้เร็วแล้วดี ให้ช้าไม่ดี ค่อนข้างตรงกับ HITAP คือเมื่อเริ่มมีอาการให้ไป อาการจะดีขึ้น คนไข้และแพทย์ยืนยันตรงกัน เป็นประสบการณ์ในประเทศไทย ขณะนี้สั่งจองยาฟาวิพิราเวียร์โดยองค์การเภสัชกรรม (อภ.) และ อภ.จะผลิตเองด้วย เพื่อให้มียาใช้กับผู้ป่วยไม่ขาด การสั่งจองจะทยอยเอาเข้ามาเป็นระยะ และศึกษาผลการใช้ไปด้วย เพื่อดูผลรอบใหม่ตอนเชื้อเป็นเดลตาเป็นอย่างไร ซึ่งแพทย์หน้างานบ่นว่า ให้ยาช้ากว่า 5-6 วัน จะเป็นปอดบวม ดังนั้นการให้เร็วจะดี ศิริราชถึงกับเปิดคลินิกฟาวิพิราเวียร์เป็นผู้ป่วยนอก เพราะกลัวคนไข้ได้ยาช้า ผลการศึกษามีทั้งผลสนับสนุนและคัดค้าน จึงต้องเอาหลักฐานมารวบรวมเพื่อดูแลชาวไทยให้ดีที่สุด" นพ.สมศักดิ์กล่าว
นพ.สมศักดิ์ กล่าวอีกว่า แนวทางเวชปฏิบัติในไทย ออกในนามกรมการแพทย์ ผ่านความเห็นคณะกรรมการกำกับดูแลรักษาโควิด 19 ที่มีกรมการแพทย์ กรมควบคุมโรค กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย สมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย สมาคมเวชบำบัดวิกฤตแห่งประเทศไทย และคณะแพทย์ต่างๆ มาร่วมปรับแนวทางการรักษา ตามประสบการณ์และผลการศึกษาในต่างประเทศ รวมถึงพูดถึงยาใหม่ๆ และสนับสนุนให้ทำการศึกษาวิจัย เช่น ยาไอเวอร์เม็คติน เป็นต้น