“ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ความแข็งแกร่งของเมืองที่สร้างได้
เมืองแบบไหนที่คนกรุงเทพฯต้องการ "ชัชชาติ สิทธิพันธุ์" ว่าที่ผู้สมัคร"ผู้ว่าฯกทม."แสดงวิสัยทัศน์เรื่องนี้ชัดเจน และขันอาสาตอบโจทย์เรื่องนี้
วันที่ 19 ธันวาคม 2564 สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของคนกรุงเทพฯ ที่มีสิทธิ์เลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จำนวน 1,135 คน (วันที่ 13-16 ธ.ค. 2564) พบว่าคนกรุงเทพฯ 90.57% มีความคิดเห็นว่า "ถึงเวลาเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.แล้ว" ซึ่งคาดว่าน่าจะมีขึ้นไม่เกินกลางปี 2565
ในวันเดียวกัน รศ.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ว่าที่ผู้สมัคร ผู้ว่าฯกทม. อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ไปร่วมงาน Night at the Museum ครั้งที่ 11 ในช่วง Night Talk เพื่อเล่าเรื่อง “กรุงเทพฯ แข็งแกร่ง ความแข็งแรงของเมืองที่สร้างได้” ณ มิวเซียมสยาม โดยเริ่มต้นด้วยการนำภาพร่างในอนาคตของสถานีรถไฟหัวลำโพงมาให้ทุกคนได้ชม
“เมื่อเรามองดูภาพนี้ในมุมมองที่กว้าง มันดูสวยงาม แต่ถ้ามองลงมาในระดับถนน เราจะเห็นคนนอนข้างถนนเต็มไปหมด นี่คือความเข้มแข็งของเมือง คือชีวิตของคนที่อยู่ในเมือง William Shakespeare เคยเขียนไว้ในบทละคร The Tragedy of Coriolanus เมื่อ 410 ปีที่แล้วว่า
What is the city but the people ? เมืองไม่มีความหมายเลยถ้าไม่มีคน เมืองไม่มีทางแข็งแกร่งเลยถ้าคนอ่อนแอ ต่อให้เทพสร้างเมือง แต่ถ้าไม่มีคน หรือคนไม่แฮปปี้ ก็ไม่มีประโยชน์ หัวใจของเมืองที่จะสร้างความแข็งแกร่ง มันอยู่ที่คน เริ่มจากคน ที่เป็นหน่วยย่อยที่สุด” ชัชชาติ กล่าว
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ Cr.Museum Siam
- “เมือง”ต้องมีทุนทางสังคม
ชัขชาติเล่าต่อว่า การแพร่ระบาดของโควิดทำให้เรามองเห็นอะไรชัดเจนขึ้น
“ผมเคยฟัง Dr.Vivian Balakrishnan รัฐมนตรีต่างประเทศของสิงคโปร์ พูดถึงเหตุการณ์โควิดเวฟแรกเมื่อเดือนมีนาคมปีที่แล้วว่า โควิดจะเป็นบททดสอบ 3 อย่างของทุกประเทศ นั่นก็คือ
1) ระบบสาธารณสุข(Quality of Healthcare) 2) การบริหารจัดการของรัฐบาล (Standard of governance) 3) ทุนทางสังคม(Social Capital) ซึ่งก็คือพวกเรา
ทุนทางสังคม ประกอบด้วย 1) ทุนมนุษย์ Human Capital ความรู้ความสามารถของแต่ละคน 2)ค่านิยมร่วมกัน Shared Values เราต้องการประชาธิปไตย อิสระเสรีภาพ ความรู้ ความเท่าเทียม 3) ความหลากหลาย Diversity ไม่ใช่ว่า ต้องคิดเหมือนกันทุกอย่าง มีแม่พิมพ์แบบเดียวกัน แต่ต้องมีความไว้วางใจกัน (Trust)
