ดราม่า นักข่าว CNN รุกล้ำหวงห้ามศูนย์เด็กเล็กฯ TJA จี้เร่งชี้แจง ใครอนุญาต
"กราดยิงหนองบัวลำภู" ประเด็นดราม่าที่ถูกพูดถึงและวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก กรณีที่ นักข่าวซีเอ็นเอ็น (CNN) รุกล้ำหวงห้ามศูนย์เด็กเล็กฯ อ.นากลาง ซึ่งเรื่องนี้ ฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย (TJA) จี้ให้เร่งชี้แจง
ประเด็นที่เป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของสำนักข่าวซีเอ็นเอ็น (CNN) ที่รุกล้ำเข้าไปในพื้นที่เกิดเหตุ "กราดยิงหนองบัวลำภู" ศูนย์เด็กเล็ก อ.นากลาง ซึ่งเรื่องนี้ล่าสุดนั้น ฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้ออกมาเรียกร้องให้ซีเอ็นเอ็นชี้แจงเกี่ยวกับเรื่องที่เกิดขึ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- บทเรียน "กราดยิงหนองบัวลำภู" ฆ่าผู้อื่นโดยวางแผนหรืออารมณ์ล้วนๆ ?
- "กราดยิงหนองบัวลำภู" ฌาปนกิจศพครอบครัวผู้สูญเสียเท่านั้น
นายธีรนัย จารุวัสตร์ อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่าฝ่ายสิทธิเสรีภาพฯ ได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนเกี่ยวกับกรณีทีมข่าวของสำนักข่าวซีเอ็นเอ็น (CNN) ได้รุกล้ำเข้าไปในบริเวณเขตหวงห้ามของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กองค์การบริหารส่วนตำบลอุทัยสวรรค์ เพื่อทำการบันทึกภาพข่าวและเผยแพร่ออกอากาศ ทั้งที่บริเวณดังกล่าวเป็นจุดเกิดเหตุที่เจ้าหน้าที่ได้กั้นพื้นที่และห้ามสื่อมวลชนอื่นๆเข้าไปด้านใน หรือที่เรียกว่า crime scene
ถึงแม้ทีมข่าวของซีเอ็นเอ็น (CNN) จะระบุในคลิปที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ว่า การเข้าจุดเกิดเหตุของตน "ได้รับอนุญาตแล้ว" แต่มีรายงานข่าวจำนวนหนึ่งระบุว่า เจ้าหน้าที่ในพื้นที่มิได้อนุญาตให้ซีเอ็นเอ็น หรือบุคคลภายนอกเข้าไปในจุดเกิดเหตุแต่อย่างใด ฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวฯ จึงปรึกษาหารือกัน พร้อมสรุปเป็นความเห็นและข้อเรียกร้องดังต่อไปนี้
1. การปฏิบัติงานและนำเสนอข่าวของทีมข่าวซีเอ็นเอ็น มีลักษณะที่ละเมิดหลักจริยธรรม ขาดการคำนึงถึงความเหมาะสมและสุ่มเสี่ยงอย่างยิ่งที่จะทำให้เกิดการเลียนแบบจากสื่ออื่นๆ
จากการตรวจสอบเบื้องต้นได้พบว่า ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กยังมีสถานะเป็นจุดเกิดเหตุอาชญากรรม มีการกั้นพื้นที่บริเวณโดยรอบอย่างชัดเจน การที่ทีมข่าวซีเอ็นเอ็นเข้าพื้นที่ไปทำข่าว จึงเป็นการรุกล้ำเข้าจุดเกิดเหตุอาชญากรรม ซึ่งต่อให้ได้รับอนุญาตเข้าพื้นที่จริงตามที่ซีเอ็นเอ็นกล่าวอ้าง ทีมข่าวก็ควรใช้วิจารณญาณว่าการเหยียบย่ำเข้าไปในจุดเกิดเหตุอาชญากรรมครั้งสำคัญเช่นนี้ พร้อมนำเอาอุปกรณ์ต่างๆเข้าไปถ่ายทำข่าวจากพื้นที่ ย่อมเป็นเรื่องที่ไม่สมควรทำอย่างยิ่ง
