'เคทีซี' ผลักดันกลุ่มธุรกิจ 'สินเชื่อพาคนไทย' ฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจ

'เคทีซี' ผลักดันกลุ่มธุรกิจ 'สินเชื่อพาคนไทย' ฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจ

"เคทีซี" เผยแผนกลยุทธ์ครึ่งปีหลัง ผลักดันธุรกิจ 'สินเชื่อพาคนไทย' รวมสินเชื่อไม่มีหลักประกันเข้ากับมีหลักประกัน พร้อมผนึก"กรุงไทยธุรกิจ ลีสซิ่ง" และ รุกอัพเกรดผลิตภัณฑ์ “สินเชื่อทะเบียนรถมอเตอร์ไซค์ พร้อมบัตรกดเงิน เคทีซีพี่เบิ้ม” ครั้งแรกในไทย

นางสาวพิชามน  จิตรเป็นธรรม  ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร-ธุรกิจสินเชื่อบุคคล บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ  “เคทีซี” เปิดเผยว่า “การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยาวนานเกือบสองปี ส่งผลต่อการใช้ชีวิตของผู้คนทั้งในเชิงบวกและเชิงลบ แม้ว่าผู้บริโภคยังมีความต้องการสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องในการใช้จ่ายสิ่งจำเป็นเพื่อการดำรงชีพก็ตาม การทำธุรกิจสินเชื่อบุคคลในปี 2564 ไม่ใช่เรื่องง่ายและท้าทายสูงที่จะผลักดันให้พอร์ตลูกหนี้เติบโตท่ามกลางวิกฤต ควบคู่ไปกับการบริหารคุณภาพลูกหนี้ให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ

อย่างไรก็ตาม เคทีซีมุ่งรักษาเสถียรภาพของคุณภาพพอร์ตลูกหนี้เป็นสำคัญ จึงปรับเกณฑ์การอนุมัติให้รัดกุมขึ้น ทำให้ครึ่งปีแรกยอดลูกหนี้ธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคล ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2564 อยู่ที่ 29,480 ล้านบาท (อุตสาหกรรม 637,849 ล้านบาท) ลดลง 2.5% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ด้วยจำนวนสมาชิก 802,971 บัญชี สัดส่วนการตลาดอยู่ที่ 4.6% และ NPL เท่ากับ 3.0% (อุตสาหกรรม 3.5%) โดยคาดว่าสิ้นปีนี้จะรักษาพอร์ตลูกหนี้ได้ใกล้เคียงกับปีก่อน”

 

 

สำหรับการดำเนินงานกลุ่มธุรกิจสินเชื่อของเคทีซีในช่วงครึ่งปีหลัง ยังต้องจับตาดูสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้น โดยแผนงานธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกันจะประกอบด้วย 4 เป้าหมายหลักคือ 1) การมุ่งช่วยเหลือสมาชิกสินเชื่อที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในหลากหลายรูปแบบตามความเหมาะสม เน้นการเข้าถึงและแสดงเจตจำนงค์ที่สะดวก โดยสามารถลงทะเบียนได้ง่ายผ่านเว็บไซต์เคทีซี www.ktc.co.th   2) แบ่งเบาสมาชิกด้วยโครงการเคลียร์หนี้เกลี้ยงต่อเนื่อง โดยซีซันที่ 12 นี้ เมื่อสมาชิกลงทะเบียนเข้าร่วมกิจกรรม ใช้บัตรกดเงินและมีวินัยในการชำระคืนตรงเวลา จะได้รับสิทธิ์เคลียร์หนี้เกลี้ยง 100% และเคลียร์หนี้ 10% ตลอดทั้งปี”  

 3) มุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องให้สมาชิกมีประสบการณ์ใช้สินเชื่อที่สะดวกสบาย ปลอดภัย ลดการสัมผัสเงินสด โดยพัฒนาการโอนเงินออนไลน์ผ่านแอปฯ “KTC Mobile” ไปยัง 13 ธนาคารแบบเรียลไทม์ตลอด 24 ชั่วโมง การ ขอเพิ่มวงเงินฉุกเฉินผ่านระบบอัตโนมัติ IVR ได้ง่ายๆ รวมทั้งสามารถนำบัตรกดเงินสดไปใช้งานได้ทั้ง 4 ฟังก์ชัน “รูด โอน กด ผ่อน” 4) การขยายฐานสมาชิกสินเชื่อรายใหม่ โดยมีเป้าหมายในการเพิ่มสัดส่วนสมาชิกสินเชื่อ “เคทีซี พราว” (KTC PROUD) ไปยังกลุ่มลูกค้าที่มีฐานรายได้สูงขึ้นและต้องการใช้เงินก้อนใหญ่ ด้วยแคมเปญแบ่งเบาภาระ ลดดอกเบี้ยเหลือเพียง 0.93% ผ่อนได้นานถึง 36 เดือน

