คุณภาพ มาตรฐาน และมืออาชีพ | วิฑูรย์ สิมะโชคดี
ทุกวันนี้คนที่ทำอะไรแบบ “มืออาชีพ” เท่านั้นจึงจะอยู่รอดปลอดภัย และประสบความสำเร็จในชีวิตได้อย่างยั่งยืนยาวนาน
“มืออาชีพ” ในที่นี้หมายถึง การมีความรู้ความสามารถ มีความเชี่ยวชาญและมีความชำนาญยิ่งในวิชาชีพของตน (ในงานที่ตนทำอยู่) จนปฏิบัติงานได้อย่างมีคุณภาพ และเป็นไปตามมาตรฐาน สามารถบรรลุเป้าหมายอย่างถูกต้องครบถ้วนและเป็นที่ยอมรับของหัวหน้า ลูกค้า และผู้ที่เกี่ยวข้อง
มืออาชีพจะต้องเป็นผู้ที่มีความมุ่งมั่น ทำอะไรก็ตั้งใจทำอย่างจริงจัง เพื่อให้เกิดผลงานที่สม่ำเสมอและดีที่สุด เป็นไปตามที่ผู้มีส่วนได้เสียคาดหวังไว้
พูดง่ายๆ ว่า เราจำเป็นต้องพัฒนาตนเองให้เป็น “มืออาชีพ” ในทุกบทบาททุกหน้าที่และทุกตำแหน่งที่ทำอยู่ให้ได้ คือ เราสามารถทำงานบรรลุเป้าหมาย (ได้ผลลัพธ์ หรือ ผลงาน) ตามที่ระบุไว้ใน “ใบพรรณาคุณลักษณะงาน” (Job Deseription : JD) หรือ “มาตรฐาน” ของตำแหน่งหน้าที่นั้นๆ
โดยทำได้ผลลัพธ์ (ผลงาน) ที่มีคุณภาพเหมือนกันทุกครั้ง (หรือใกล้เคียงกันทุกครั้ง) ซึ่งทำให้ผู้บังคับบัญชา เพื่อนร่วมงาน ลูกค้า พีงพอใจ (จนถึงขั้นประทับใจ) ดังนั้น “มืออาชีพ” จึงมีโอกาสก้าวหน้าและประสบความสำเร็จ เพราะทำงานได้ผลตามที่องค์กร ผู้บริหาร และลูกค้าคาดหวังไว้ (สร้างคุณค่าได้ตามที่กำหนดหรือมากกว่า)
ความเป็นมืออาชีพเท่านั้น จึงจะสามารถทำได้ตามความคาดหวังของลูกค้าและผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น ทอดไข่เจียวหมูสับหรือผัดกระเพราได้รสชาติเหมือนกันทุกครั้ง ทำงานเสร็จตามเวลา ทำงานได้คุณภาพเหมือนเดิม ทำงานผิดพลาดน้อย จนหัวหน้าหรือผู้บังคับบัญชาไม่ผิดหวังและเชื่อถือไว้วางใจ ลูกค้าก็เกิดความเชื่อมั่น องค์กรก็เติบโต เป็นต้น
ลองคิดดูนะครับว่า ถ้าเราทอดไข่เจียวแล้วรสชาติไม่เหมือนกันเลยสักครั้งเดียว จะมีใครเป็นลูกค้าประจำของเราไหม เพราะที่เราติดใจร้านอาหารหนึ่งๆ ก็เพราะแม่ครัวทำอาหารมีรสชาติเหมือนกันทุกครั้ง คือ มั่นใจว่าอร่อยเหมือนเดิม เราก็เลยอุดหนุนเป็นลูกค้าประจำ
คนที่เป็น “มืออาชีพ” จึงมีโอกาสก้าวหน้าและประสบความสำเร็จในชีวิตมากกว่าผู้ปฏิบัติงานและผู้บริหารทั่วๆ ไปที่เป็น “มือสมัครเล่น” ดังนั้น การจะเป็น “มืออาชีพ” ได้ ก็ต้องลงทุนลงแรง ศึกษา เรียนรู้ ฝึกฝน และทำอย่างต่อเนื่อง เราจึงได้ยินเสมอๆ ว่า นาย ก. เป็นนักกอล์ฟมืออาชีพ นาย ข. เป็นนักแสดงมืออาชีพ นักพูดตัวยง นักเขียนมือโปร เซียนพนัน เป็นต้น
