แรงงานเมียนมาหนี ‘เศรษฐกิจพัง’ หลังเจอวิกฤติรอบด้าน

แรงงานเมียนมาหนี ‘เศรษฐกิจพัง’ หลังเจอวิกฤติรอบด้าน

เมียนมาเจอวิกฤติรอบด้าน  ‘เวิลด์แบงก์’ หั่นจีดีพีเมียนมาทรุด 1% สงครามกลางเมือง เงินเฟ้อ ค่าเงินและภัยธรรมชาติทุบเศรษฐกิจพัง  กดดันคนอพยบหนีออกนอกประเทศ พร้อมเสนอแนวทางหนุนเสรษฐกิจ ‘ไทย-เมียนมา’

KEY

POINTS

  • ธนาคารโลกคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจ (GDP) ของเมียนมาจะหดตัว 1% ในปีงบประมาณสิ้นสุดเดือนมีนาคม 2568
  • สหประชาชาติประเมินว่านับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2566 ถึงปัจจุบันมีผู้พลัดถิ่นภายในประเทศเพิ่มขึ้น 1.5 ล้านคน
  • วิกฤติรอบด้านที่เกิดขึ้นจากความขัดแย้ง ภัยธรรมชาติ ค่าเงินจ๊าดที่อ่อนค่าลงกว่า 40%

ตั้งแต่การรัฐประหารในปี 2564 เมียนมาเผชิญกับวิกฤตความขัดแย้งที่รุนแรง ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในสังคมและเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ 

ธนาคารโลกเผยแพร่รายงาน "วิกฤตการณ์ซับซ้อน" โดยระบุว่า ปัญหาการอพยพข้ามแดนโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการเกณฑ์ทหารเยาวชนในเดือนกุมภาพันธ์ ได้ยิ่งซ้ำเติมวิกฤตที่ซับซ้อนอยู่เดิมให้ทวีความรุนแรงมากขึ้น

สหประชาชาติ ประเมินว่านับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2566 ถึงปัจจุบันมีผู้พลัดถิ่นภายในประเทศเพิ่มขึ้น 1.5 ล้านคน ส่งผลให้จำนวนผู้พลัดถิ่นรวมอยู่ที่ 3.5 ล้านคน หรือประมาณ 6% ของประชากรทั้งหมด และมีประชาชนประมาณ 150,000 คน อพยพออกนอกประเทศนับตั้งแต่การรัฐประหาร

ความขัดแย้งที่ยืดเยื้อและรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจของประเทศอย่างรุนแรงด้วย การหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานและการผลิต ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอตัวลง และความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจก็เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก ในสถานการณ์เช่นนี้ การอพยพจึงกลายเป็นทางเลือกสุดท้ายที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพื่อแสวงหาโอกาสทางเศรษฐกิจที่ดีกว่า

ครัวเรือนในเมียนมาได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง โดยรายงานอ้างสถิติที่ระบุว่า 14.3 ล้านคน หรือประมาณหนึ่งในสี่ของประชากร ประสบกับความไม่มั่นคงทางอาหารอย่างรุนแรง ณ เดือนตุลาคม 2567 เพิ่มขึ้นจาก 10.7 ล้านคนเมื่อปีที่แล้ว รายงานระบุว่า "สาเหตุหลักมาจากอัตราเงินเฟ้อของอาหารและการขาดแคลนสินค้า"

วิกฤติรอบด้านทุบ 'เศรษฐกิจ' พัง

ธนาคารโลกคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจ (GDP) ของเมียนมาจะหดตัว 1% ในปีงบประมาณสิ้นสุดเดือนมีนาคม 2568 ซึ่งเป็นการปรับลดจากการคาดการณ์ก่อนหน้านี้ที่คาดว่าจะเติบโต 1% การคาดการณ์ดังกล่าวหมายความว่า GDP ในปีนี้จะต่ำกว่าปี 2562 ประมาณ 11% นอกจากนี้ ยังคาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อจะยังคงอยู่ในระดับสูงที่ 26%