มีเครือข่าย (Network )มีความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่ง (Sense of Belonging )มีส่วนร่วม(Participation) มีวัฒนธรรมประเพณี (Culture & Tradition) อย่างที่เราได้มาแชร์ความรู้ แลกเปลี่ยนกัน มีปฏิสัมพันธ์กัน นี่คือทุนทางสังคมที่มีค่าของเมือง"
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ Cr.Museum Siam
- มุมมองรัฐที่มีต่อประชาชน
ในความเป็นจริงแล้ว ทรัพย์สิน หมายถึง หนี้สิน+ทุน (Asset=Liability+Equity) แต่ในประเทศไทยไม่ใช่อย่างนั้น ชัชชาติกล่าวว่า
“รัฐมองเราเป็นภาระหนี้สิน (Liability) ต้องคอยให้เงิน ปกครองเหมือนพ่อดูแลลูก จริงๆ แล้วเรามีพลังเยอะมาก มีความรู้ความสามารถ รัฐต้องมอบอำนาจให้ประชาชน (Empower People) ตัดสินใจชีวิตตัวเองได้ ช่วยเหลือกันในชุมชนได้
รัฐบาลมองปัญหาเหมือนยกน้ำหนัก คิดว่าทุกอย่างเอาอยู่ โควิดมา-ไม่ต้อง รัฐบาลจัดการเอง วัคซีน-เดี๋ยวหาให้ ตรวจโควิด-เดี๋ยวตรวจให้เอง ทุกอย่างเข้าโรงพยาบาลหมด แต่สุดท้ายเอาไม่อยู่
เพราะปัญหาเมือง มันใหญ่ รัฐบาล ราชการ ไม่ได้มีพลังมากพอ ต้องเอาพวกเราไปช่วยแก้ปัญหา เขาไม่เคยฟังเราเลย ในช่วงโควิดเราเห็น Social Capital in Actions มากมาย
เช่น กลุ่มเส้นด้าย, หมอแล็บแพนด้า, เราต้องรอด, ชมรมแพทย์ชนบท, มูลนิธิกระจกเงา ฯลฯ ช่วยชีวิตคนเป็นหมื่นๆ เพราะเขามีพลัง ช่วยเหลือโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน”
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ Cr.Museum Siam
- ความไว้วางใจเป็นสิ่งสำคัญ
ชัชชาติ มองว่า นอกจากรัฐจะไม่ไว้วางใจประชาชนแล้ว ยังรวบอำนาจไว้ที่เดียวอีกด้วย
"ตัวอย่างที่เห็นคือ รัฐไม่ไว้ใจเรา เอาทุกอย่างไว้ที่ส่วนกลาง (Centralised) ซึ่งถ้าจะให้เมืองเข้มแข็งต้อง กระจายอำนาจ (Decentralised) ให้ชุมชนเข้มแข็งดูแลตัวเองได้มากขึ้น
ตัวอย่างเช่น ชุมชนริมทางรถไฟสายท่าเรือ คลองเตยมี 40 ชุมชนย่อยๆ มีคนอยู่ประมาณแสนคน ตอนโควิดระบาดล่าสุด ชุมชนนี้มีคนป่วยหนักเยอะมาก สุดท้ายรอรัฐไม่ไหวต้องช่วยเหลือกันเอง
เขาแยกคนป่วยออกมานอนใต้ทางด่วน รัฐก็บอกว่าผิดกฎหมาย ทำไม่ได้เพราะไม่ใช่โรงพยาบาลสนาม ไม่ให้ตั้ง ทั้งๆ ที่ประชาชนพยายามช่วยเหลือกันเอง แทนที่จะให้อำนาจเขา กลับรวบอำนาจไว้หมด
อีกตัวอย่าง การตรวจโควิด ต้องมาตรวจที่โรงพยาบาล ไม่มีผลตรวจเข้าโรงพยาบาลไม่ได้ ทำให้คนตายคาบ้านเยอะแยะ เพราะตรวจไม่ทัน ต่อมาวันที่ 11 ก.ค.ถึงให้คนซื้อ ATK มาตรวจเอง หรือห้ามไม่ให้องค์กรส่วนท้องถิ่นจัดซื้อวัคซีนเอง
จนวันที่ 19 ส.ค.ยอมให้จัดซื้อได้นายกฯจ.นนทบุรีก็จัดซื้อมาฉีดวันหนึ่ง 3,000-4,000 คน เพราะท้องถิ่นมีพลังมีความพร้อมอยู่แล้ว
หรือช่วงแรกห้ามรักษาตัวที่บ้าน ทุกคนก็ต้องวิ่งหาโรงพยาบาล ทั้งคนติดเชื้อสีเขียว เหลือง แดง จนเตียงเต็มหมด กว่าจะให้โฮมไอโซเลชั่นได้ก็วันที่ 25 มิ.ย. สถานการณ์จึงได้เปลี่ยนไป แค่ให้ประชาชนมีพลัง เราก็ดูแลตัวเองได้”