และล่าสุดได้อัพเกรดผลิตภัณฑ์ “สินเชื่อทะเบียนรถมอเตอร์ไซค์ พร้อมบัตรกดเงิน เคทีซี พี่เบิ้ม” ครบฟังก์ชันรูด-โอน-กด ซึ่งนับเป็นครั้งแรกของวงการสินเชื่อไทยที่มีการออกผลิตภัณฑ์ลักษณะนี้ เพื่อให้คนไทยที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งสินเชื่อได้มีเงินทุนหมุนเวียนในการต่อยอดใช้จ่ายสิ่งจำเป็น เหมาะสำหรับผู้มีรถมอเตอร์ไซค์และมีเล่มทะเบียนเป็นชื่อตนเอง ชูจุดเด่นของผลิตภัณฑ์ “กู้ง่าย ได้ไว อนุมัติรับเงินก้อนใหญ่พร้อมบัตรกดเงินสด” โดยที่สมาชิกสามารถนำรถมอเตอร์ไซค์ไปใช้ต่อได้ อีกทั้งยังรับวงเงินสินเชื่อแบบหมุนเวียน และเบิกถอนวงเงินจากบัตรกดเงินสดเพื่อใช้ยามฉุกเฉินได้เพิ่มเติม เมื่อมีการชำระเงินและมีประวัติชำระที่ดี โดยสามารถใช้บัตรกดเงินรูดซื้อสินค้า โอนเงินเข้าบัญชีธนาคารแบบเรียลไทม์ และกดเงินสดที่ตู้เอทีเอ็มได้ ไม่มีค่าธรรมเนียม

นางสาวพิชามน กล่าวเพิ่มเติมถึงการช่วยเหลือสมาชิกจากโควิด-19 ว่า เคทีซีได้นำเสนอแนวทางช่วยเหลือที่เหมาะสมกับความหลากหลายของสมาชิก และสอดคล้องกับนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อการก้าวผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน โดยมีกลุ่มลูกหนี้ทุกผลิตภัณฑ์เข้าร่วมมาตรการช่วยเหลือกับเคทีซี ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2564 รวม 21,564 บัญชี ด้วยยอดหนี้คงค้างชำระที่ 1,545 ล้านบาท และมีสมาชิกทุกผลิตภัณฑ์ขอพักชำระหนี้ 2 เดือน รวม 13,370 ราย ณ วันที่ 15 สิงหาคม 2564”

นางสาวเรือนแก้ว  เกษมสวัสดิ์ศรี ผู้อำนวยการ-ธุรกิจสินเชื่อ "เคทีซี พี่เบิ้ม" กล่าวถึงภาพรวมของอุตสาหกรรมสินเชื่อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ในช่วงครึ่งปีแรกว่า “ธุรกิจสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน (จำนำทะเบียน) สิ้นสุดไตรมาส 2 มียอดลูกหนี้ 158,493 ล้านบาท โดยสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร (นอนแบงก์) ถือครองตลาดเป็นหลักด้วยสัดส่วนประมาณ 82% ของยอดสินเชื่อทั้งหมด และธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ (Hire Purchase) สิ้นสุดไตรมาส 2 มียอดลูกหนี้ 1,176,279 ล้านบาท โดยมีธนาคารพาณิชย์ถือครองตลาดเป็นหลัก ด้วยสัดส่วนประมาณ 70% ของยอดสินเชื่อทั้งหมด”

