ปชป. ชี้แก้ปัญหาถนนทรุดพระราม 3 ทุกฝ่าย ต้องวางแผนบูรณาการร่วมกัน
คณะกรรมการยุทธศาสตร์ กทม. พรรคประชาธิปัตย์ ถกแนวทางแก้ปัญหาถนนพระราม 3 ทรุด ชี้ต้องวางแผนอย่างบูรณาการร่วมกัน ย้ำชัด กทม. ต้องเป็นเจ้าภาพหลักในบัญชาการ เชื่อมหลายหน่วยงานเข้าด้วยกัน ต้องรวดเร็ว ลดการเกิดปัญหาซ้ำซาก กระทบประชาชนให้น้อยที่สุด
คณะกรรมการยุทธศาสตร์ กทม. พรรคประชาธิปัตย์ จัดเสวนา “ถนนทรุดพระราม 3 ความรับผิดชอบอยู่ที่ไหน” โดยมีผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อดีตนายกสภาวิศวกร ประธานคณะทำงานนโยบาย กทม. พรรคประชาธิปัตย์ นายฐิติวุฒิ เงินคล้าย ผู้ช่วยผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง สายปฏิบัติการระบบส่ง นายอภิมุข ฉันทวานิช ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ ดำเนินรายการโดย นางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรค และประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ กทม. กล่าวเปิดงานเสวนา ว่าเหตุการณ์ถนนทรุดพระราม 3 ที่ผ่านมา เป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจของประชาชนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะผู้ใช้รถใช้ถนน หลายคนเกิดคำถามและมีความรู้สึกตรงกันว่า เหตุใดจึงเกิดเหตุการณ์แบบนี้ซ้ำซาก จึงอยากให้เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นอุทาหรณ์สอนใจ แนะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายวางแผนงานแบบบูรณาการร่วมกัน โดยมีกรุงเทพมหานครเป็นเจ้าภาพหลัก เพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด
ด้าน นายอภิมุข ฉันทวานิช ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะตัวแทนของพี่น้องประชาชนซึ่งได้รับความเดือดร้อนจากกรณีดังกล่าว ได้ตั้งคำถามถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งในส่วนของการไฟฟ้านครหลวง และกรุงเทพมหานคร ว่า ทำไมจึงปล่อยให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นบ่อยครั้ง สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน โดยไม่มีแนวทางป้องกันแก้ไข และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบอย่างทั่วถึงขณะที่มีการซ่อมแซมถนน
ทั้งนี้ถนนเส้นพระราม 3 ทรุดตัวเป็นครั้งที่ 3 แล้ว แต่ละครั้งห่างกันประมาณ 3-4 เดือน สร้างปัญหากับประชาชนที่ใช้รถใช้ถนนเป็นอย่างมาก ล่าสุดวันที่ 13 ธันวาคมที่ผ่านมา ทำให้เกิด “อภิมหารถติด” ยาว 17 กิโลเมตร ซึ่งทราบว่าเกิดขึ้นจากการก่อสร้างเพื่อนำสายไฟฟ้าลงดินของการไฟฟ้านครหลวง จนส่งผลกระทบมหาศาลต่อผู้ใช้รถใช้ถนน โดยไม่มีเจ้าหน้าที่แม้แต่คนเดียวเข้ามาอำนวยความสะดวก และก่อนหน้านี้จากกรณีถนนทรุดก็เคยทำให้เกิดอุบัติเหตุถึงขั้นเสียชีวิต ซึ่งไม่ควรเกิดขึ้นอีกแล้ว ที่สำคัญในบริเวณดังกล่าว ไม่มีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบรายละเอียดต่าง ๆ อย่างทั่วถึง อาทิ หน่วยงานผู้รับผิดชอบ ขั้นตอนการดำเนินการแก้ไข วิธีการแก้ไข รวมถึงระยะเวลาในการก่อสร้างที่จะคืนผิวการจราจรให้สามารถใช้งานได้ตามปกติ กรณีนี้จึงเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนว่า ผู้เกี่ยวข้องต้องมีแผนรวมแบบบูรณาการ โดย กทม. ต้องเป็นเจ้าภาพหลักในการประสานกับหน่วยงานทุกฝ่าย