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ นักยกน้ำหนักหญิง “สู้โว้ย สู้โว้ย” ของเราที่เป็นแชมป์โอลิมปิกของโลก (คุณอุดมพร พลศักดิ์) เธอต้องฝึกยกน้ำหนักอาทิตย์ละหลายวัน วันละหลายชั่วโมง ฝึกสม่ำเสมอทุกวันถึง 4 ปีเต็ม เพียงเพื่อแข่งขันยกน้ำหนักไม่ถึง 60 วินาที ก็ถูกตัดสินอนาคต (แพ้ชนะ) เลย
แต่นี้ไปเราจึงต้องพัฒนา “ความรู้” “ทักษะ” และ “ความสามารถ” ต่างๆ ที่จำเป็น เพื่อเป็น “พื้นฐานที่แข็งแกร่ง” และรองรับหรือพิสูจน์ความเป็นมืออาชีพของเราให้ได้ อาทิ เรื่องต่อไปนี้
(1) รู้จริงในสิ่งที่ทำ คือ มีความรู้ความเข้าใจในงานที่ทำอยู่ ในตำแหน่งที่เป็นอยู่ ในบทบาทและภาระกิจที่รับผิดชอบอยู่ รวมถึงการรู้จริงในธุรกิจอุตสาหกรรมที่เราประกอบกิจการอยู่ การรู้จริงในเรื่องที่ทำอยู่ ทำให้เรารู้จุดแข็งจุดอ่อน รู้ปัจจัยแห่งความสำเร็จ รู้ขั้นตอนงาน ฯลฯ จึงสามารถปรับปรุงงานให้ดีขึ้นและถูกต้อง และมีประสิทธิภาพสูงสุดได้ สร้างความเชื่อมั่นให้แก่หัวหน้า ลูกน้อง เพื่อนร่วมงาน และลูกค้าได้
(2) การบริหารจัดการ “เวลา” อย่างมีประสิทธิภาพ
(3) การเพิ่มผลิตภาพ (ทำน้อยได้มาก)
(4) การคิดเชิงวิเคราะห์
(5) การทำงานเป็นทีม
(6) ความเป็นผู้นำ และเรื่องอื่นๆ ที่จะทำให้เราก้าวสู่ความเป็น “มืออาชีพ” เป็นต้น
ดังนั้น ในยุค 4.0 นี้ เราต้องพัฒนาความสามารถในการเรียนรู้ให้เร็วขึ้นและมากขึ้น พร้อมทั้งการลงมือทำจริงเพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์ที่ตกผลึกจนเป็น “วิธีคิดวิธีทำ” ที่ได้ผลเพื่อผลิตภาพในอนาคต ซึ่งผู้คนและผู้มีส่วนได้เสียจะได้เชื่อถือ ศรัทธา และยอมรับในความเป็น “มืออาชีพ” ของเรา
ทุกวันนี้ ความเป็นมืออาชีพจึงต้องเป็นคนที่มีคุณภาพ และสามารถทำงานได้ตามมาตรฐานวิชาชีพ หรือมาตรฐานของงานนั้นๆ ด้วย (สิ่งที่ต้องมีเพิ่มเติมในวันนี้ ก็คือ มืออาชีพจะต้องมีจริยธรรม และมีความรับผิดชอบต่อสังคมในวิชาชีพนั้นๆ ด้วย)
พวกมือสมัครเล่น และพวกที่ชอบทำอะไรแบบขอไปทีเพื่อให้งานเสร็จๆ ไป หรือพวกที่ไม่รู้จริงในธุรกิจอุตสาหกรรมที่ทำอยู่ ก็คงจะอยู่ได้ไม่นานและไปไม่รอดในที่สุด ผมขอปิดท้ายบทความวันนี้ด้วยบทกลอนของ “สุนทรภู่” ที่ยังคงอมตะถึงทุกวันนี้ ซึ่งสามารถแยกแยะ “มืออาชีพ” ออกจาก “มือสมัครเล่น” ได้ นั่นคือ “อันความรู้รู้กระจ่างแต่อย่างเดียว แต่ให้เชี่ยวชาญเถิดจะเกิดผล” ครับผม !