"บางกอกแอร์เวย์" เล็งเปิดบินเส้นทาง "หาดใหญ่-เบตง"
สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวเบตง หารือ บางกอกแอร์เวย์ เปิดบินเส้นทาง "หาดใหญ่ – เบตง - หาดใหญ่" หลังสายการบิน "นกแอร์" หยุดทำการบินเส้นทางกรุงเทพฯ-เบตง
เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 65 นายนรินทร์ เรืองวงศา อุปนายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวอำเภอเบตง กล่าวว่า กรณีนกแอร์จะหยุดทำการบินเส้นทางกรุงเทพฯ-เบตง เมื่อวันที่ 28 ต.ค.ผ่านมา เนื่องจากต้นทุนราคาตั๋วเครื่องบินสูง แต่ที่ผ่านมาทำตลาดได้เพราะรัฐบาลและ ททท.สนับสนุน โดยที่ผ่านมาสายการบินนกแอร์ ได้เปิดให้บริการเส้นทางกรุงเทพฯ(ดอนเมือง)-เบตง(ยะลา) 3 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ทุกวันอังคาร ศุกร์ และอาทิตย์ ซึ่งเป็นความร่วมมือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) สมาคมส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยว(สธทท.), และบริษัททัวร์ต่างๆ ที่ร่วมกันจัดแคมเปญ “เบตง หรอยแรง แหล่งใต้ สไตล์เบตง ” และหลังสิ้นสุดแคมเปญ “เบตง หรอยแรง แหล่งใต้ สไตล์เบตง เฟส 2”ในสิ้นเดือน ต.ค.65 จะมีการยุติการเหมาที่นั่งนกแอร์เส้นทาง กรุงเทพ – เบตง เนื่องจากทางสายการบินนกแอร์อ้างว่ามีต้นทุนสูงมากในการบินมาเบตง ส่วนหลังจากนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไร
โดย นายภาณุ อุทัยรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวเบตง ได้หารือกับทาง บางกอกแอร์เวย์ได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่า จะเปิดบินเส้นทาง “หาดใหญ่ – เบตง - หาดใหญ่” ใช้ระยะเวลา 25 นาที และราคาอยู่ที่ประมาณ 1.200 -1.500 บาท ถูกกว่าบินตรงจาก กรุงเทพ-เบตง โดยขณะนี้กำลังเสนอเรื่องไปยังกระทรวงคมนาคม เพื่อให้ปลัดกระทรวงคมนาคมอนุมัติ จากนั้นจะมีการเซ็นเอ็มโอยูระหว่างกันอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งตั้งแต่เปิดบริการช่วงปลายเดือน เม.ย.65 ได้รับการตอบรับอย่างดีจากผู้โดยสาร ส่วนใหญ่เป็นผู้โดยสารแบบกรุ๊ปทัวร์ประมาณ 80-90% ขณะที่ผู้โดยสารทั่วไปประมาณ 10-20%
ด้านกรมท่าอากาศยาน แจ้งว่า ขณะนี้กลุ่มที่ปรึกษาโครงการออกแบบงานก่อสร้าง พร้อมศึกษาการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) ขยายทางวิ่ง(รันเวย์) ทางขับ(แท็กซี่เวย์) ลานจอดเครื่องบิน พร้อมระบบไฟฟ้าสนามบิน และส่วนประกอบอื่นๆ ท่าอากาศยานเบตง จ.ยะลา ได้ส่งผลการศึกษาฯ มายังกรมท่าอากาศยาน แล้ว และจะเสนอผลการศึกษาต่อสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) และกระทรวงคมนาคม ก่อนเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาต่อไป และเปิดบริการประมาณปี 71 สำหรับการขยายรันเวย์ครั้งนี้ จะเพิ่มความยาวจากเดิม 1,800 เมตร เป็น 2,500 เมตร เพิ่มขึ้น 700 เมตร โดยขยายไปทางทิศตะวันตก 375 เมตร และทางทิศตะวันออก 325 เมตร เมื่อแล้วเสร็จจะรองรับเครื่องบินขนาดใหญ่ 180 ที่นั่งได้ อาทิ แอร์บัส A320 และโบอิ้ง B-737 จากปัจจุบันรองรับได้เพียงเครื่องบินขนาด 80 ที่นั่ง อาทิ Q400 และ ATR 72 นอกจากนี้จะขยายลานจอดอากาศยานจากเดิมที่มีขนาด 94x180 เมตร เป็นขนาด 94x240 เมตร ทำให้สามารถจอดอากาศยานขนาด 180 ที่นั่งได้พร้อมกัน 3 ลำ
ส่วนสาเหตุที่ไม่สร้างรันเวย์ให้ยาว 2,500 เมตรไปในคราวเดียวไม่ต้องมาขยายเพิ่มเติมอีก เนื่องจากการออกแบบรันเวย์ขึ้นอยู่กับความจำเป็น การศึกษาเมื่อปี 50 พบว่าจะมีปริมาณผู้โดยสาร และเที่ยวบินในขนาดรันเวย์ที่ 1,800 เมตร รองรับได้อย่างเพียงพอ เมื่อเวลาผ่านไปการคาดการณ์ปริมาณผู้โดยสารและเที่ยวบินเปลี่ยนไปจึงขยายเพิ่มภายหลัง.
ขณะที่คนในพื้นที่บอกว่า หากมีโครงการเราเที่ยวด้วยกันอีก ก็จะสามารถดึงนักท่องเที่ยวเดินทางมาเบตงได้มาก โดยที่ผ่านมานักท่องเที่ยวต่างบอกว่าโครงการดังกล่าว สามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวได้มากโดยราคามัดรวมกันแล้วไม่ถึง 10,000 บาทโดยใช้เวลาท่องเที่ยวใน เบตง 2วัน 3 คืนที่ผ่านมา รัฐบาลและ ททท.ได้ให้การสนับสนุน รวมทั้ง การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สมาคมส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยว(สธทท.)และบริษัททัวร์ต่างๆ ได้ร่วมกันจัดแคมเปญที่ผ่านมามีการบินต่อสัปดาห์ ทุกวันอังคาร ศุกร์ และอาทิตย์ ก็มีผู้โดยสารเต็มทุกเที่บวบิน