นายอภิมุข ยังกล่าวด้วยว่า ต้องการผู้ว่าฯ ที่เป็นนายช่าง ที่ต้องรู้เรื่องช่าง และสามารถพูดภาษาเดียวกับประชาชนให้รู้เรื่อง และที่สำคัญก็คือ มีวิธีบริหารจัดการที่ดี คนกรุงเทพฯ ควรมีโอกาสที่จะมีทัศนียภาพสวยงาม มีเมืองที่น่าอยู่โดยไม่ต้องแลกด้วยความไม่ปลอดภัยของประชาชน
นายฐิติวุฒิ เงินคล้าย ผู้ช่วยผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง สายปฏิบัติการระบบส่ง กล่าวถึงปัญหาการรั่วซึมเกิดจากการไหลของน้ำและทรายทำให้ชั้นดินทรุดตัว จึงต้องแจ้งให้ปิดสะพาน ซึ่งในขณะนี้ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด อยู่ระหว่างการตรวจสอบเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง
ปัจจุบันได้เร่งดำเนินการแก้ไขตามหลักวิศวกรรม และมีการตรวจวัดระดับการทรุดตัวและความลาดเอียงตอม่อสะพานทุกชั่วโมง พบว่าไม่มีการขยับตัวหรือทรุดเพิ่มเติมอย่างมีนัยยะสำคัญ ทั้งนี้ได้มีการคืนพื้นผิวจราจรบางส่วน และติดป้ายประชาสัมพันธ์บอกเส้นทางที่ควรหลีกเลี่ยง
"อุปสรรคต่างๆ จากกรณีนี้ ทำให้เกิดการเรียนรู้ นำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้เร็วขึ้น ทำให้ประชาชนเดือดร้อนน้อยลง ดังนั้นตนจึงขออภัยในความไม่สะดวกต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และย้ำว่าจะพยายามดำเนินการให้เป็นตามแผนเพื่อคืนพื้นที่สวยงามให้กับประชาชนโดยเร็วที่สุด"
ด้าน ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อดีตนายกสภาวิศวกร ประธานคณะทำงานนโยบาย กทม. พรรคประชาธิปัตย์ ได้วาดผังชี้ให้เห็นถึงสภาพปัญหาที่ทำให้เกิดถนนทรุดตัวว่า ส่วนหนึ่งเกิดมาจากการก่อสร้างนำสายไฟฟ้าลงใต้ดินของการไฟฟ้านครหลวง ซึ่งผู้ปฏิบัติงานจำเป็นต้องมีความรู้ที่แม่นยำทางด้านวิศวกรรม โดยเฉพาะสภาพของชั้นใต้ดินใน กทม. ที่ประกอบด้วย ดินโคลน ดินเหนียว และดินทราย
พร้อมกับย้ำว่าทุกพื้นที่ของกทม. มีความเสี่ยง แม้สภาพดินจะไม่มีปัญหาในการก่อสร้างมากนัก แต่ก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดอันตราย จึงเสนอให้มีการผลักดันเพื่อให้เกิดศูนย์กลางการทำงานแบบบูรณาการใน กทม. มีแผนการทำงานร่วมกัน โดยให้ กทม. เป็นเจ้าภาพหลักในการประสานความร่วมมือจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขปัญหาและอำนวยความสะดวกให้ประชาชนมากที่สุด
อย่างไรก็ตาม การก่อสร้างใต้ดินต้องมีความรู้ความเชี่ยวชาญ 3 ส่วนหลัก คือ 1.ลักษณะดินของกรุงเทพฯ ไม่ใช่ดินที่น่ากลัวที่สุด ในต่างประเทศเจอมากกว่านี้ อาทิ เมกซิโกเป็นดินขี้เถ้าจากภูเขาไฟ เกิดการทรุดตัวเป็นเมตร รองลงมาคือดินเกาะ เช่น ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ส่วนยุโรปเหนือ เนเธอร์แลนด์ ลักษณะดินเป็นซากใบไม้ซึ่งมีน้ำหนักเบากว่าน้ำจึงเกิดการทรุดตัวสูง ดังนั้นลักษณะดินในกรุงเทพฯ จึงไม่ยาก แต่การก่อสร้างใต้ดินทุกประเภทนั้นอันตราย มีความเสี่ยงสูง
2. ถ้าจะทำให้ดีทำได้ แต่ต้องรู้สาเหตุและการป้องกันได้ในอนาคต 3.มีการตอบสนองที่รวดเร็ว ดูแล แก้ไข ความรับผิดชอบควรมีแผนรวม โดยมีกทม.เป็นเจ้าภาพบัญชาการหลักเพื่อเชื่อมประสานกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ถึงเวลาแล้วที่ กทม. ต้องเป็นเจ้าภาพทั้งหมด