เงินประกันรายได้-เงินเยียวยาเกษตรกร เช็กล่าสุด โอนให้ก่อนสิ้นปี
ตรวจสอบอัปเดต เงินประกันรายได้-เงินเยียวยาเกษตรกร เช็กล่าสุด โอนให้ก่อนสิ้นปี บอกเลยคนได้แล้วรู้สึกอย่างไร และคนยังไม่ได้เงินต้องทำอย่างไร
กรณีความคืบหน้า เงินประกันรายได้ และ เงินเยียวยาเกษตรกร อัปเดตข่าววันนี้ ชาวนาพอใจหลังทางรัฐบาลช่วยเหลือเงิน โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2565/66
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวนาในพื้นที่อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา ต่างดีใจหลังจากทางรัฐบาลได้จ่ายเงินช่วยเหลือโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว และเงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ โดยนายชิ้น ร่วมสุข อายุ 66 ปี ชาวนารายหนึ่งในตำบลรังกาใหญ่ อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา บอกว่า ตนเองดีใจมากที่ทางภาครัฐได้ให้การช่วยเหลือชาวนา เนื่องจากโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าวช่วยลดต้นทุนการเพาะปลูกไร่ละ 1,000 บาทนี้ ได้ช่วยเหลือชาวนาเป็นอย่างมาก เพราะชาวนาในพื้นที่อำเภอพิมาย ส่วนใหญ่ ประสบอุทกภัยน้ำท่วมหนัก ทำให้นาข้าวได้รับความเสียหาย
โดยเฉพาะนาข้าวที่ตนเองได้ลงทุนทำนาปลูกข้าว จำนวน 5 ไร่ ถูกน้ำท่วมเสียหาย หลังจากทางภาครัฐช่วยเหลือ ตนเองก็จะนำเอาเงินที่ได้ ไปลงทุนซื้อข้าวปลูก ในการทำนาปรังทดแทนนาปีต่อไป ซึ่งการประกันรายได้นี้ เป็นนโยบายหลักของทางรัฐบาล สำหรับค่าช่วยไถหว่านหรือโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าวช่วยลดต้นทุนการเพาะปลูกไร่ละ 1,000 บาท กำหนดไม่เกินรายละ 20 ไร่ หรือไม่เกิน 20,000 บาทต่อครัวเรือนนั้น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. จะโอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมส่งเสริมการเกษตรโดยตรง
โอนเงินประกันรายได้ข้าว ล่าสุด
ธ.ก.ส. เริ่มโอนเงินประกันรายได้ งวดที่ 1 - 8 ให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวไปแล้วจำนวน 2.53 ล้านครัวเรือน เป็นจำนวนเงินกว่า 7.2 พันล้านบาท
สำหรับเกษตรกรที่แจ้งวันที่คาดว่าจะเก็บเกี่ยวในช่วงวันที่ 3 ธันวาคมถึง 9 ธันวาคม 2565 ธ.ก.ส. จะโอนเงินส่วนต่างระหว่างราคาประกันรายได้กับราคาเกณฑ์กลางอ้างอิง งวดที่ 9 และงวดที่ 1 - 8 เพิ่มเติม เข้าบัญชีเกษตรกรเมื่อวานนี้ จำนวนกว่า 4.8 หมื่นกว่าครัวเรือน เป็นจำนวนเงิน 150 ล้านบาท
เกษตรกรจะต้องขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2565/66 กับกรมส่งเสริมการเกษตรและต้องแจ้งวันที่คาดว่าจะเก็บเกี่ยวเพื่อใช้เป็นข้อมูลช่วงเวลาที่เกษตรกรจะได้รับสิทธิชดเชย
จ่ายเงินเข้าบัญชีเกษตรกรโดยตรงภายใน 3 วัน นับจากวันที่ได้รับราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงในแต่ละรอบจากคณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว
ทั้งนี้ บางพื้นที่ของแต่ละจังหวัด ทาง ธกส. ประจำจังหวัด นัดเกษตรกรโอนเงินประกันรายได้ข้าว ขยายเวลาไปจนถึงสิ้นปี 2565
เงินเยียวยาเกษตรกร
กรณีพื้นที่การเกษตร ที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม หลังปริมาณน้ำในหลายพื้นที่ลดลงเป็นปกติ เพื่อเร่งจ่ายเงินเยียวยาตามระเบียบกระทรวงการคลัง โดยมีอัตราการช่วยเหลือครัวเรือนละไม่เกิน 30 ไร่ แบ่งเป็น
- ข้าว 1,340 บาทต่อไร่
- พืชไร่และพืชผัก 1,980 บาทต่อไร่
- ไม้ผลไม้ยืนต้นและอื่น ๆ 4,048 บาทต่อไร่
เกษตรกรที่จะได้รับเงินเยียวยาต้องขึ้นทะเบียนเกษตรกร และปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรกับกรมส่งเสริมการเกษตรก่อนเกิดภัย มีพื้นที่เสียหายจริง และอยู่ในพื้นที่ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือแล้ว
ภาพรวมพื้นที่เกษตรทั่วประเทศได้รับผลกระทบ มีจำนวน 65 จังหวัด คิดเป็นพื้นที่การเกษตรเสียหายกว่า 5,595,011.75 ไร่ แบ่งเป็น ข้าว 3,683,924.50 ไร่ พืชไร่และพืชผัก 1,818,243.50 ไร่ ไม้ผลไม้ยืนต้นและอื่น ๆ 92,843.75 ไร่ เกษตรกรได้รับผลกระทบ จำนวน 668,250 ราย ให้ความช่วยเหลือเสร็จสิ้นแล้ว 30 จังหวัด ด้วยงบประมาณท้องถิ่น อาทิ จังหวัดกำแพงเพชร เชียงใหม่ เชียงราย ตาก น่าน แพร่ เพชรบูรณ์ พิษณุโลก และ แม่ฮ่องสอน ส่วนจังหวัดอื่น ๆ กรมส่งเสริมการเกษตรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังเร่งดำเนินการ
เกษตรกรสามารถตรวจสอบผลการโอนเงิน ประกันรายได้ข้าว ปี 65/66 และ ช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท
1. เข้าสู่เว็บไซต์ chongkho.inbaac.com “เงินเยียวยาเกษตรกร”
- กรอกเลขประจำตัวประชาชน
- จากนั้นกดค้นหา รายละเอียดของบัญชี จำนวนเงิน และโครงการของเงินช่วยเหลือที่ได้รับจะปรากฏขึ้น
- สามารถตรวจสอบยอดเงินได้ด้วยตัวเอง
- หากผู้ที่ไม่ใช่เกษตรกรตรวจสอบ ระบบจะขึ้นข้อมูลว่า ไม่พบข้อมูลการลงทะเบียน (โปรดติดต่อหน่วยงานที่รับขึ้นทะเบียนเกษตรกรตามชนิดพืชที่ได้รับสิทธิตามโครงการ)
2. แอปพลิเคชัน ธ.ก.ส. A-Mobile สามารถเข้าไปตรวจสอบยอดเงินทางที่ช่องทางนี้
กรณีสมัครแอปพลิเคชัน ธ.ก.ส. A-Mobile หรือ LINE Official BAAC Family หากได้รับเงินแล้ว จะมี SMS แจ้งมายังเบอร์มือถือที่ลงทะเบียนไว้กับ ธ.ก.ส. แจ้งสถานการณ์จ่ายเงินประกันรายได้ข้าวเข้าบัญชี
อ้างอิง - กรมส่งเสริมการเกษตร , ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธกส. และ กระทรวงการคลัง