16 องค์กร ค้านย้ายมือปราบทุเรียนอ่อน "ชลธี นุ่มหนู" พ้น ผอ.สวพ.6
แถลงการณ์ 16 องค์กรเครือข่ายชาวสวนทุเรียนและผู้ส่งออก ขอทบทวนคำสั่ง กรมวิชาการเกษตร ย้ายมือปราบทุเรียนอ่อน "ชลธี นุ่มหนู" พ้น ผอ.สวพ.6
แถลงการณ์ขอทบทวนคำสั่งย้าย ชลธี นุ่มหนู ผอ.สวพ.6 จาก 16 องค์กรเครือข่ายชาวสวนทุเรียนและผู้ส่งออก
จากคำสั่งโยกย้าย นายชลธี นุ่มหนู ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 ไปรับตำแหน่งผู้อำนวยการกองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช กรมวิชาการเกษตร สร้างความวิตกกังวลให้กลุ่มเกษตรกรและผู้ประกอบการส่งออกผลไม้ ที่ได้ร่วมงานและเห็นการเอาจริงเอาจังในการปฎิบัติหน้าที่ของ ชลธี โดยเฉพาะการตั้งทีมเล็บเหยี่ยวพิทักษ์ทุเรียนไทย เพื่อกวดขันและจับกุมขบวนการค้าทุเรียนอ่อน จนได้รับความชื่นชมจากผู้บริโภคทั้งชาวไทยและชาวจีน ว่าทำให้คุณภาพทุเรียนไทยมีคุณภาพดีขึ้น และสร้างมูลค่าการส่งออกทุเรียนไทยได้มากกว่าปีละกว่าแสนล้านบาท
ทั้งนี้ 16 องค์กรเครือข่ายชาวสวนทุเรียนและผู้ส่งออก ประกอบด้วย
1.สมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนไทยภาคตะวันออก
2.สมาคมทุเรียนไทย
3.สมาคมชาวสวนลำไยจันทบุรี
4.กลุ่มลุ่มน้ำวังโตนด
5.สมาคมผู้ค้าและส่งออกลำไยภาคตะวันออก
6.สมาคมการค้าและการท่องเที่ยวชายแดน ไทย-กัมพูชา
7.สมาคมผู้ผลิตทุเรียนไทย
8.สมาคมชาวสวนผลไม้จังหวัดชุมพร
9.หอการค้าจังหวัดจันทบุรี
10.สมาคมผู้ค้าและส่งออกผลไม้ไทย
11.สถาบันทุเรียนไทย
12. วิสาหกิจชาวสวนทุเรียนจันท์
13.สภาเกษตรจังหวัดจันทบุรี
14.กลุ่มแปลงใหญ่ทุเรียนจันทบุรี
15.สมาคมการค้าธุรกิจเกษตรไทย-จีน
16.สมาคมทุเรียนใต้
ร่วมทำหนังสือเพื่อยื่นคัดค้านการโยกย้าย ชลธี นุ่มหนู ดังนี้
ตามคำสั่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่อ้างถึง ที่ 738/2565 ลงวันที่ 20 ตุลาคม 2565 เรื่องย้ายข้าราชการ รายละเอียดดังความแจ้งแล้วนั้น และท่ามกลางสถานการณ์การแข่งขันของตลาดการส่งออกทุเรียนไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีนปัจจุบันเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากสำนักงานศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (GACC) ได้ประกาศลงวันที่ 27 กรกฎาคม 2565 อนุญาตให้ประเทศเวียดนาม ส่งทุเรียนผลสดเข้าจีนได้เป็นประเทศที่ 2 ซึ่งประเทศเวียดนามถือเป็นประเทศที่เป็นคู่แข่งทางการค้ากับประเทศไทยที่มีข้อได้เปรียบสูง เนื่องจากประเทศเวียดนามมีพรมแดนติดสาธารณรัฐประชาชนจีน ทำให้ระยะทางขนส่งใกล้กว่าประเทศไทย สามารถตัดทุเรียนแก่ที่มีคุณภาพรสชาติได้ดีกว่าของประเทศไทย และทำให้ราคาถูกกว่าประเทศไทย แม้แต่สาธารณรัฐประชาชนจีนได้พัฒนาการปลูกทุเรียนในพื้นที่
