ไทยทาสทุน! ทั้งเงินทุนและทุนทางสังคม | ดร.ไสว บุญมา
นายทุนสีเทาและนายทุนเจ้าสัวกำลังเป็นข่าวพาดหัวติดต่อกันเนื่องจากทุนเป็นปัจจัยสำคัญของการพัฒนา อย่างไรก็ดี เมื่อเอ่ยถึงทุน ความเข้าใจโดยทั่วไปพุ่งไปที่เงินทุนเพียงอย่างเดียว ทั้งที่กระบวนการพัฒนาจำเป็นต้องใช้ทั้ง เงินทุน และ ทุนทางสังคม
ในปัจจุบัน ประเทศส่วนใหญ่ใช้ระบบเศรษฐกิจแนวตลาดเสรีที่เชื่อกันว่าทุนเป็นปัจจัยหลักจนมักเรียกกันว่าใช้ ระบบทุนนิยม แต่ในกระบวนการพัฒนา ทุนที่สำคัญไม่น้อยกว่าคือทุนที่เรียกว่า ทุนทางสังคม
ย้อนไปตั้งแต่สมัยประเทศในเอเชียตะวันออก เริ่มเปิดการค้าขายกับประเทศในยุโรปและอเมริกา ที่ก้าวหน้าทางการอุตสาหกรรม เมืองไทยมักมีทุนทั้งสองด้านไม่พออย่างต่อเนื่อง จึงพัฒนาได้ช้ากว่าญี่ปุ่นและต่อมาช้ากว่าเกาหลีใต้
ไทยเปิดประเทศค้าขายกับประเทศก้าวหน้าทางอุตสาหกรรมตามสัญญาเบาริ่งพร้อม ๆ กับญี่ปุ่นเปิดประเทศหลังถูกกดดันอย่างหนักจากสหรัฐ ตอนนั้น ทั้งไทยและญี่ปุ่นเป็นประเทศเกษตรกรรม และบริหารจัดการประเทศตามระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์
เมื่อเปิดประเทศค้าขาย ต่างก็เข้าใจดีว่าประเทศของตนล้าหลังฝรั่งทางด้านการอุตสาหกรรม และแตกต่างกับฝรั่งในด้านบริหารจัดการประเทศ ด้วยเหตุนี้ ทั้งคู่จึงส่งคนหนุ่มกลุ่มใหญ่ไปเรียนในยุโรป
คนหนุ่มกลุ่มนั้นมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาประเทศของตน คนหนุ่มญี่ปุ่นเริ่มมุ่งเน้นงานด้านการเปลี่ยนเศรษฐกิจของประเทศจากเกษตรกรรมไปสู่การพัฒนาการอุตสาหกรรมแบบแทบทันทีทันใด
ส่วนหนุ่มไทยไม่มีบทบาทสำคัญในด้านการพัฒนาการอุตสาหกรรมแบบเดียวกับหนุ่มญี่ปุ่น และต่อมาได้มุ่งเน้นงานด้านระบอบบริหารจัดการประเทศโดยล้มล้างระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์
ในการพัฒนาอุตสาหกรรม ชาวญี่ปุ่นรุ่นนั้นทราบดีว่าเงินทุนมีความสำคัญยิ่ง แต่ชาวญี่ปุ่นหลีกเลี่ยงการกู้ยืมจากฝรั่ง ซึ่งมีเงินทุนมากกว่าโดยการเก็บภาษีจากชาวนาของตนมากขึ้น ส่วนชาวไทยรุ่นนั้นเน้นด้านการเปลี่ยนระบอบบริหารจัดการประเทศ ซึ่งต้องการเงินทุนในระดับต่ำกว่า จึงมิได้มุ่งเก็บภาษีจากชาวนา หรือยืมจากฝรั่ง