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ Cr.Museum Siam
- ความแข็งแกร่งของคนตัวเล็กๆ
จากการทำงานกับกลุ่ม “คลองเตยดีจัง” ของชัชชาติ ทำให้เขามองเห็นความสามารถของน้องคนหนึ่งว่า น่าจะเป็นรัฐมนตรีสาธารณสุขได้
"ครูแอ๋ม ศิริพร พรมวงศ์ ครูอาสาข้างถนน สอนดนตรี ทำงานกับเด็กและเยาวชนมากว่า 8 ปี พอโควิดมา ครูแอ๋มทนไม่ไหว รวบรวมเด็กๆ ในชุมชน มาช่วยดูแลคนป่วยโควิด ร่วมกันวางแผนว่า จะช่วยคนป่วยเป็นพันๆ คนในคลองเตยอย่างไร โดยไม่ต้องอาศัยภาครัฐ
ครูสอนดนตรีนั่งเขียน Flowchart ออกมาเลย เคสไหนดูแลยังไง วิศวกรเห็นแล้วยังงง ที่เด็กๆ ในคลองเตยร่วมกันเขียนและทำได้ถึงขนาดนี้ นี่คือความแข็งแกร่งในปฐพี ไม่น่าเชื่อ เด็กทำข้อมูลดิจิตอล ทำแผนที่ชุมชน คนป่วยอยู่ตรงจุดไหน รู้หมดเลย
ขณะที่รัฐเข้าไม่ถึง เพราะคลองเตยมีแสนคน รัฐแบกไม่ไหว แต่พอชุมชนลุกขึ้นมาช่วยเหลือกัน หายเลยครับ เขาดูแลคนไข้อยู่ 2,000 คน ตายไป 6 คน ทำกับข้าว,ทำชุด PPE
Cr.Museum Siam
มีแม้กระทั่งถุงยังชีพเด็ก เอาออกซิเจนไปให้คนป่วยถึงบ้าน เพราะรัฐให้ออกซิเจนไม่ได้ ออกซิเจนเป็นของหลวง เอาไปให้ ถ้าหายมีคนติดคุก เพราะฉะนั้นออกซิเจนทุกอันที่อยู่บ้านคนป่วยมาจากเอกชน ไม่ได้มาจากภาครัฐเลย
ความเจ๋งของทุนทางสังคมก็คือ 1)เขามีข้อมูลเชิงลึก(Insight) เพราะพวกเขาอยู่ในพื้นที่ 2) พวกเขาเข้าใจปัญหา ไม่ได้อยู่แค่ในออฟฟิศติดแอร์ไม่เห็นปัญหา 3)เข้าใจจิตใจ (Empathy) 4) ใช้ได้จริง (Practical) 5)มีคนเก่งในชุมชน (Talents) 5)เพื่อความอยู่รอด ไม่ทำก็ตาย (Real needs: Need to survive)
6)มีความยืดหยุ่น ปรับให้เขากับสถานการณ์ (Flaxibility) รัฐบอกผิดกฎหมายทำไม่ได้ แต่ถ้าเขาไม่ทำคือตาย นี่คือ Drive ที่มีพลัง 7) ขยายได้เร็ว (Scalability) สามารถทำเป็นสเกล 2,000 ชุมชนทั่วกรุงเทพได้ 8) มีความยั่งยืน (Sustainbility) ผู้ว่าฯหรือรัฐบาลอาจอยู่ 8-10ปี แต่ชุมชนอยู่ตลอดชีวิต ถ้าชุมชนเข้มแข็งก็ยั่งยืนในระยะยาว
อีกตัวอย่างหนึ่ง ตู้ปันสุข เป็นความโรแมนติกของคนเมือง แต่คนที่มาเอาได้ต้องมีรถมา ส่วนคนป่วยติดเตียงมาเอาไม่ได้ เขาก็ทำรถปันสุข เข็นไปให้คนป่วยถึงบ้านเลย อยากได้อะไรก็หยิบไป อย่างนี้ คนแบบเราไม่เห็นปัญหา แต่ชาวบ้านเขาเห็นและตอบโจทย์ได้"
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ Cr.Museum Siam
- หัวใจของเมืองคือ มัลติคัลเลอร์
หลายคนมีความแตกต่างกัน แต่ทำอย่างไรให้รวมพลังกันเป็นทุนทางสังคมได้ ชัชชาติ มองว่า ทุกคนต้องวางบทบาทของตัวเองลงก่อน แล้วร่วมมือกัน
“ทุกๆ คนมีบทบาท ผมเป็นวิศวกร ใครเป็นอะไร ก็มองผ่านเลนส์นั้น นักผังเมืองก็พูดเรื่องผังเมือง นักรัฐศาสตร์ก็พูดเรื่องรัฐศาสตร์ เผด็จการก็จัดระเบียบอย่างเดียว เอ็นจีโอ(NGO )ก็พูดเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่มันแก้ปัญหาเมืองไม่ได้ เราจึงต้องการมัลติคัลเลอร์เลนส์
