ชุมชนที่ยั่งยืน | ดร.วิฑูรย์ สิมะโชคดี
ทุกวันนี้ กระแสการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของชุมชนต่างๆ กำลังขยายวงกว้างออกไปอย่างรวดเร็วในสังคมไทย โดยเฉพาะความมุ่งมั่นในเรื่องของการสร้าง “ชุมชนยั่งยืน” บนพื้นฐานของ “การพัฒนาที่ยั่งยืน” ตาม “เป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน” (SDGs 17 ข้อ) ในปัจจุบัน
องค์การสหประชาชาติ (UN) ได้ให้คำจำกัดความของคำว่า “การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable development)” ไว้ดังนี้ “Sustainable development is development that meets the need of the present without compromising the ability of future generations to meet their own needs” (การพัฒนาที่ยั่งยืน คือ การพัฒนาที่สนองความต้องการของปัจจุบัน โดยไม่ทำให้ประชาชนรุ่นต่อไปในอนาคตต้องประนีประนอมยอมลดความสามารถของเขาในการที่จะสนองความต้องการของเขาเอง)
ในขณะที่หนังสือ “Global Ecology Handbook” ให้ความหมายของ “การพัฒนาที่ยั่งยืน” คือ “นโยบายที่สนองความต้องการของประชาชนในปัจจุบัน โดยไม่ทำลายทรัพยากรซึ่งจะเป็นที่ต้องการในอนาคต”
บทความในวันนี้ ผมขอสรุปจากผลการถอดบทเรียนของ องค์ความรู้ และผลสำเร็จจากการดำเนินงานในโครงการต่างๆ ด้านการส่งเสริมและรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดย “กองทุนสิ่งแวดล้อม” (สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) และ “มูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย” มาถ่ายทอดและเผยแพร่ เพื่อเราจะได้รับรู้ เข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของ “ความร่วมมือกัน” เพื่อจะได้รักษาทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมของประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป
ประสบการณ์ที่เกิดจากการดำเนินโครงการส่งเสริมและรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้สะท้อนให้เห็นถึง “ความร่วมมือของภาคส่วนต่างๆ” ทั้งชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันการศึกษา หน่วยงานราชการ ภาคประชาสังคม และภาคเอกชน ที่มีความเกี่ยวข้องกับการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ เพื่อมุ่งสู่ “การพัฒนาที่ยั่งยืน” ผ่านกิจกรรมที่ร่วมกันออกแบบกลไก มาตรการ ในการป้องกัน รักษาพื้นที่ป่า แหล่งน้ำ และทรัพยากรในท้องถิ่น โดยตระหนักว่าชุมชนท้องถิ่นโดยรอบยังต้องพิ่งพิงทรัพยากรจากป่าและธรรมชาติในการดำรงชีวิต อีกทั้งมีการสื่อสารให้มีความเข้าใจที่ตรงกัน เพื่อจะช่วยสร้างความร่วมมือในการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรอย่างจริงจังได้มากขึ้น
องค์ความรู้ที่เกิดจากการติดตามความสำเร็จและความยั่งยืนของโครงการต่างๆ ในแต่ละพื้นที่ พบว่ามีการให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง จากพื้นที่ป่าต้นน้ำบนเทือกเขาสูง สู่ลุ่มน้ำ ลำน้ำสาขา ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง สู่พื้นที่ราบลุ่มภาคกลางและพื้นที่ชุ่มน้ำชายฝั่งทะเล โดยเชื่อมโยงกับนโยบายของภาครัฐและการลดผลกระทบต่อผู้คนที่พึ่งพาทรัพยากรเหล่านั้น
หลายโครงการมุ่งเน้นการทำงานด้านสิทธิในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติของชุมชน นำไปสู่การฟื้นฟู อนุรักษ์และใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน บางโครงการเน้นไปที่การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่น การแก้ปัญหาหมอกควันจากไฟป่า หรือการป้องกันและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมโดยการส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์ และวนเกษตร บางโครงการเน้นไปที่การอนุรักษ์ความหลากหลายของพืชและสัตว์น้ำในพื้นที่ของตน เป็นต้น
ขณะที่บางโครงการเน้นความสำคัญในการนำประวัติศาสตร์ท้องถิ่นมาเชื่อมโยงกับธรรมชาติเพื่อกระตุ้นให้ผู้เกี่ยวข้องตระหนักถึงคุณค่าของสิ่งที่ตนมี นำไปสู่การรักษาธรรมชาติและสืบสานประวัติศาสตร์ หลายโครงการมีการใช้ภูมิปัญญาพื้นบ้าน เพื่อเป็นฐานในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งได้บันทึก ถ่ายทอด เผยแพร่ความรู้เหล่านั้นให้คงอยู่สู่คนรุ่นหลัง หลายโครงการก็เชื่อมโยงการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เข้ากับสุขภาพ รายได้ และความกินดีอยู่ดี รวมถึงยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนด้วย
ทั้งหมดทั้งปวงนี้ ปัจจัยแห่งความสำเร็จที่สำคัญ ได้แก่ (1) การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง (2) การสร้างและเสริมความเข้มแข็งของภาคีเครือข่าย และ (3) การพัฒนาศักยภาพของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลักในโครงการ ไม่ว่าจะเป็นชุมชนท้องถิ่น กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มสตรี ผู้สูงอายุ กลุ่มเยาวชน หรือเจ้าหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
การดำเนินงานของหลายๆ โครงการได้นำไปสู่ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาต่างๆ อย่างยั่งยืนด้วย รวมทั้งการดำเนินงานในชุมชนเมือง ซึ่งมีกิจกรรมที่เชื่อมโยงภาคธุรกิจเอกชนและภาคประชาสังคมเข้าด้วยกัน จนนำไปสู่การจัดการเมืองที่คำนึงถึงผู้อยู่อาศัยและผู้มาเยือนแบบองค์รวม
ความสำเร็จของโครงการด้านการส่งเสริมและรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยังได้นำเสนอถึงจุดแข็งและกิจกรรมเด่นๆ ของแต่ละพื้นที่ที่ดำเนินโครงการ ตลอดจนได้รวบรวมถึงข้อจำกัด ข้อพึงระวัง รวมทั้งความท้าทายและแนวทางเพื่อการพัฒนาสู่ความยั่งยืน เพื่อให้สามารถนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ข้างหน้า และความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นระบบ
ทุกวันนี้ “การมีส่วนร่วมของชุมชนและทุกภาคส่วน” โดยการส่งเสริมให้ทุกคนในชุมชนมีพลังอำนาจ (Empower) ในการตัดสินใจและมีส่วนร่วมในการดำเนินการในเรื่องต่างๆ ซึ่งเกิดจากความร่วมมือกันอย่างจริงจัง จึงเป็นการส่งเสริมและรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน พร้อมๆ กับการสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง เพื่อเป็น “ชุมชนที่ยั่งยืน” อย่างแท้จริง จึงเป็นคุณสมบัติที่สำคัญยิ่งของ “ผู้นำ” ในปัจจุบันและในยุคดิจิทัล 4.0
วันนี้ “เก่งคนเดียว” จึงสู้ “เก่งเป็นทีม” และ “เก่งทั้งชุมชน” ไม่ได้ ครับผม !