สาธารณสุขตรวจเข้มเตือนแพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์ ห้ามขาย "ช่อดอกกัญชา"
รองโฆษกรัฐบาล เผย สาธารณสุขตรวจเข้มเตือน แพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์ ห้ามเปิดให้ขาย "ช่อดอกกัญชา" ด้านกรมการแพทย์เผยผลศึกษาใช้สารสกัด "กัญชา" ในผู้ป่วยระบบประสาทเห็นผลช่วยคุณภาพชีวิตดีขึ้น
เมื่อวันที่ 4 ธ.ค.65 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข ได้กำชับหน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุขให้ดูแลการใช้ประโยชน์จาการ "กัญชา" ให้เป็นไปตามกฎหมายโดยเฉพาะประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง สมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ. 2565 ฉบับลงวันที่ 11 พ.ย. 65 และมีผลบังคับเมื่อวันที่ 24 พ.ย. 65 ที่เน้นควบคุมช่อดอกกัญชา
เพื่อให้เป็นไปตามข้อกำชับดังกล่าว กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้มีการติดตามการขาย "ช่อดอกกัญชา" ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากตามประกาศฯ นอกจากจะห้ามการขายช่อดอกกัญชาแก่เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี นักเรียน นักศึกษา สตรีมีครรภ์หรือสตรีที่อยู่ระหว่างให้นมบุตร ตลอดจนห้ามขายผ่านตู้อัตโนมัติแล้ว ยังห้ามขายผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ทุกประเภทด้วย
“กรมการแพทย์แผนไทยฯ ได้มอนิเตอร์ช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ และพบว่าหลังมีประกาศกระทรวงฯ ฉบับใหม่ห้ามแต่ยังมีการขายช่อดอกกัญชาในแพลตฟอร์มค้าออนไลน์อยู่ ตอนนี้กรมฯ ได้มีการทำหนังสื่อแจ้งไปยังแพลตฟอร์มบางแห่งแล้ว และทยอยตรวจสอบแพลตฟอร์มอื่นๆ หากพบจะดำเนินการลักษณะเดียวกัน ซึ่งหากเตือนแล้วไม่มีการปิดกั้นผู้ค้า ก็ต้องถือว่าแพลตฟอร์มเป็นผู้ฝ่าฝืนประกาศกระทรวงสาธารณสุขและผิดตามกฎหมายด้วย” น.ส.ไตรศุลี กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า นายอนุทิน ได้เน้นย้ำกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าในช่วงเวลาที่ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ.... ยังอยู่ในกระบวนการพิจารณาของสภาผู้แทนฯ ให้ทุกหน่วยงานดูแลให้อยู่ภายใต้กฎหมายที่มีอยู่ให้ดีที่สุด เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุดจากกัญชา ซึ่งงานวิจัยทางการแพทย์หลายงานได้ยืนยันว่าสามารถดูแลสุขภาพ และให้การบำบัดผู้ป่วยหลายโรคให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ล่าสุด กรมการแพทย์ ได้ร่วมกับสมาคมกุมารประสาทวิทยา (ประเทศไทย) ติดตามผลการการรักษาผู้ป่วยโรคลมชักรักษายากในเด็กด้วยสารสกัดกัญชา CBD ทั่วประเทศ ซึ่งเป็นการติดตามศึกษาต่อเนื่องจากที่ได้ร่วมกับโดยสถาบันประสาทวิทยาและสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ศึกษาการใช้สารสกัด "กัญชา" ในเด็กกลุ่มตัวอย่างที่พบว่าผู้ป่วยมีอาการชักรุนแรงลดลง 50% และสารสกัดกัญชานี้ก็ได้รับการบรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร บัญชี 3 ตั้งแต่วันที่ 14 พ.ค. 64 โดยหากการติดตามผลการรักษาทั่วประเทศได้ข้อมูลความปลอดภัยและประสิทธิผลที่เชื่อถือได้แล้ว จะนำไปสู่การเสนอเข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร บัญชี 1 ในปี 2567 ต่อไป
นอกจากนี้ กรมการแพทย์ ยังอยู่ระหว่างการศึกษาการใช้สารสกัดกัญชากับผู้ป่วยโรคระบบประสาทอื่นๆ เช่น ผู้ป่วยที่มีอาการเกร็งและอาการปวดที่เกิดจากโรคปลอกประสาทส่วนกลางอักเสบ รวมถึงผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน ซึ่งมีข้อมูลบ่งชี้ในเบื้องต้นว่า หลังการใช้สารสกัดกัญชาแล้วผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เช่น ลดพฤติกรรมผิดปกติขณะนอน ส่วนผู้ป่วยพาร์กินสันที่มีอาการทางจิตก็พบว่าสามารถอาการทางจิตลดลง ซึ่งจะได้มีการขยายผลการศึกษาในวงกว้างต่อไป