แต่หลังจากเปลี่ยนระบอบบริหารจัดการประเทศ เป็นที่สังเกตได้ว่า ชาวไทยโดยเฉพาะในกลุ่มผู้นำมักมีทุนทางสังคมต่ำมากส่งผลให้ญี่ปุ่นพัฒนารุดหน้าไทยไปอย่างรวดเร็ว
ทุนทางสังคมเกิดจากการสร้างกฎเกณฑ์การอยู่ร่วมกัน ที่วางอยู่บนฐานอันเป็นหลักธรรมและปฏิบัติตามกฎเกณฑ์เหล่านั้น หลังเวลาผ่านไป 90 ปี ไทยยังมีทั้งทุนทางสังคมต่ำ หรือไม่พอต่อการพัฒนา ซึ่งมองได้จากปรากฏการณ์หลายอย่าง เช่น การสร้างกฎเกณฑ์การอยู่ร่วมกันในรูปของรัฐธรรมนูญ ซึ่งทำซ้ำแล้วซ้ำอีก แต่มักยังละเมิดหลักธรรม
เพราะแต่ละครั้งมุ่งจะเอื้อประโยชน์แก่คนบางกลุ่มเป็นหลัก นอกจากนั้น การเคารพกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ยังต่ำมากดังจะเห็นได้จากการมีความฉ้อฉลสูง และสุดท้าย ในปัจจุบันยังมีการหวังพึ่งเงินทุนจากต่างประเทศ สิ่งเหล่านี้มีผลในด้านเกิดปรากฏการณ์นายทุนต่างชาติสีเทาซึ่งกำลังเป็นข่าวพาดหัว
หากมองเกาหลีใต้ ซึ่งเริ่มพัฒนายุคใหม่หลังไทยนานมาก เนื่องจากประเทศเริ่มทำได้หลังสงครามเกาหลียุติเมื่อปี 2496 เกาหลีใต้เริ่มกระบวนการพัฒนาด้วยภาวะที่แทบไม่มีเงินทุน เพราะสงครามทำลายแทบทุกอย่าง และมีทุนทางสังคมบ้างเป็นบางส่วนเท่านั้น
เกาหลีใต้อาศัยการกู้ยืมเงินทุนจากฝรั่ง และตั้งใจพัฒนาทุนทางสังคมอย่างจริงจัง นำโดยการปราบปรามความฉ้อฉลถึงขั้นลงโทษประหารประธานาธิบดีที่ฉ้อฉล
หลังเวลาผ่านไปไม่ถึง 40 ปี เกาหลีใต้ได้พัฒนาแซงหน้าไทยไปอีกประเทศหนึ่ง ในปัจจุบัน เกาหลีใต้จึงมีเงินทุนเหลือให้เมืองไทยยืม
มุมมองที่อ้างมานี้น่าจะชี้ชัดว่า หลังเวลาจะผ่านไปเป็นศตวรรษเมืองไทยพัฒนาได้ช้ากว่าเกาหลีและญี่ปุ่น เพราะขาดทั้งเงินทุนและทุนทางสังคมอย่างต่อเนื่อง
การขาดเงินทุนอยู่ตลอดเวลา มองได้ว่าเป็นปัจจัยทำให้ไทยเป็นทาสนายทุนอยู่ในปัจจุบัน การขาดทุนทางสังคมแก้ด้วยการยืมจากผู้อื่นไม่ได้ ทั้งที่ไม่ค่อยมีการนึกถึงกัน ทุนด้านนี้มีความสำคัญสูงมาก เนื่องจากการมีทุนทางสังคมต่ำย่อมทำให้การพัฒนาไม่สำเร็จ ส่งผลให้ไม่สามารถใช้เงินทุนที่กู้ยืมมาได้
ฉะนั้น ถ้าไม่ประสงค์จะให้ไทยเป็นทาสนายทุน จะต้องสร้างทุนทางสังคมให้พอ เริ่มจากการลดความฉ้อฉลอย่างจริงจัง ทั้งผ่านการเขียนกฎเกณฑ์การอยู่ร่วมกัน และผ่านการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์เหล่านั้นอย่างเคร่งครัด