นอกจากนี้ การเสนอข่าวของทีมข่าวซีเอ็นเอ็น มีภาพและคลิปที่มีลักษณะอุจาดหวาดเสียว โดยไม่มีเหตุผลด้านประโยชน์สาธารณะอย่างชัดเจน อีกทั้งยังอาจสร้างความกระทบกระเทือนใจให้ผู้ชม โดยเฉพาะครอบครัวหรือผู้ใกล้ชิดของผู้สูญเสียในเหตุการณ์
อนึ่ง การกระทำของทีมข่าวซีเอ็นเอ็น ยังเสี่ยงที่จะสร้างมาตรฐานที่อันตรายต่อจริยธรรมของบรรดาสื่อมวลชนอื่นๆที่ปักหลักทำข่าวอยู่ด้วย เนื่องจากผู้บริหารหรือบรรณาธิการของสำนักข่าว ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ เมื่อเห็นการเข้าพื้นที่ของซีเอ็นเอ็นก็อาจจะมีคำสั่งหรือกดดันให้ทีมข่าวของตนเองหาทางเอาภาพข่าวหรือเข้าพื้นที่ในลักษณะคล้ายกัน กลายเป็นการเพิ่มโอกาสที่จะมีกรณีนักข่าวหรือช่างภาพละเมิดสิทธิ์หรือรุกล้ำพื้นที่ต้องห้าม เพื่อแข่งขันกันสร้างผลงาน
2. ทั้งต้นสังกัดซีเอ็นเอ็น และเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบในพื้นที่เกิดเหตุ ต้องเร่งสอบสวนกรณีที่เกิดขึ้น และชี้แจงข้อเท็จจริงให้สาธารณชนได้รับทราบอย่างเร่งด่วน เพื่อให้เป็นที่กระจ่างว่า มีการให้อนุญาตซีเอ็นเอ็นเข้าพื้นที่จริงหรือไม่
หากมีการให้อนุญาตจริง ต้องมีคำตอบว่าใครเป็นผู้อนุญาต และให้อนุญาตด้วยเหตุผลอันใด แต่ถ้าหากไม่มีการอนุญาตจริงตามที่ซีเอ็นเอ็นอ้าง ทางต้นสังกัดซีเอ็นเอ็นต้องชี้แจงว่า จะแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมไทยอย่างไร ขณะที่เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ ก็ต้องตอบสังคมด้วยเช่นกันว่าเหตุใดจึงมีการปล่อยปละละเลยให้ทีมข่าวเข้าจุดเกิดเหตุโดยพลการ และจะมีการดำเนินการทางกฎหมายในกรณีนี้หรือไม่ อย่างไร
3. ขอเรียกร้องให้สื่อมวลชนทุกสำนัก นำเอากรณีนี้มาเป็นอุทาหรณ์และถอดบทเรียนร่วมกัน ไม่เลียนแบบหรือแข่งขันกันให้ได้มาซึ่งข่าวหรือภาพในลักษณะคล้ายกัน
ฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวฯ ขอชื่นชมที่สื่อมวลชนทั้งไทยและต่างประเทศส่วนใหญ่ ปฏิบัติหน้าที่และรายงานข่าวเกี่ยวกับโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสมและเป็นไปตามหลักจริยธรรมวิชาชีพสื่อ พร้อมกับเป็นกำลังใจให้สื่อมวลชนที่ปฏิบัติหน้าที่ได้ดีอยู่แล้ว รักษามาตรฐานการทำงานของตนสืบไป
สำหรับกรณีส่วนน้อยที่การนำเสนอข่าวมีปัญหาเชิงจริยธรรมและได้ขออภัยไว้แล้ว ก็ขอเป็นกำลังใจให้แก้ไขปรับปรุงการทำงานและพิสูจน์ตนเองกับสังคมเช่นกัน