รู้ยัง? สัญญาเช่าซื้อรถยนต์ - รถจักรยานยนต์ ใหม่ คิดดอกเบี้ยแบบลดต้น ลดดอก
รู้หรือไม่? สัญญาเช่าซื้อรถยนต์ - รถจักรยานยนต์ (ใหม่) คิดดอกเบี้ยแบบลดต้น ลดดอก เช็กหลักเกณฑ์ รายละเอียดได้ที่นี่
ตามที่มีการแชร์ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่อง สัญญาเช่าซื้อรถยนต์ - รถจักรยานยนต์ ใหม่ คิดดอกเบี้ยแบบลดต้น ลดดอก โดย กรมประชาสัมพันธ์ สำนักนายกรัฐมนตรี ได้ชี้แจงเพิ่มเติมถึงสาระสำคัญของประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาเรื่องให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2565 เพื่อย้ำถึงความเข้าใจที่ถูกต้อง
โดยสาระสำคัญของประกาศฯ สัญญาเช่าซื้อรถยนต์ - รถจักรยานยนต์ ใหม่ คิดดอกเบี้ยแบบลดต้น ลดดอก ประกอบด้วย 4 ประเด็นหลัก ดังนี้
1. การกำหนดกรอบอัตราดอกเบี้ยเช่าซื้อ มี 3 ประเภท
- รถยนต์ใหม่ต้องไม่เกินอัตรา ร้อยละ 10 ต่อปี
- รถยนต์ใช้แล้ว ต้องไม่เกินอัตรา ร้อยละ 15 ต่อปี
- รถจักรยานยนต์ต้องไม่เกิน ร้อยละ 23 ต่อปี
2. หากผู้บริโภคนำเงินมาชำระค่างวดครบก่อนกำหนด (ปิดบัญชี) จะได้รับส่วนลดดอกเบี้ย ในการปิดค่างวดเป็นขั้นบันได มี 3 กรณี ดังนี้
- ชำระค่างวด ไม่เกิน 1 ใน 3 ของค่างวดตามสัญญา ให้ได้รับส่วนลด ไม่น้อยกว่า ร้อยละ 60 ของดอกเบี้ยเช่าซื้อที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระ
- ชำระค่างวด ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 แต่ไม่เกิน 2 ใน 3 ของค่างวดตามสัญญา ให้ได้รับส่วนลด ไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ของดอกเบี้ยเช่าซื้อที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระ
- ชำระค่างวด เกินกว่า 2 ใน 3 ของค่างวดตามสัญญา ให้ได้รับส่วนลดทั้งหมด ของดอกเบี้ยเช่าซื้อที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระ
3. ในกรณีนำรถออกขายทอดตลาด หากผู้บริโภคถูกยกเลิกสัญญา และผู้ให้เช่าซื้อนำรถออกขายทอดตลาด โดยปกติแล้วผู้บริโภคต้องรับผิดชอบค่างวดที่ค้างอยู่ตามสัญญาประกอบด้วยเงินต้นและดอกเบี้ยที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระ ซึ่งประกาศฉบับนี้ให้คิดได้เฉพาะเงินต้นเท่านั้น
4. การคิดเบี้ยปรับในการผิดนัดชำระ กรณีผู้บริโภคชำระค่างวดล่าช้า หรือผิดนัดชำระค่างวด ผู้ให้เช่าซื้อสามารถคิดเบี้ยปรับจากผู้บริโภคได้ไม่เกินอัตราร้อยละ 5 ต่อปีโดยคำนวณจากยอดเงินที่ผิดนัดชำระ
ซึ่งประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาเรื่องให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2565 จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 10 มกราคม 2566 ซึ่งจะบังคับใช้เฉพาะสัญญาเช่าซื้อที่ทำตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา ส่วนสัญญาเช่าซื้อที่ทำก่อนวันที่ 10 มกราคม 2566 ยังคงมีผลบังคับใช้ไปจนกว่าจะสิ้นสุดสัญญา
อย่างไรก็ตาม หากผู้บริโภคถูกละเมิดสิทธิจากผู้ประกอบธุรกิจ สามารถขอรับคำปรึกษาได้ทาง สายด่วน 1166 หรือร้องทุกข์ ผ่านทางแอปพลิเคชัน OCPB Connect หรือผ่านทางเว็บไซต์ ocpb.go.th ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากกรมประชาสัมพันธ์ สำนักนายกรัฐมนตรี สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.prd.go.th หรือโทร 02 618 2323