เช็คขั้นตอน 'ตรวจ ATK ฟรี' ภาคบริการ- ปชช. รับ 'เปิดกิจการ' 1 ก.ย.นี้

เช็คขั้นตอน 'ตรวจ ATK ฟรี' ภาคบริการ- ปชช. รับ 'เปิดกิจการ' 1 ก.ย.นี้

สปสช. จัดบริการ 'ตรวจ ATK ฟรี' ภาคอาชีพบริการ ประชาชนกลุ่มเสี่ยง 31 ส.ค.-3 ก.ย. 2564 นี้ รับ 'เปิดกิจการ' 1 ก.ย. หลัง ศบค. คลายล็อกดาวน์ ณ ลานจอดรถชั้น 4 อาคารบี ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถ.แจ้งวัฒนะ ตั้งเป้าตรวจวันละ 1,500 ราย

หลังจากที่ ศบค. ผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. 2564 เป็นต้นไป อาทิ การเปิดห้างสรรพสินค้า เปิดให้นั่งรับประทานอาหารในร้านได้ ร้านเสริมสวย สถานเสริมความงาม ร้านนวด (นวดเท้า) เพื่อเตรียมเปิดประเทศในอนาคต พร้อมติดตามผลเป็นเวลา 1 เดือน

โดยล่าสุด สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จับมือ คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด (ธพส.) และ มูลนิธิหลักประกันสุขภาพไทย จัดบริการตรวจโควิดเชิงรุก Antigen Test Kit (ATK) ในวันที่ 31 ส.ค.-3 ก.ย. 2564 นี้

โดยเน้นกลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพในภาคบริการ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มร้านอาหาร พนักงานเสิรฟ์ พนักงานขาย ร้านนวด ร้านตัดผม/เสริมสวย และประชาชนกลุ่มเสี่ยงทั้งคนไทยและแรงงานข้ามชาติ มารับการตรวจได้ที่ลานจอดรถชั้น 4 อาคารบี ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถ.แจ้งวัฒนะ ตั้งแต่เวลา 8.30-16.30 น. เบื้องต้นตั้งเป้าว่าจะตรวจให้ได้ประมาณวันละ 1,500 ราย

  • "ตรวจ ATK ฟรี"

“ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ” รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า โครงการดังกล่าว เป็นการดำเนินเพื่อสอดรับกับนโยบายของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ซึ่งเตรียมผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. 2564 อาทิ การเปิดห้างสรรพสินค้า เปิดให้นั่งรับประทานอาหารในร้านได้ ร้านเสริมสวย สถานเสริมความงาม ให้เปิดบริการได้ รวมถึงเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดประเทศในอนาคต

  • เงื่อนไขการตรวจคัดกรอง 

- การตรวจคัดกรองในโครงการนี้เป็นการให้บริการฟรี ผู้รับการตรวจไม่มีค่าใช้จ่าย

- รู้ผลใน 30 นาที

  • รับใบรับรองผลการตรวจได้หลายช่องทาง 

- การแจ้งผลให้ทราบผ่านทางมือถือ

- การรอรับใบรับรองผลการตรวจที่หน้างาน

- ดาวน์โหลดจากระบบออนไลน์

  • เอกสาร ที่ต้องเตรียม

ประชาชนที่ไปรับการตรวจคัดกรองและต้องการใบรับรองผลการตรวจ ขอให้เตรียมสำเนาบัตรประชาชนหรือสำเนาพาสปอร์ต สำหรับแรงงานข้ามชาติไปด้วยจำนวน 2 ใบ เผื่อไว้ในกรณีที่ระบบออนไลน์มีปัญหา โดยสามารถลงทะเบียนจองคิวล่วงหน้าได้ คลิ๊กที่นี่ 

  • แต่หากผลตรวจเป็นบวกทำอย่างไร 

กลุ่มไม่มีอาการ ทาง สปสช.จะจับคู่กับคลินิกเพื่อรับการดูแลแบบ Home Isolation

กลุ่มที่มีอาการ ก็จะเข้า Hospitel ของโรงพยาบาลปิยะเวท พร้อมรับยาฟาวิพิราเวียร์ทันที

  • เตรียมพร้อมกระจาย ATK 8.5 ล้านชุด

ล่าสุด วันนี้ (31 ส.ค. 64) นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ขณะนี้องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ได้ลงนามจัดซื้อชุดตรวจแอนติเจน เทสต์ คิท (Antigen test kit) หรือ ATK จำนวน 8.5 ล้านชุดแล้ว โดยก่อนหน้านี้ สปสช. ได้มีการหารือเตรียมความพร้อมในการกระจายชุดตรวจ ATK นี้แล้ว

