The Rules of Everything ทำแล้วไม่ตกเก้าอี้ | บวร ปภัสราทร
ที่คิดกันว่า ตำแหน่งหน้าที่เป็นเหมือนสมบัติผลัดกันชม น่าจะต้องเปลี่ยนความคิดกันได้แล้ว วันนี้เราเห็นบางคนยอมให้องค์กรเสียหายได้ทุกอย่าง เพื่อแลกกับการยึดเก้าอี้นั้นไว้ให้นานเท่านาน
ใครไม่ได้นั่งเก้าอี้แห่งอำนาจจะคิดไม่ออกว่าทำไมบางคนถึงไม่ยอมลุกจากเก้าอี้สักที แต่สำหรับคนธรรมดาในยามที่การงานหายากเย็นกันแบบทุกวันนี้ การตกเก้าอี้อาจไม่ได้แค่ชีวิตที่ยากเย็นของตนเองเท่านั้น แต่อาจลามไปถึงคนใกล้ชิดอีกด้วย
มีตำราเล่มหนึ่งชื่อ The Rules of Everything มีคำแนะนำสำหรับคนที่ต้องการรักษาเก้าอี้การงาน ที่น่าจะนำไปใช้ได้โดยไม่ได้มีความเสี่ยงใด ๆ เป็นคล้ายยาสามัญประจำบ้าน ไม่ใช่ยาอันตราย ใครก็ทดลองนำไปปฏิบัติได้โดยไม่ต้องกังวลกับผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น
ตำราบอกว่าหลักการสำคัญในการป้องกันไม่ให้ตกเก้าอี้ คือจงอย่าทำให้คนอื่นเข้าใจไปว่างานนั้นยากเกินไปสำหรับตัวเรา อย่าให้เขาเชื่อกันว่างานนั้นเกินกำลัง งานนั้นเกินขีดความสามารถของเรา
ไม่ว่างานที่พบเจอจะมาก หรือยากแค่ไหน ห้ามขอขยายกำหนดเวลาที่งานต้องเสร็จอย่างเด็ดขาด สัญญาว่างานจะเสร็จเมื่อใด งานต้องเสร็จตามนั้น ยกเว้นแต่ว่ามีเรื่องสุดวิสัยที่คนอื่นไม่อาจโต้แย้งได้
พยายามขับเคลื่อนให้งานเสร็จตามกำหนดการที่กำหนดไว้ให้ได้ งานที่เสร็จอาจจะไม่สมบูรณ์แบบแต่ต้องทันเวลา โดยไม่ละทิ้งคุณภาพ เพื่อแลกกับการทำให้งานเสร็จตามกำหนดเวลา ขอให้งานเสร็จ ใช้งานได้ ถึงแม้ว่าจะไม่สมบูรณ์แบบ
เหตุที่งานมักไม่เสร็จทั้ง ๆ ที่สามารถทำให้เสร็จตามกำหนดได้ มาจากการพยายามให้ผลงานดีสมบูรณ์แบบ พอเห็นว่าขยับวันเสร็จออกไปสักนิดงานจะดีขึ้นอีกเยอะ เลยคิดเรื่องการขยายเวลา
วันใดที่เริ่มขอเลื่อนกำหนดการที่งานจะเสร็จออกไป วันนั้นจะมีคนเริ่มพูดว่างานนั้นอาจเกินกำลังของเรา เริ่มคิดหาคนที่เป็นทางเลือกอื่นขึ้นมาแทน ยิ่งถ้าเป็นงานที่ล่าช้าแล้วเดือดร้อนกันทั่วหน้า ขยายเวลากระทบความมั่นใจของคนอื่นแน่ ๆ
คนต้องการเห็นงานเสร็จทันเวลา มีมากกว่าคนที่ยอมรอนานขึ้นเพื่อให้ได้ความสมบูรณ์แบบ สมาร์ทโฟนที่เปิดตัวใหม่กันทุกปีเป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องนี้ ออกใหม่ทุกปีตามกำหนดที่เคยทำมา ปีใหม่ก็มีของใหม่ที่ดีกว่ามาเสมอ
ถ้าไม่จำเป็นสุด ๆ อย่าร้องขอความช่วยเหลือให้ใครมาช่วยทำงานของเรา ร้องขอคนช่วยบ่งบอกว่างานนั้นเกินกำลังของเราเสียแล้ว แค่ขอคำแนะนำยังรักษาเก้าอี้ไว้ได้มากกว่าขอความช่วยเหลือ
ผู้นำเก่ง ๆเวลาเจอวิกฤติใหญ่โตจะไม่เริ่มต้นด้วยการป่าวประกาศขอความช่วยเหลือ แต่จะลุยแก้ไขไปก่อน คนอื่นอยากช่วยก็ว่ากันอีกที อย่าเผลอบ่นว่างานหนัก อย่าพยายามคุยโวว่าทำงานหนักจนไม่มีเวลาพักผ่อน
ทำงานแปดปีไม่เคยไปเที่ยวที่ไหนเลย เพื่อหวังจะเรียกร้องความเห็นใจจากคนอื่น ซึ่งนอกจากจะไม่ได้อย่างที่หวังแล้ว ยังเป็นการส่งสัญญาณว่าเราอาจไม่ใช่คนที่เขาจะมั่นใจได้ว่าจะทำงานนั้นได้สำเร็จ
อย่าบ่นว่างานยากให้คนอื่นได้ยิน อย่าบอกว่างานยากเย็นเพราะมีวิกฤติอย่างนั้นอย่างนี้ อย่าพยายามชวนเชื่อว่าคนอื่นแย่มากกว่า คนอยากเห็นความสำเร็จมากกว่าเห็นความย่ำแย่ที่น้อยกว่าคนอื่น
พยายามแสดงให้คนอื่นมั่นใจว่าการงานที่เราทำจะสำเร็จ โดยไม่ใช่เป็นการพยายามแสดงให้คนอื่นว่าเราพร้อมจะทำงานหนักแค่ไหน แต่เป็นการแสดงให้คนอื่นเห็นว่าเราเข้าใจงานนั้นเป็นอย่างดี
บอกได้ว่าอะไรจะทำก่อน อะไรจะทำตามหลัง ถ้ามีปัญหาอย่างนี้จะแก้อย่างนั้น จนกระทั่งคนอื่นเชื่อมั่นว่าเก้าอี้นั้น ตัวเรายังเหมาะสมที่สุดอยู่ต่อไป แต่อย่าหลงตนไปเองว่างานนี้คนอื่นทำได้ไม่ดีไปกว่าตัวฉันแน่ ๆ แสดงให้คนอื่นเขาเชื่อ ไม่ใช่หลอกตัวเอง
รับมือหลายเรื่องอาจพลาดพลั้งได้ พยายามลดภาระการงานที่คนอื่นไม่เห็นคุณค่าลงไปบ้าง งานไหนได้หน้าตาแน่ ๆ ก็ทุ่มเทมากหน่อย แต่ไม่ใช่ทำแต่งานที่ได้หน้า แล้วซุกงานอื่นที่จำเป็นต้องทำไว้ใต้พรม
วันหน้าคนก็เจอจนได้ว่าทำงานเอาหน้า ซึ่งวันนั้นจะไม่มีใครอยากเห็นเรานั่งเก้าอี้ตัวนั้นอีกต่อไป ยกเว้นเสียแต่ว่าเป็นการเอาหน้ากับคนใหญ่คนโตที่บันดาลทุกอย่างได้ ก็ทำต่อไปเถอะ.
คอลัมน์ : ก้าวไกลวิสัยทัศน์
รศ.ดร.บวร ปภัสราทร
คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี