"ช้อปดีมีคืน 2566" เช็กขั้นตอน ผู้ประกอบการยื่นคำขอออกใบกำกับภาษี E-Tax
"ช้อปดีมีคืน 2566" เช็กขั้นตอน ผู้ประกอบการยื่นคำขอออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ E-Tax ในระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt และ e-Tax Invoice by Email
กรณีที่รัฐบาลได้ออกมาตรการ "ช้อปดีมีคืน 2566" ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 โดยประชาชนที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สามารถหักลดหย่อนค่าซื้อสินค้า หรือค่าบริการตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 40,000 บาท โดยใช้ใบกำกับภาษีแบบกระดาษหรืออิเล็กทรอนิกส์ตามเงื่อนไขในการ "ลดหย่อนภาษี" นั้น
ทั้งนี้ "กรมสรรพากร" ได้แนะนำช่องทางสำหรับ "ผู้ประกอบการ" ยื่นขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มหรือมีหน้าที่ออกใบ สามารถยื่นคำขอจัดทำใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (E-Tax) เพื่อเข้าร่วม มาตรการช้อปดีมีคืน 2566 ได้ 2 รูปแบบ ดังนี้
ระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt สำหรับผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องการออกใบกำกับภาษีจำนวนมาก และเป็นระบบบัญชีขนาดใหญ่ โดยเป็นการจัดทำข้อมูลใบกำกับภาษี รวมถึงใบเพิ่มหนี้ ใบลดหนี้ และใบรับ ให้อยู่ในรูปข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ เช่น Microsoft Word, Microsoft Excel, PDF หรือ PDF/A-3 ที่ได้ลงลายมือชื่อดิจิทัล (Digital Signature) ส่งมอบแก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ ส่วนการนำส่งข้อมูลให้กรมสรรพากรต้องจัดทำข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ให้อยู่ในรูปแบบ XML File ตามมาตรฐานเท่านั้น
ขั้นตอนการยื่นคำขอจัดทำใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt
- เข้าเว็บไซต์กรมสรรพากร https://www.rd.go.th เพื่อยื่นคำขอ
- ดาวน์โหลดโปรแกรม Ultimate Sign & Viewer Free และติดตั้งลงเครื่องคอมพิวเตอร์
- เชื่อมต่ออุปกรณ์ Token หรือ HSM ที่จัดเก็บใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์กับเครื่องคอมพิวเตอร์ฅ
- กรอกเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรและตรวจสอบข้อมูล
- ลงลายมือชื่อใน บ.อ.01 และข้อตกลง
- ตรวจสอบอีเมล และสร้างบัญชีผู้ใช้งาน
- ตรวจสอบรายชื่อผู้ได้รับอนุมัติ บ.อ.01 ได้ที่เว็บไซต์ กรมสรรพากร
ระบบ e-Tax Invoice by Email สำหรับผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มขนาดเล็ก มีรายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาทต่อปี ระบบนี้เหมาะกับการออกใบกำกับภาษีจำนวนน้อย และเป็นระบบบัญชีขนาดเล็ก โดยเป็นการจัดทำข้อมูลใบกำกับภาษี ใบเพิ่มหนี้ ใบลดหนี้ และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมดในรูปแบบ PDF/A-3 มีข้อมูล XML ตามรูปแบบที่กำหนด รับรองเอกสารโดยการประทับรับรองเวลา (Times tamp) จากสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) และส่งมอบแก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการผ่าน e-mail ส่วนการนำส่งข้อมูลให้ กรมสรรพากร จะเป็นไปโดยอัตโนมัติ
ขั้นตอนการยื่นคำขอจัดทำใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ระบบ e-Tax Invoice by Email
- เข้าเว็บไซต์กรมสรรพากร https://www.rd.go.th เพื่อยื่นคำขอ
- กรอกเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรและตรวจสอบข้อมูล พิมพ์เอกสาร ก.อ.01 เพื่อลงนาม
- สแกน ก.อ.01 และเอกสารเกี่ยวข้องเพื่ออัปโหลดเอกสาร
- กรมสรรพากรตรวจสอบความถูกต้องและจัดส่งเอกสารยืนยันทางไปรษณีย์ พร้อมรหัสยืนยัน (Activate Code)
- ยืนยันตัวตนผ่านทางเว็บไซต์ และกำหนดรหัสผ่านภายใน 15 วันทำการ
- แจ้งอีเมลที่ประสงค์จะใช้ในการส่งใบกำกับภาษีและใบรับ
- ตรวจสอบรายชื่อผู้ได้รับอนุมัติ ก.อ.01 ได้ที่เว็บไซต์ กรมสรรพากร
สำหรับ โครงการช้อปดีมีคืน 2566 ระยะเวลาโครงการตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 - 15 กุมภาพันธ์ 2566 ลดหย่อนภาษีได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงวงเงินสูงสุดคนละ 40,000 บาท แบ่งเป็นวงเงินสำหรับการซื้อสินค้าและบริการจากร้านค้าทั่วไปไม่เกิน 30,000 บาท และการซื้อสินค้าผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่มีใบกำกับภาษีผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ 10,000 บาท โดยผู้ที่ต้องการเข้าร่วมโครงการ "ช้อปดีมีคืน 2566" ไม่จำเป็นต้องลงทะเบียน เพียงซื้อสินค้าหรือบริการตามเงื่อนไขที่กำหนด แล้วขอใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปจากร้านค้า แล้วนำมาใช้ประกอบการยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 2566 เพื่อหักลดหย่อนภาษีได้เหมือนกับค่าลดหย่อนอื่นๆทั่วไป
หลักฐานการยื่นลดหย่อนภาษี ช้อปดีมีคืน 2566
- ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปแบบกระดาษ
- ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์
- ใบเสร็จรับเงิน
สินค้าและบริการที่ใช้ลดหย่อนภาษี ช้อปดีมีคืน 2566 มีดังนี้
- สินค้าและบริการทั่วไปที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)
- หนังสือ (รวมถึง e-book)
- สินค้า OTOP ที่ลงทะเบียนกับกรมพัฒนาชุมชนแล้ว
สินค้าและบริการที่ไม่เข้าเงื่อนไขช้อปดีมีคืน 2566
- ค่าสุรา เบียร์ ไวน์
- ค่ายาสูบ
- ค่าน้ำมันและก๊าซสำหรับเติมยานพาหนะ
- ค่ารถยนต์ รถจักรยานยนต์ และเรือ
- ค่าหนังสือพิมพ์และนิตยสารและค่าบริการ หนังสือพิมพ์ และนิตยสารที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต
- ค่าบริการจัดนำเที่ยวที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว และมัคคุเทศก์
- ค่าที่พักในโรงแรมที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรม
- ค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า
- ค่าเบี้ยประกันวินาศภัย
- ค่าบริการสัญญาณโทรศัพท์
- ค่าบริการสัญญาณอินเทอร์เน็ต