รายงานของธนาคารโลกได้สรุปวิกฤติที่เกิดขึ้นจากหลายปัจจัย ทั้งความขัดแย้ง ภัยธรรมชาติ ค่าเงินจ๊าดที่อ่อนค่าลงกว่า 40% ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2567 อัตราเงินเฟ้อสูง และการย้ายถิ่นฐานออกนอกประเทศ ต่างสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างรุนแรง

รวมทั้ง “ความท้าทาย” ในทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจเมียนมา ทั้งภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรมการผลิต และบริการ ต่างประสบปัญหาจากการขาดแคลนวัตถุดิบ การจ่ายไฟฟ้าที่ไม่มีสเถียรภาพและความต้องการในประเทศที่ลดลงจากวิกฤติที่ซ้อนทับกันเหล่านี้ และพายุไต้ฝุ่นยากิและฝนตกหนักในช่วงมรสุมล่าสุดได้ทำให้เกิดน้ำท่วมอย่างรุนแรงทั่วเมียนมา ส่งผลกระทบต่อ 2.4 ล้านคนใน 192 เมือง

อพยพเข้าไทยกว่า 2 ล้านคน

คิม เอ็ดเวิร์ดส์ นักเศรษฐศาสตร์และหัวหน้าโครงการเมียนมา-ไทยของธนาคารโลกกล่าวว่ากระแสการย้ายถิ่นล่าสุดสะท้อนให้เห็นถึงสถานะที่เปราะบางของเศรษฐกิจเมียนมา รวมถึงแรงกดดันที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งและการเกณฑ์ทหาร เพราะการอพยพย้ายถิ่นจำนวนมากในช่วงล่าสุดเกิดขึ้นภายใต้แรงกดดัน แต่ปัญหาสำคัญ คือ การอพยพเหล่านี้มักเกิดขึ้นอย่างไม่เป็นทางการทำให้ผู้ย้ายถิ่นไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ที่ควรจะได้รับ และต้องเผชิญกับความเสี่ยงต่างๆ มากขึ้น

รายงานของธนาคารโลกและองค์การแรงงานระหว่างประเทศระบุว่า แรงงานเมียนมาในประเทศไทยและมาเลเซียสามารถหารายได้สูงกว่าในประเทศถึง 3 เท่า ขณะที่แรงงานในญี่ปุ่นและเกาหลีใต้สามารถหารายได้สูงกว่าถึง 10 เท่า และแรงงานเมียนมาส่งกลับเงินกลับบ้านซึ่งเป็นแหล่งรายได้สำคัญสำหรับครอบครัวในเมียนมาถึง 7.5%  

ขณะนี้แรงงานเมียนมาเผชิญภาระภาษีเพิ่ม เมื่อต้องการต่ออายุหนังสือเดินทาง เนื่องจากรัฐบาลเมียนมาได้ออกกฎหมายใหม่ที่กำหนดให้แรงงานเมียนมาที่ทำงานในต่างประเทศต้องเสียภาษีเงินได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากพวกเขาทำงานในช่วงหลังวันที่ 1 ตุลาคม 2566 นอกจากนี้ ยังมีการบังคับให้ชำระภาษีเพิ่มอีก 2% จากรายได้ทั้งหมดที่ได้รับจากต่างประเทศ

ดังนั้น ธนาคารโลกเสนอแนวทางพัฒนาเศรษฐกิจทั้งเมียนมาและไทยซึ่งมีแรงงานเมียนมาทำงานอยู่ถึง 2 ล้านคน เรียกร้องให้มีการนำมาตรการต่างๆ มาปรับใช้ ทั้งการขยายระยะเวลาสัญญาและอนุญาตให้เปลี่ยนแปลงการจ้างงาน การอำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายแรงงานตามฤดูกาล และการสนับสนุนการบูรณาการทางเศรษฐกิจของผู้ลี้ภัยเมียนมา