เอเปคกับสตรี ความท้าทายไม่เสื่อมคลาย | เกศินี วิฑูรชาติ
ไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุมผู้นำเอเปค 2022 ระหว่างวันที่ 18-19 พ.ย. 2565 นับเป็นโอกาสดีที่จะมีการประชุมที่เกี่ยวข้องด้วย คือการประชุมเอเปคด้านสตรีและเศรษฐกิจ (APEC Women and the Economy Forum : WEF)
และในสัปดาห์นี้จะเป็นการประชุมระดับสูงสำหรับผู้กำหนดนโยบายด้านสตรีและเศรษฐกิจ (High-Level Policy Dialogue on Women and the Economy : HLPDWE) ประจำปี 2565
แนวคิดหลักหนึ่งของการประชุมเอเปคคราวนี้คือ การสร้างความสมดุล คือความสมดุลในการยอมรับบทบาทของผู้หญิง ส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ แม้จะพูดกันมายาวนานหากยังคงเป็นปัญหาในหลายภูมิภาค แต่กระนั้นโลกหลายๆ ส่วนก็กำลังเดินเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจทั่วถึงที่ไร้ความเหลื่อมล้ำ (Inclusive Economy) อย่างช้าๆ โดยไม่สนใจเรื่องเพศ ไม่ว่าชาย หญิง หรือเพศอื่นใด
สถาบันวิจัย Credit Suisse Research Institute (CSRI) ได้ตีพิมพ์รายงาน Credit Suisse Gender 3000 in 2021 : Broadening the diversity discussion ระบุว่าตัวเลข CEO ที่เป็นผู้หญิงทั้งโลกยังอยู่ที่เพียง 5.5% เท่านั้น จำนวนผู้บริหารหญิงที่นั่งอยู่ในคณะกรรมการบริษัทขยับดีขึ้นเล็กน้อย คือ มีค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 24% (สำหรับในประเทศไทย ตัวเลขคือ 21% ในปี 2563 จากการศึกษาของตลาดหลักทรัพย์ เป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 20.72% ในปี 2562)
The Women's Leadership Gap - Center for American Progress
หากพิจารณาดูประเทศในกลุ่มเอเปค ตัวเลขผู้หญิงในคณะกรรมการเฉลี่ยสูงสุดที่ประมาณ 34% ในออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ไปจนถึงต่ำสุดที่ 9% ในเกาหลีใต้ ตัวเลขปรับตัวดีขึ้นในออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ และมาเลเซีย แต่กลับถดถอยลงในจีน อินเดีย ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ แม้ตัวเลขข้างต้นจะดูดีขึ้น แต่ก็เป็นการขยับที่ค่อนข้างช้า
นอกจากนั้นพบว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา อัตราส่วนระหว่างกิจการที่ผู้ก่อตั้งเป็นผู้หญิงกับที่ก่อตั้งโดยผู้ชายขยับจาก 0.62 เป็น 0.73 ซึ่งแม้จะดูดีขึ้นบ้าง แต่กิจการใหม่ที่ก่อตั้งโดยผู้หญิงมักจะมีขนาดเล็กกว่า มีรายได้และมูลค่ากิจการน้อยกว่ากิจการที่ก่อตั้งโดยผู้ชาย
ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจจากผลการศึกษาข้างต้นคือ ความหลากหลายทางเพศที่เพิ่มขึ้นในตำแหน่งระดับสูง หรือระดับนำของกิจการ มีความสัมพันธ์ในทางบวกต่อผลประกอบการ ราคาหุ้นของกิจการ และคะแนน ESG (Environmental, Social and Governance)
ยิ่งกิจการให้ความสำคัญกับเพศสภาพและความหลากหลายมากเท่าไร จะพบว่าความสัมพันธ์นี้ยิ่งมีค่าสูงขึ้นตามไปด้วย สะท้อนให้เห็นส่วนหนึ่งว่าความหลากหลายและการยอมรับความแตกต่าง กำลังจะกลายเป็นปัจจัยหนึ่งที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของกิจการให้ความสำคัญมากยิ่งขึ้น
ในหลายภูมิภาคของโลก บทบาทของผู้หญิงยังคงมีปัญหา ทั้งบทบาทในทางธุรกิจ เช่นการเข้าถึงแหล่งเงินทุน การเข้าถึงงาน การเข้าถึงตำแหน่งที่มีอำนาจตัดสินใจ ฯลฯ นอกเหนือจากบทบาททางธุรกิจบทบาทของความเป็นมนุษย์ก็สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน จึงยังเห็นผู้หญิงตกเป็นเหยื่อของความรุนแรง การต้องรับภาะทางครอบครัวอย่างไม่สมดุล การค้ามนุษย์ และอื่นๆ
ทำให้โลกต้องทำงานกันต่อไปเพื่อขจัดความไม่เท่าเทียมเหล่านี้ ในขณะเดียวกันก็ต้องปลูกฝังทุกฝ่ายให้เห็นคุณค่าแนวคิดการพัฒนาที่รวมคนทุกเพศเข้าด้วยกันอย่างเข้มข้นด้วย
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ขอร่วมสนับสนุนบทบาทของเอเปค ในการผลักดันเพื่อสร้างความเท่าเทียมระหว่างเพศ ซึ่งเป็นนโยบายที่ถือปฏิบัติมาตลอด ด้วยการสร้างพื้นที่แห่งเสรีภาพที่ไม่ทอดทิ้งใครตามปรัชญาของธรรมศาสตร์ จนได้รับการจัดอันดับการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ในกลุ่มอันดับ 101-200 ของโลกในปี 2022 จากสถาบันการศึกษา 1,406 แห่งทั่วโลก โดยหนึ่งในความโดดเด่นคือเรื่องการสร้างความเท่าเทียมทางเพศ
แม้จะเป็นความท้าทายที่ใหญ่ยิ่ง แต่หวังใจว่าการประชุมเอเปคคราวนี้จะสามารถขับเคลื่อนมาตรการที่เป็นรูปธรรม ที่จะนำไปสู่การยอมรับในความหลากหลายและความแตกต่างระหว่างกัน ทั้งในแวดวงเศรษฐกิจและสังคมที่จะขยายผลไปยังทุกส่วนของโลก เพราะไม่ว่าเพศใดๆ เราทุกคนต่างมีส่วนในการสร้างและรับผิดชอบต่อโลกใบนี้เสมอ และเพราะความแตกต่าง โลกจึงพัฒนาไปได้ถึงเพียงนี้