เบื้องต้นกำหนดให้กระจายในพื้นที่สีแดงก่อน กระจายให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงในชุมชนแออัด และประชาชนกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่อื่นทั่วไปผ่านหน่วยบริการและร้านยา ซึ่งจะได้รับชุดตรวจ ATK คนละ 2 ชุด เว้นระยะตรวจห่างกัน 5 วัน

การกระจาย ATK ในชุมชน กทม. มีจำนวน 2,000 ชุมชน กำหนดแจก ATK ชุมชนละ 1,008 ชุด รวมเป็นจำนวน 2 ล้านชุด โดยส่งผ่านศูนย์บริการสาธารณสุข (ศบส.) โดยการดูแลของสำนักอนามัย กทม. ทีมแพทย์อาสาวินิจฉัย และให้อาสาสมัครสาธารณสุข (อสส.) ผู้นำชุมชน หรือผู้ที่ได้รับคัดเลือกเป็นผู้นำไปแจกในชุมชน ครอบคลุมดูแลประชาชนทุกสิทธิ เน้นกลุ่มเสี่ยง อาทิ ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้ป่วยติดเตียง ผู้พิการ และผู้ป่วย 7 โรค ผู้ที่สงสัยว่ามีอาการติดเชื้อ ผู้ที่อยู่ร่วมบ้านกับผู้ป่วยโควิด และผู้ทำงานประสานงานในชุมชน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

  • ขั้นตอน ขอรับชุดตรวจ ATK ฟรี

ประชาชนกลุ่มเสี่ยงที่จะรับ ATK นี้ ต้องทำตามขั้นตอน ดังนี้

1. ต้องทำแบบคัดกรองความเสี่ยงในแอปเป๋าตัง ที่ดำเนินการโดยธนาคารกรุงไทย

2. คลิกที่ “รับชุดตรวจโควิด-19”

3. หากผลประเมินพบว่าอยู่ในเกณฑ์กลุ่มเสี่ยง ให้เข้ารับชุดตรวจ ATK ตามหน่วยบริการข้างต้นในพื้นที่ได้

4. ทำการยืนยันตัวตนก่อนรับชุดตรวจ ATK ฟรี ด้วยการสแกน QR Code ในระบบแอปเป๋าตัง

5. หน่วยบริการจะจ่ายชุดตรวจ ATK ให้จำนวน 2 ชุด สำหรับการตรวจ 2 ครั้ง ห่างครั้งละ 5 วัน

6. พร้อมให้คำแนะนำการดูแลตนเองและเข้าสู่ระบบการดูแลผู้ป่วยโควิดที่บ้าน ที่สามารถลงทะเบียนผ่านแอปเป๋าตังได้เช่นกัน

  • สำหรับ กลุ่มไม่มีสมาร์ทโฟน

สำหรับกรณีที่ไม่มีมือถือสมาร์ทโฟน จะมีการกระจายชุดตรวจ ATK เชิงรุกในชุมชนพื้นที่สีแดงใน กทม. ซึ่งทางกรุงเทพมหานครกำหนดไว้มีจำนวน 2,000 ชุมชน โดยกระจายผ่านทางผู้นำชุมชน และอาสาสมัครสาธารณสุข ให้กับประชาชนกลุ่มเสี่ยงในชุมชน เพื่อให้สามารถครอบคลุมการแจกจ่ายได้อย่างทั่วถึง รวมถึงเป็นการอำนวยความสะดวก และลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อด้วยเช่นกัน

  • COVID-Free Setting

อย่างไรก็ตาม ในการผ่อนคลายมาตรการนี้ จำเป็นต้องมีมาตรการเข้มข้น เนื่องจากปัจจุบัน การระบาดของโควิด-19 ถือว่ายังมีจำนวนผู้ติดเชื้อค่อนข้างมากในหลักหมื่นราย การเสียชีวิตยังสูง จำเป็นต้องคงกำหนดพื้นที่สถานการณ์จำแนกตามเขตพื้นที่จังหวัด ยังแบ่งเป็น 3 พื้นที่เช่นเดิม ได้แก่ พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 29 จังหวัด พื้นที่ควบคุมสูงสุด 37 จังหวัด และพื้นที่ควบคุม 11 จังหวัด ไม่เปลี่ยนแปลง