แต่ในขณะที่ประเทศไทยยังพบปัญหาการตรวจพบทุเรียนด้อยคุณภาพส่งออกไปยังสาธารรัฐประชาชนจีน ซึ่งเป็นปัญหาสืบเนื่องมาไม่ต่ำกว่า 30 ปี ที่เป็นปัญหาใหญ่ที่ทำลายตลาดทุเรียนไทย อีกทั้งปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายควบคุมคุณภาพทุเรียนบังคับใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพได้อย่างเป็นรูปธรรม ในขณะสาธารรัฐประชาชนจีนมีความต้องการทุเรียนแก่จัดและมีคุณภาพสูง ปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบทำให้ราคาทุเรียนไม่เสถียร ความน่าเชื่อถือ ความมั่นใจของผู้บริโภคคนจีนลดลง และอาจมีการลดการนำเข้าในอนาคตหากมีประเทศทางเลือกที่ดีกว่า
ในช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิตทุเรียนภาคตะวันออกในปี 2563 ได้มีการตรวจพบปัญหาทุเรียนอ่อนมากกว่าทุกปีที่ผ่านมา ดังนั้น ในช่วงการเก็บเกี่ยวทุเรียนในภาคตะวันออกในปี พ.ศ.2564 นายชลธี นุ่มหนู ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 สังกัด กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้ก่อตั้งชุดปฏิบัติการ “ทีมเล็บเหยี่ยว” เพื่อตรวจจับแก้ปัญหาทุเรียนอ่อน ทุเรียนด้อยคุณภาพ ทีมเล็บเหยี่ยวทำงานอย่างจริงจังท่ามกลางปัญหาอุปสรรคที่ต้องฝ่าฟัน การดำเนินการด้านมาตรฐาน GAP ในส่วนของผลไม้เพื่อการส่งออก ทุเรียน ลำไย มังคุด ฯลฯ ของภาคตะวันออกสามารถส่งขายได้อย่างราบรื่น
อีกทั้ง ชลธี นุ่มหนู มีส่วนในการผลักดันเรื่องการกำหนดมาตรฐาน GMP Plus และ GAP Plus เพื่อยกระดับมาตรฐานการจัดการผลไม้ที่ปลอดจากการปนเปื้อนเชื้อโควิด-19 โดยตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา พบทุเรียนด้อยคุณภาพน้อยลงอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยจากการรายงานของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรใน ปี พ.ศ.2563 ซึ่งเป็นปีที่ตรวจพบปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพมากกว่าทุกปีที่ผ่านมานั้น พบมูลค่าการส่งออกทุเรียนผลสด ประมาณ 6.5 หมื่นล้านบาท
แต่ในปี พ.ศ.2564 หลังจากมีมาตรการตรวจจับทุเรียนอ่อน และทุเรียนด้อยคุณภาพ โดยชุดปฏิบัติการ “ทีมเล็บเหยี่ยว” และท่ามกลางการณ์การเข้มงวดจากมาตรการ Zero covid บนผลไม้ที่ส่งออกไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน พบมูลค่าของทุเรียนผลสด มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นเป็น 1 แสนล้านบาท ซึ่งมูลค่าเพิ่มขึ้นสูงกว่าปี พ.ศ.2563 คิดเป็นร้อยละ 60.1 คุณภาพทุเรียนไทยที่ตลาดปลายทางได้รับคำชื่นชมและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคชาวจีนมีมากขึ้น ราคามีเสถียรภาพ ลดปัญหาการใช้ทุเรียนด้อยคุณภาพเป็นข้ออ้างในการลดราคาหน้าสวน เป็นผลให้ทุเรียนไทยที่ส่งออกไปยังตลาดปลายทางมีคุณภาพโดยรวมดีขึ้นเป็นอย่างมาก ส่งผลทำให้ชาวสวนทุเรียนมีอาชีพที่มั่นคง มีรายได้ที่ดีจากการดำเนินนโยบายควบคุมคุณภาพจากภาครัฐ
