ปภ. ย้ำ 17 จว.ภาคเหนือ อีสาน กลาง เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน อิทธิพล "พายุโนรู"
ปภ.เน้นย้ำ 17 จังหวัด ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง เฝ้าระวังอิทธิพลจากพายุ "โนรู" อาจเกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง (เพิ่มเติม) ช่วงวันที่ 29 ก.ย. - 4 ต.ค.65
เมื่อวันที่ 29 ก.ย. 65 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย ในฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) ได้ติดตามข้อมูลสถานการณ์น้ำท่าและปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ ประกอบกับกองอำนวยการน้ำแห่งชาติได้มีประกาศฉบับที่ 44/2565 ลงวันที่ 28 กันยายน 2565 แจ้งว่า จากการประเมินฝนคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) พบว่าอิทธิพลของพายุโนรูจะส่งผลให้มีปริมาณฝนตกต่อเนื่องสะสม 150 - 250 มิลลิเมตร ซึ่งปัจจุบันในลำน้ำและแหล่งน้ำมีปริมาณน้ำมากอาจส่งผลให้เกิดน้ำหลากน้ำท่วมฉับพลัน โดยมีพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำท่วมขังเพิ่มเติม ระหว่างวันที่ 29 กันยายน – 4 ตุลาคม 2565 ดังนี้
ภาคเหนือ 4 จังหวัด ได้แก่
- ลำปาง (อำเภอเมืองฯ ห้างฉัตร เกาะคา)
- ตาก (อำเภออุ้มผาง ท่าสองยาง แม่ระมาด)
- เพชรบูรณ์ (อำเภอวิเชียรบุรี ศรีเทพ บึงสามพัน หนองไผ่)
- กำแพงเพชร (อำเภอปางศิลาทอง คลองลาน)
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 10 จังหวัด ได้แก่
- อุดรธานี (อำเภอบ้านผือ)
- ชัยภูมิ (อำเภอภักดีชุมพล หนองบัวระเหว หนองบัวแดง)
- ขอนแก่น (อำเภอเมืองฯ)
- ยโสธร (อำเภอเมืองฯ เลิงนกทา ทรายมูล)
- นครราชสีมา (อำเภอแก้งสนามนาง ด่านขุนทด)
- บุรีรัมย์ (อำเภอกระสัง)
- ศรีสะเกษ (อำเภอไพรบึง กันทรารมย์ กันทรลักษ์)
- อุบลราชธานี (อำเภอเมืองฯ เขื่องใน ดอนมดแดง ศรีเมืองใหม่ นาตาล โขงเจียม เดชอุดม ตระการพืชผล พิบูลมังสาหาร สว่างวีระวงศ์ โพธิ์ไทร ม่วงสามสิบ ตาลสุม เขมราฐ)
- อำนาจเจริญ (อำเภอเมืองฯ เสนางคนิคม พนา ชานุมาน)
- มุกดาหาร (อำเภอดอนตาล)
ภาคกลาง 3 จังหวัด ได้แก่
- ลพบุรี (อำเภอลำสนธิ ท่าหลวง ชัยบาดาล สระโบสถ์ พัฒนานิคม)
- สระบุรี (อำเภอมวกเหล็ก วังม่วง แก่งคอย)
- ปราจีนบุรี (อำเภอเมืองฯ ประจันตคาม กบินทร์บุรี นาดี ศรีมหาโพธิ)
กอปภ.ก. จึงได้เน้นย้ำไปยัง 17 จังหวัดเสี่ยงภัยในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง เตรียมพร้อมรับมือปริมาณฝนตกสะสมที่อาจส่งผลให้เกิดน้ำหลากและน้ำท่วมฉับพลัน โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขังอยู่เดิม จุดเสี่ยงน้ำท่วมขังเป็นประจำ และพื้นที่ที่มีปริมาณฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร โดยจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังและติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัย รวมถึงนำเครื่องมือเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการเข้าประจำจุดเสี่ยงอันตรายและพื้นที่เสี่ยงภัยเพื่อให้พร้อมเผชิญเหตุ และช่วยเหลือประชาชนทันที ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำทุกหน่วยงานดำเนินการตามแผนเผชิญเหตุอย่างเคร่งครัด
สำหรับประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยติดตามพยากรณ์อากาศและข้อมูลข่าวสารจากทางราชการอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยขอให้เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยที่อาจเกิดขึ้นและปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด โดยประชาชนสามารถติดตามประกาศการแจ้งเตือนภัยที่แอปพลิเคชัน “THAI DISASTER ALERT” และหากได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยสามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM รวมถึงสายด่วนนิรภัย1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป