กระแสเอเปค 2022 ดันออเดอร์ "ปลากุเลา" เมืองตรังพุ่งกว่า 30%
กระแสแรงไม่ตก "ปลากุเลา" เมืองตรัง ออเดอร์พุ่งกว่า 30% ผลจาก "ปลากุเลาเค็มตากใบ" ถูกเลือกเป็นวัตถุดิบชูรสชาติในเมนูเลี้ยงต้อนรับผู้นำเอเปค 2022
เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2565 ที่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแม่บ้านเกษตรกรบ้านโคกวา หมู่ 6 ต.หาดสำราญ จ.ตรัง ซึ่งเป็นกลุ่มแปรรูปอาหารทะเลที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของ จ.ตรัง ประเภท "ปลากุเลา" และ ปลาสีเสียด แบบกางมุ้ง โดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งมีสมาชิกทั้งหมด 13 คน นำโดยนางเกษร ณ พัทลุง อายุ 62 ปี ประธานกลุ่มฯ
โดยกลุ่มนี้เปิดมานานกว่า 10 ปีแล้ว วันนี้พบว่ากำลังเร่งจัดเตรียมสินค้า เพื่อจะส่งให้กับลูกค้าที่สั่งซื้อเข้ามาจำนวนมาก จากลูกค้าในจ.ตรัง และต่างจังหวัดที่เคยซื้อสินค้าจากกลุ่มมาก่อนแล้ว ปรากฏว่าในขณะนี้หลังกระแส "ปลากุเลาเค็มตากใบ" จ.นราธิวาส มาแรงในช่วงการประชุมเอเปค ทำให้ทางกลุ่มได้รับผลดีตามไปด้วย เพราะมีลูกค้าทั้งในจ.ตรัง และต่างจังหวัด ถามหาอยากได้ปลากุเลากันมากขึ้น จึงพยายามถามหาแหล่งอื่นๆ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ลูกค้าที่เคยเป็นลูกค้าของกลุ่มมาโดยตลอด ซึ่งก็ชื่นชอบในรสชาติปลากุเลาของกลุ่ม และราคาไม่แพง ก็อยากจะแนะนำให้คนอื่นๆได้รู้จัก รวมทั้งซื้อส่งไปให้เป็นของฝากกับคนที่รู้จัก และคนที่เคารพนับถือกันจำนวนมาก โดยในช่วงเวลาสั้นๆนี้ มีออเดอร์เข้ามายอดพุ่งจากเดิมกว่า 30% จนทางกลุ่มต้องเร่งจัดหาวัตถุดิบจากชาวประมงในพื้นที่ รีบนำมาขอดเกล็ด และเข้ากระบวนการแปรรูปอย่างเร่งด่วน เพราะออเดอร์เข้ามาจำนวนมาก
จากเดิมปลาเค็มกางมุ้งทั้ง "ปลากุเลา" และปลาสีเสียด ยอดขายปกติประมาณเดือนละ 400 กก. หรือประมาณ 50,000 บาทต่อเดือน หรือปีละประมาณ 600,000 บาท แต่ขณะนี้ออเดอร์พุ่งสูงขึ้น จนต้องเร่งมือจัดทำ เพื่อจัดส่งโดยเร็วที่สุด แต่กระบวนการทำปลากุเลา แต่ละครั้งจะต้องใช้เวลาประมาณ 15 วัน จึงจะแล้วเสร็จและจัดส่งได้
โดยเฉพาะปลากุเลา วัตถุดิบจะหาได้เพียงปีละ 4 เดือนเท่านั้น คือ ตั้งแต่เดือนตุลาคม -มกราคมของทุกปี จะเป็นช่วงที่ปลากุเลาขึ้น ทำให้ชาวประมงจับได้ แต่ระยะเวลาที่เหลืออีกประมาณ 8 เดือน ส่วนใหญ่จะเป็นปลาสีเสียด สามารถแปรรูปขายได้ทั้งปี แต่ทั้งนี้ แต่ละปีเมื่อถึงช่วงเดือนของปลากุเลาขึ้น ทางกลุ่มก็จะวางแผนรองรับไว้ เร่งนำปลามาทำในทันที จะไม่นำไปแช่แข็ง เพื่อให้ปลากุเลาและปลาสีเสียดที่ได้สดใหม่
ทั้งนี้ เมื่อทำปลาสดๆ และผ่านกระบวนการแล้ว สามารถจัดซีลระบบสูญญากาศ และเก็บได้นานหลายเดือน อร่อย มีกลิ่นหอม โดยในปีนี้ทางกลุ่มเริ่มจัดหาปลากุเลามาทำไว้ประมาณ 2 เดือนแล้ว จึงโชคดีทำให้มีสินค้าส่งได้ตามออเดอร์ โดยราคาขายนั้น ปลากุเลา ราคากก.ละ 700 บาท ส่วนปลาสีเสียด มี 2 แบบ คือ แบบเนื้อส้ม ราคา ขาย กก.ละ 300 บาท
ปลาเค็มแดดเดียว ตัดเอาแต่เนื้อกก.ละ 350 บาท ถ้าปลาเค็มแดดเดียวทั้งตัว กก.ละ 300 บาท ทางด้านสำนักงานเกษตร เตรียมติดต่อประสานทำ MOU ขอซื้อเกลือจากแหล่งผลิต 3 จังหวัดภาคใต้ เพื่อต้องการจะช่วยกลุ่มวิสาหกิจฯลดต้นทุน และยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์ ต้นทุนการผลิต เช่นเดียวกับหลายหน่วยงาน ทั้งเกษตร พลังงานจังหวัด ธกส. และพัฒนาชุมชน ช่วยกันอย่างเต็มที่
ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแม่บ้านเกษตรกรบ้านโคกวาเกษร ณ พัทลุง กล่าวว่า ปกติ ปลาเค็มกางมุ้ง ทั้งปลาสีเสียด และปลากุเลา ของกลุ่มจะขายดี เดือนละประมาณ 400 กก.รายได้เข้ากลุ่มเดือนละกว่า 50,000 บาท หรือปีละประมาณ 600,000 บาท แต่ขณะนี้กระแสปลากุเลาดัง ทำให้ได้รับผลดีไปด้วย เพราะลูกค้าก็พยายามหาแหล่งซื้อ จึงสั่งซื้อเข้ามาจำนวนมากสูงขึ้นกว่า 30% เพื่อนำไปเป็นของฝากส่งไปให้กับคนที่เคารพนับถือจำนวนมาก รวมทั้งปลาสีเสียดยอดขายก็ดีขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน
โดยปลากุเลาของกลุ่มขายในราคากก.ละ 700 บาทเท่านั้น เนื่องจากทางกลุ่มอยู่ใกล้แหล่งวัตถุดิบ โดยรับซื้อจากชาวประมงในพื้นที่ ทำให้ต้นทุนไม่สูงเหมือนแหล่งอื่น จึงยังขายในราคานี้ได้ โดยปลากุเลาแต่ละปีจะปลาขึ้นในทะเลเพียง 4 เดือน ที่ชาวประมงจับได้ คือ ตั้งแต่เดือนตุลาคม – มกราคม หลังจากนั้นก็ไม่มี โดยปลาเค็มของกลุ่มจะเน้นสดใหม่ เมื่อเรือประมงเข้ามา ก็จะมีคนนำขายให้ ทางกลุ่มก็จะรีบทำ ผ่านกระบวนการแปรรูปในทันที เน้นความสดใหม่ของปลา และรสชาติไม่เค็มมาก