กาฬสินธุ์ เฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่ง เร่งอุดรอยรั่วพนังน้ำชี จัดเวรตรวจการ 24 ชม.

กาฬสินธุ์ เฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่ง เร่งอุดรอยรั่วพนังน้ำชี จัดเวรตรวจการ 24 ชม.

กาฬสินธุ์ เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำล้นตลิ่งในพื้นที่ติดริมน้ำชี เร่งอุดรอยรั่วซึมและจุดเสี่ยงพนังกั้นแม่น้ำชี พร้อมจัดเวรยามตรวจการตลอด 24 ชั่วโมง หลังเขื่อนอุบลรัตน์เพิ่มการระบายน้ำวันละ 50 ล้าน ลบ.ม.

เมื่อวันที่ 9 ต.ค. 65 นายศุภศิษย์กอเจริญยศ รองผู้ว่าราชการจังหวัด รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ท้องถิ่นจังหวัดกาฬสินธุ์ ผู้ช่วยหัวหน้าสำนักงาน ปภ.จังหวัดกาฬสินธุ์ ผู้อำนวยการสถานีอุตุนิยมวิทยากาฬสินธุ์ ผู้นำท้องถิ่น ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำและให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานป้องกันแก้ไขปัญหาอุทกภัย ในพื้นที่อำเภอกมลาไสย อำเภอร่องคำ และอำเภอฆ้องชัย เนื่องจากเขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่นมีการเพิ่มปรับการระบายน้ำเพิ่มสูงขึ้น ล่าสุดในวันนี้ระบายน้ำที่50ล้าน ลบ.ม./วัน ทำให้ปัจจุบันน้ำได้ไหลบ่าเข้าพื้นที่ลุ่มต่ำสองฝั่งลำน้ำชีเขตอำเภอโกสุมพิสัย และอำเภอกันทรวิชัย ของจังหวัดมหาสารคาม และเริ่มปริ่มตลิ่งบริเวณริมลำน้ำชี อำเภอฆ้องชัย และอำเภอกมลไสย ของจังหวัดกาฬสินธุ์

จากนั้นได้ลงพื้นที่ติดตามการปฏิบัติงานอุดรอยรั่วซึมตามแนวพนังลำชี บริเวณ กม. 30ต.เจ้าท่า,กม.23ต.ธัญญา,บ.โนนเมือง ต.ดงลิง อำเภอกมลาไสย และติดตามระดับน้ำที่จุดสะพานมิตรภาพโนนเมือง–เหล่าอ้อย ต.เหล่าอ้อย อำเภอร่องคำ นอกจากนี้ยังได้ร่วมบรรจุกระสอบทราย ร่วมกับชาวบ้าน ผู้นำชุมชน ทำคันป้องกันน้ำท่วมวางเป็นแนวตามจุดเสี่ยงต่างๆในพื้นที่ บ้านโนนแดง หมู่ที่1และ2ต.ลำชี อ.ฆ้องชัย ส่วนสถานการณ์น้ำในลำน้ำชี พบว่ายังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงได้มีการสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แจ้งเตือนพี่น้องประชาชนอย่างใกล้ชิดเตรียมพร้อมในการขนย้ายสิ่งของไว้ในที่สูงและพร้อมอพยพได้ทันทีหากเกิดสถานการณ์พร้อมจัดเวรยามตรวจการตลอด 24 ชั่วโมงและเน้นย้ำ อย่าปล่อยให้ลูกหลานลงไปเล่นน้ำอย่างเด็ดขาด เนื่องจากขณะนี้น้ำมีความแรง และเย็น อาจเกิดอันตรายได้
 

ขณะที่สถานการณ์เขื่อนลำปาวปัจจุบันมีปริมาณน้ำอยู่ที่ 1,810.80 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 91.45 เปอร์เซ็นต์จากความจุกักเก็บ 1,980 ล้าน ลบ.ม.ซึ่งยังรับได้อีกกว่า 169.20 ล้านลบ.ม. ซึ่งปัจจุบันปริมาณน้ำที่ไหลเข้าอ่างเริ่มลดลงตามลำดับเฉลี่ยอยู่ที่วันละประมาณ 10ล้าน ลบ.ม.และมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆเนื่องจากฝนในพื้นที่เริ่มตกน้อยลง และทางเขื่อนได้กักเก็บน้ำไว้อย่างเต็มรูปแบบ