เราต้องการคนที่มองหลายมุม อย่างผมอาสามาทำกทม. ผมต้องถอดเลนส์วิศวะออกเลย เพราะไม่งั้น เราจะพูดแต่เรื่องเมกกะโปรเจค ซึ่งมันไม่ได้ตอบปัญหา อย่างโครงการคลองแสนแสบ 78,000 พันล้าน แทนที่จะแบ่งทำโรงเรียน 10 แห่ง ทำโรงพยาบาล 10 แห่ง เอามาทำตรงนี้หมดตรงอื่นก็หายไป หัวใจของเมืองมันต้องมีมัลติคัลเลอร์ มีคนหลากหลาย ทุกสาขามาแลกเปลี่ยนความเห็นกัน แล้วก็สร้างพลัง”
Cr.Museum Siam
- สร้างเมืองให้แข็งแกร่ง
การจะสร้างเมืองให้มีความแข็งแกร่ง ชัชชาติบอกว่า ต้องตอบโจทย์ 4 ข้อ
1)ใช้เทคโนโลยีเหมาะสม ไม่ต้องไปเห่อสมาร์ทซิตี้ แค่ The Smart Enough City ฉลาดกำลังเหมาะ ไม่ต้องอัจฉริยะ แค่ให้ตอบโจทย์ได้ ลงทุนกำลังดี มีโซลูชั่นที่เป็นไปได้ ทุกชุมชนมีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.)แล้ว
ผมเสนอไอเดียว่าน่าจะมี อสท.(อาสาสมัครเทคโนโลยี หรือ Digital Agent) ประจำชุมชน ขอคนอายุไม่เกิน 25 ไปช่วยคนในชุมชน เอาเทคโนโลยีไปทำอนาล็อกให้เป็นดิจิตอล เราลองทำแล้วในบางชุมชน ได้ผลดี
ทำกรุงเทพฯเปิดเผย (OPEN BANGKOK) เป็นรัฐที่โปร่งใส ให้เรามีส่วนร่วม ทำอะไรที่ไหนเรารู้หมด ข้อมูลจัดซื้อจัดจ้าง ทำขึ้นบนระบบคลาวด์เลย แล้วก็ติดต่อราชการทางดิจิตอล ไม่ต้องไปที่เขต หลายประเทศเขาทำมาแล้ว
2) มุ่งหน้าสู่ความร่วมมือ 4 ประสาน ภาครัฐ, ภาควิชาการ, ภาคเอกชน, ภาคประชาชน, ไม่ใช่ให้รัฐทำอยู่ฝ่ายเดียว ทุกคนต้องมาร่วมมือกัน ผมเชื่อว่า คนฉลาดส่วนใหญ่อยู่นอกองค์กร คนในระบบราชการยิ่งหนักเลย อย่าคิดว่าตัวเองเก่งที่สุด
3) บริหารแบบข้างบนลงมา ข้างล่างขึ้นไป (Top Down และ Bottom Up)ให้ชุมชนมีส่วนร่วม ออกไอเดียว่าอยากทำอะไร ไม่ใช่มาจากศาลากลางอย่างเดียว ทำแบบนั้นก็ได้แต่เสาไฟกินรี หรือได้สิ่งที่เราไม่อยากได้
อย่างฝรั่งเศส เขาให้โหวตกัน ทำทางจักรยานไหม หรือพื้นที่สีเขียวตรงทางด่วน คนในห้องแอร์ไม่รู้ แต่ชาวบ้านรู้ว่าเขาต้องการอะไร นี่คือการสร้างความแข็งแกร่งของเมืองผ่านทุนทางสังคม
4) พื้นที่สาธารณะที่มีคุณภาพ ต้องมีมากขึ้น อย่างมิวเซียมสยาม เป็นสถานที่ๆ ให้เรามาเจอกัน แลกเปลี่ยนความเห็นกัน การไปเดินห้างฯไม่ได้ช่วยเลย มันเป็นปัจเจก เราไม่เคยคุยกับคนในห้าง ไม่ใช่สิ่งที่คนในเมืองต้องการ
เราต้องการพื้นที่สีเขียว, พื้นที่สาธารณะ, พิพิธภัณฑ์, ห้องสมุด, Co-working Space, สนามเด็กเล่น, Art Gallery, ลานกีฬา, สถานที่แสดงศิลปะ, มีการจัดกิจกรรม เราต้องการทุกแขวง ทุกเขต กระจายทั่วกรุงเทพฯ ไม่ต้องนั่งรถไฟมาที่นี่
หัวใจสำคัญคือ ทุนทางสังคม (Social Capital) เป็นกำลังสำคัญของเมือง ต้องให้อำนาจพวกเราตัดสินใจ เน้นที่คน ไม่เน้นเทคโนโลยี หรือเมกกะโปรเจค