สำหรับในส่วนของภาคธุรกิจที่ได้รับการผ่อนคลาย อนุญาตให้ 'เปิดกิจการ' ได้นั้น ทางกระทรวงสาธารณสุขและ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ได้กำหนดมาตรการเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นแนวปฏิบัติสำหรับการเปิดกิจการ กิจกรรมให้ปลอดภัย และยั่งยืน ได้แก่ หลัก COVID-Free Setting เพื่อแนวปฏิบัติของมาตรการองค์กรด้วยหลัก COVID-Free Setting protocol ต้องประกอบด้วย

COVID-Free Environment : จะต้องดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อม ต้องมีการระบายอากาศ สุขอนามัยที่เหมาะสม สะอาดปลอดภัย และต้องเว้นระยะห่าง

COVID-Free Personnel : มาตรการในส่วนของผู้ประกอบการ ผู้ให้บริการ พนักงาน จะต้องมีการฉีดวัคซีนครบตามเกณฑ์ และตรวจ ATK ทุกสัปดาห์ ซึ่งจะมีการเร่งรัดให้ทุกคนได้รับวัคซีนครอบคลุม 2 เข็มมากที่สุด

COVID-Free Customer :  ลูกค้า ผู้ใช้บริการเข้าร้านไหน ต้องร่วมมือกับมาตรการตามร้านนั้นๆ และลูกต้องมี Green Card (วัคซีนครบตามเกณฑ์) Yellow Card (เคยติดเชื้อ หรือ ATK เป็นลบภายใน 7 วัน) นอกจากนั้น จะต้องมีมาตรการกำกับติดตาม โดยผู้ประกอบการ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

“นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์” อธิบดีกรมควบคุมโรค อธิบายว่า มาตรการที่ออกไป ในเดือน ก.ย. เป็นมาตรการในการขอความร่วมมือกับพี่น้องประชาชน ขณะนี้มีการประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน เช่น สมาคมภัตตาคารไทย สมาคมศูนย์การค้า ที่มีการหารือร่วมกันกับ สธ. เป็นความร่วมมือทั้งสองฝ่าย แม้เราจะไม่ได้บังคับแต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ยืนยันว่าจะทำตามมาตรการนี้

 

"ช่วงปฏิบัติอาจจะมีความขลุกขลัก ก็จะมีการปรับตัวตามสถานการณ์ ขอความร่วมมือพี่น้องประชาชน ร่วมมือกับสมาคม องค์กรต่างๆ ดำเนินการตามมาตรการ หากมีข้อขัดข้อง ขอให้แจ้งมาเพื่อจะได้ปรับมาตรการให้เหมาะสม เพื่อหลังเดือน ต.ค. เมื่อทุกอย่างพร้อม จะทำเรื่องนี้ให้เป็นมาตรฐาน เป็นการใช้ชีวิตใหม่ของพวกเราทุกคน"

  • Universal Prevention

ขณะเดียวกัน ในส่วนของประชาชน จำเป็นต้องใช้ชีวิตวิถีใหม่ มาตรการส่วนบุคคล Universal Preventionหรือการป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาล มีหลักสำคัญ 10 ข้อ ได้แก่

1. ต้องออกจากบ้านเมื่อจำเป็นเท่านั้น

2. ผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง ผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี และผู้มีโรคเรื้อรั้ง ให้ทุกคนการ์ดสูงสุด หลีกเลี่ยงการออกจากบ้านเว้นแต่จำเป็นเท่านั้น

3. เว้นระยะห่างจากคนอื่นอย่างน้อย 1-2เมตรในทุกสถานที่

4. สวมหน้ากากอนามัยและทับด้วยหน้ากากผ้าตลอดเวลาทั้งที่อยู่ในและนอกบ้านที่มีคนมากกว่า 2 คน

5. หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสหน้ากากอนามัย/หน้ากากผ้าที่สวมใส่อยู่ รวมทั้งใบหน้า ตา จมูก

6. ล้างมือบ่อยๆ

7. ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อพื้นผิวที่ถูกสัมผัสบ่อยๆ

8. แยกของใช้ส่วนตัวทุกชนิด

9. เลือกทานอาหารที่ร้านหรือปรุงสุกใหม่

10. หากสงสัยว่าตนเองมีความเสี่ยง ให้ตรวจด้วย ATK