จากการแก้ไขปัญหาดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งที่มีผลทำให้ปัจจุบันทุเรียนเกิดขึ้นใหม่ในหลายพื้นที่ของประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น ถึงกระนั้น ปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพที่ใหญ่มากอย่างทุเรียนอ่อนยังต้องมีการดำเนินการแก้ไขปัญหาและตรวจจับทุเรียนอ่อนต่อไปจนกว่าจะมีกฎหมายที่มีประสิทธิภาพและผู้บังคับใช้กฎหมายที่เด็ดขาดมากำกับดูแล เพื่อความยั่งยืนของภาคเกษตรไทยและรักษาพืชเศรษฐกิจของไทยที่สร้างมูลค่าให้กับประเทศไทย ให้เป็นอันดับหนึ่ง คือ “ทุเรียน” มิเช่นนั้นแล้วปัญหาราคาตกต่ำซ้ำรอยที่เคยเกิดกับพืชที่เคยเป็นพืชเศรษฐกิจไทยที่ผ่านมา อาทิ ข้าวหอมมะลิ ลำไย และมะม่วง เป็นต้น
ทั้งนี้เป็นที่ทราบกันดีว่า “ทุเรียน” เป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้จากการส่งออกให้กับประเทศไทยถึงแสนล้านบาท ซึ่งมากกว่าสินค้าเกษตรอื่นๆ กลไกขับเคลื่อนในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้นจำเป็นต้องอาศัยความคุ้นเคยในพื้นที่ มีทักษะความเชี่ยวชาญชำนาญเฉพาะด้านของบุคคลที่สะสมมานาน ต้องเป็นผู้ที่มีความชำนาญที่เข้าใจปัญหา และมีความมุ่งมั่นในการควบคุมดูแลคุณภาพของผลไม้มารับผิดชอบโดยตรง ซึ่ง นายชลธี นุ่มหนู ถือเป็นบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญชำนาญด้านผลไม้ภาคตะวันออกเป็นอย่างดี เนื่องจากมีภูมิลำเนาเกิดในพื้นที่ภาคตะวันออก ครอบครัวมีอาชีพเกษตรกรรม และเป็นข้าราชการกรมวิชาการเกษตรอยู่ในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี ไม่ต่ำกว่า 30 ปี
ทำให้ ชลธี นุ่มหนู รู้ปัญหาและแนวทางแก้ไขปัญหาทั้งระบบ ตั้งแต่การผลิต จนถึงการส่งออก ได้อย่างแท้จริง ดังนั้นจะเห็นได้ว่านายชลธี นุ่มหนู จึงเป็นบุคคลที่มีความพร้อมทั้งองค์ความรู้ ประสบการณ์ ที่หาได้ยากที่ทุ่มเทแรงกายแรงใจในแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้อย่างเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน เพื่อรักษาตลาดทุเรียนของประเทศไทย ตามที่ประจักษ์เห็นได้ในปัจจุบัน
ในการนี้ เครือข่ายองค์กรผลไม้และผู้ประกอบการส่งออก จำนวน 16 หน่วยงาน ได้เล็งเห็นผลกระทบจากคำสั่งที่อ้างถึงข้างต้น ต่อระบบการส่งออกทุเรียนไทยไปยังสาธารรัฐประชาชนจีน ทั้งตลอดระบบห่วงโซ่คุณค่า เครือข่ายองค์กรผลไม้และผู้ประกอบการส่งออก จึงได้ลงความเห็นควรขอให้ท่านมีการทบทวนคำสั่งแต่งตั้ง นายชลธี นุ่มหนู ตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 กรมวิชาการเกษตร ให้ไปดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการกองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช กรมวิชาการเกษตร อีกครั้ง เพื่อประโยชน์ต่อความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนของเกษตรกรและประเทศไทยต่อไป
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาการทบทวนคำสั่งอีกครั้งซึ่งหลังจากมีการลงนามจาก 16 องค์กรเครือข่ายชาวสวนทุเรียนและผู้ส่งออก จะมีการส่งตัวแทนเพื่อไปยื่นหนังสือทบทวนคำสั่งโยกย้ายที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์อีกครั้ง