เหตุ "กราดยิง" ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป แนะภาคเอกชนต้องซ้อมเอาตัวรอด

เหตุ "กราดยิง" ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป แนะภาคเอกชนต้องซ้อมเอาตัวรอด

รศ.พต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล ผู้ช่วยอธิการบดี และประธานกรรมการคณะอาชญาวิทยา ม.รังสิต ชี้เหตุ"กราดยิง" ไม่ใช่เรื่องไกลตัวประชาชนอีกต่อไป แนะภาคเอกชนต้องซ้อมเอาตัวรอด

เมื่อวันที่ 6 ต.ค. 65 รองศาสตราจารย์ พันตำรวจโท ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล ผู้ช่วยอธิการบดี และประธานกรรมการคณะอาชญาวิทยา ม.รังสิต เปิดเผยถึงเหตุการณ์กราดยิงที่"ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก" ในพื้นที่ อ.นากลาง จ.หนองบัวลำภู มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ว่าจากเหตุการณ์นี้ ต้องยอมรับว่าเหตุกราดยิง ไม่ใช่เรื่องไกลตัวสำหรับคนไทยอีกต่อไป 

"ดร.กฤษณพงค์" บอกว่า นับตั้งแต่เหตุการณ์กราดยิงที่เทอร์มินัล 21 ที่นครราชสีมา เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2563 หน่วยงานความมั่นคง เช่น ตำรวจ ทหาร มีการให้ความสำคัญ ในการสอดส่องดูแลกำลังพลมากยิ่งขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน ภาคประชาชนเอง ก็ต้องให้ความสำคัญกับการเอาตัวรอดจากเหตุการณ์กราดยิง มากขึ้นเช่นกัน และที่สำคัญต้องมีการฝึกซ้อมทบทวนการเอาตัวรอดเป็นประจำ โดยผู้บริหารในระดับองค์กร ต้องให้ความสำคัญ และกำหนดเป็นนโยบายออกมา โดยเรื่องดังกล่าว หากไม่มีการฝึกซ้อมทบทวน ก็จะไม่เกิดประโยชน์
 

ส่วนกรณีผู้ก่อเหตุเป็นตำรวจนั้น ทราบว่าทำผิดวินัยร้ายแรงและถูกไล่ออกจากราชการ ดังนั้นคงไปโทษหน่วยงานคงไม่ได้ เพราะเป็นความผิดที่เกิดขึ้นส่วนบุคคล อย่างไรก็ตาม ขอเสนอความเห็นว่า หากเจ้าหน้าที่เช่น ตำรวจ ทหาร ที่ถูกไล่ออกจากราชการ อาจต้องทบทวนการให้ครอบครองอาวุธ ว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ โดยพิจารณาจากความผิดที่ถูกให้ออกจากราชการเป็นหลัก

ทบทวนวิธี "หนี ซ่อน สู้" เอาตัวรอดเหตุกราดยิง

ทั้งนี้ ข้อมูลจากภาควิชาศัลยแพทยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย เผยว่าหากบังเอิญตกอยู่ในเหตุการณ์กราดยิง สิ่งที่ควรปฏิบัติอย่างเร่งด่วนที่สุดมี 3 ขั้นตอน คือ การหลบหนี การหลบซ่อน และการต่อสู้ (Run, Hide, Fight) โดยมีวิธีดังนี้
 

การหลบหนี (Run)

หนีจากที่เกิดเหตุให้เร็วที่สุด โดยสังเกตทางเข้าออกและจดจำทางเข้าออกให้แม่นยำ วางแผนและเตรียมพร้อมในการหลบหนีออกจากสถานที่นั้นอย่างรวดเร็วที่สุด พยายามหลีกเลี่ยงเส้นทางหนีที่คับแคบมีสติอยู่เสมอขณะหลบหนี 

การหลบซ่อน (Hide)

ในกรณีที่ไม่สามารถหลบหนีได้ควรหาที่หลบซ่อน เพื่อให้รอดพ้นสายตาของผู้ก่อเหตุให้มากที่สุด เช่น ปิดไฟมืด ปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์สื่อสารที่ทำให้เกิดเสียง เช่น ทีวี วิทยุ เปลี่ยนโหมดโทรศัพท์มือถือเป็นระบบสั่น พยายามหลีกเลี่ยงที่อับปิดตาย และไม่ควรอยู่ใกล้ที่เสี่ยงอันตราย เช่น ริมหน้าต่าง ริมประตู กระจก 

การต่อสู้ (Fight)

หากอยู่ในสถานการณ์คับขันที่ไม่สามารถหลบหนีหรือซ่อนตัวได้ วิธีสุดท้ายในการเอาตัวรอดคือการต่อสู้โดยใช้สติและกำลังทั้งหมดที่มี โดยมองหาจุดบอดของผู้ก่อเหตุให้ได้ หากอยู่รวมกันหลายคนควรช่วยกันต่อสู้เพื่อให้ผู้ก่อเหตุบาดเจ็บให้มากที่สุด นอกจากนี้ สิ่งที่ไม่ควรทำคือการร้องอ้อนวอนขอชีวิต เพราะมักไม่ได้ผล