 ด้วยสภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวจากวิกฤตโควิด-19 ทำให้ตลาดสินเชื่อมีความไม่แน่นอนและเปราะบางสูง ทั้งจากนโยบายภาครัฐ ประกอบกับพฤติกรรมและไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของผู้คนที่เปลี่ยนไป ท้าทายให้เราต้องปรับตัว โดยในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา พอร์ตสินเชื่อ “เคทีซี พี่เบิ้ม” อาจไม่เป็นไปตามคาดด้วยปัจจัยต่างๆ แต่เชื่อว่าความต้องการสินเชื่อในตลาดยังมีอีกเป็นจำนวนมาก เราจึงต้องค้นหาและสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการที่น่าสนใจ มานำเสนอให้กับลูกค้าอย่างทั่วถึงและตรงใจ โดยจะเน้นการปล่อยสินเชื่อด้วยความระมัดระวัง เพื่อให้พอร์ตเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไป มากกว่าที่จะโตเร็วแล้วมีความเสี่ยง โดยยังคงตั้งเป้าเติบโตสิ้นปีนี้ที่ 1,000 ล้านบาท

สำหรับแผนกลยุทธ์ของธุรกิจสินเชื่อมีหลักประกันในช่วงครึ่งปีหลังนี้ เคทีซีได้ปรับตัวให้พร้อมรับมือกับสถานการณ์มากขึ้น และคาดว่าจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นด้วย 4 เรื่องหลักคือ 1) ขยายขอบเขตพอร์ตผลิตภัณฑ์สินเชื่อให้มีความหลากหลายครอบคลุมกลุ่มลูกค้ามากขึ้น จากการมีกรุงไทยธุรกิจ ลีสซิ่ง (KTBL) เข้ามาเสริมทัพ ทำให้เราสามารถนำเสนอสินเชื่อทะเบียนรถแบบโอนเล่ม การทำรีไฟแนนซ์สินเชื่อทะเบียนรถ และการทำสินเชื่อรถยนต์มือสอง ซึ่งจะเริ่มในช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้  2) การเซ็นสัญญาแบบดิจิทัล นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในขั้นตอนการสมัครและอนุมัติสินเชื่ออย่างต่อเนื่องตามหลักการของดิจิทัล ทวิน (Digital Twin) โดยตั้งแต่ปลายไตรมาส 2 ที่ผ่านมา “เคทีซี พี่เบิ้ม” ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำสัญญาเป็นแบบดิจิทัล ไม่ต้องใช้เอกสารและเซ็นสัญญาบนกระดาษอีกต่อไป ลดขั้นตอนการสมัครอยู่ที่ประมาณ 1.5 ชั่วโมง สะดวกปลอดภัยและลดการสัมผัส  3) ขยายพื้นที่ให้บริการครอบคลุมทั่วประเทศภายในปีนี้ โดยจะผูกไปกับสาขาของธนาคารกรุงไทยทุกภูมิภาค และผนึกกำลังเข้ากับสาขาเครือข่ายของ KTBL จะยิ่งช่วยให้ขยายได้รวดเร็วขึ้น 4) ทำให้จุดแข็งของเคทีซี พี่เบิ้ม เป็นที่รู้จักและเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น ด้วยความโดดเด่นของผลิตภัณฑ์ที่มาพร้อม 4 จุดแข็ง วงเงินใหญ่ อนุมัติใน 2 ชั่วโมง และรับเงินทันที รับสมัครสมาชิกไม่จำกัดอาชีพ และบริการพี่เบิ้ม เดลิเวอรี่ (P Berm Delivery) อนุมัติสินเชื่อถึงที่ ไม่มีวันหยุด ซึ่งเป็นจุดขายที่แตกต่างจากผู้ประกอบการรายอื่น”

 “เคทีซี พี่เบิ้ม” ยังยืนยันเจตนารมย์สนับสนุนช่วยเหลือคนไม่ท้อทุกกลุ่มอาชีพ โดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัวเช่นนี้ กลุ่มขวัญใจ “เคทีซี พี่เบิ้ม” จะเป็นกลุ่มที่ได้รับความเดือดร้อนสูง ได้แก่ พ่อค้าแม่ค้า เจ้าของกิจการขนาดเล็ก และกลุ่มอาชีพอิสระ โดยจะเน้นการเข้าถึงสินเชื่อที่ง่าย วงเงินใหญ่ เอกสารไม่ยุ่งยาก เงื่อนไขหลักประกันน้อย ไม่จำกัดอายุรถ ผ่อนไม่หมดก็สามารถขอสินเชื่อได้ รวมถึงการปรับเงื่อนไขผลิตภัณฑ์ให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น เข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่หลากหลาย อาทิ เจ้าของรถติดไฟแนนซ์ และเจ้าของรถยนต์ที่มีข้อจำกัดจากสถาบันการเงินอื่น”