กรมฝนหลวงฯ ครบ 1 ทศวรรษ จัดกิจกรรมสุดพิเศษโชว์ตลอด 3 วัน
งานวันสถาปนากรมฝนหลวง ฯ พบกับกิจกรรมสุดพิเศษ โชว์ผลงานเด่นด้านปฏิบัติการฝนหลวง งานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีฝนหลวง เครื่องบินทำฝนหลวงปลดประจำการ รับฟังงานเสวนา ระหว่างวันที่ 25-27 มกราคมนี้ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน กรุงเทพฯ
นายสุพิศ พิทักษ์ธรรม รองอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร รักษาราชการแทนอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า เนื่องในวันคล้ายวันสถาปนากรมฝนหลวงและการบินเกษตร ซึ่งในปีนี้เป็นปีครบรอบปีที่ 10 กรมฝนหลวงฯ ได้เตรียมกิจกรรมหลากหลายให้ประชาชนได้เข้าชมผลงานการปฏิบัติงานของกรมฝนหลวง ฯ ตลอดทศวรรษที่ผ่านมา อาทิ กิจกรรมเปิดบ้านฝนหลวง (Fonluang Open House) เพื่อนำเสนอผลงานการวิจัยที่โดดเด่น เช่น จรวดดัดแปรสภาพอากาศ อุปกรณ์พ่นสารฝนหลวงจากพื้นสู่ก้อนเมฆ เครื่องบินเป้าอากาศไร้นักบินเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติการฝนหลวงเมฆอุ่น สารฝนหลวงที่ใช้งานได้ในสภาพอากาศที่ความชื้นไม่ถึงร้อยละ 60 เป็นต้น มีการจัดแสดงเครื่องมือตรวจสภาพอากาศฝนหลวง และระบบข้อมูลสนับสนุนการปฏิบัติการฝนหลวงให้ถูกที่ถูกเวลา รวมทั้งได้นำเครื่องบินทำฝนหลวงที่ปลดประจำการแล้วมาโชว์ในงานอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีงานเสวนาแผนยุทธศาสตร์กรมฝนหลวงและการบินเกษตร พร้อมทั้งการลงนามบันทึกข้อตกลงกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีฝนหลวง และการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถตอบสนองต่อสถานการณ์ภัยพิบัติได้อย่างทันท่วงที และมีแนวทางปฏิบัติที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นต่อไป
“ภายในงานพี่น้องประชาชนจะได้ทำความรู้จักกับกรมฝนหลวง ฯ ประวัติความเป็นมาตั้งแต่ครั้งที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ผู้ทรงเป็นพระบิดาแห่งฝนหลวง ผู้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานตำราฝนหลวงพระราชทาน ให้ใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติการฝนหลวง รวมถึงพระอัจฉริยะภาพของพระองค์ท่านที่ทรงใช้หลักการและวิธีการทางวิทยาศาสตร์บริหารจัดการน้ำในอากาศ ดัดแปรสภาพอากาศให้เกิดเป็นฝนตกในพื้นที่ห่างไกลแหล่งน้ำเพื่อบรรเทาภัยแล้งให้ประชาชนคนไทย ซึ่งได้รับการยอมรับไปทั่วโลก
งานวันคล้ายวันสถาปนากรมฝนหลวง ฯ จัดระหว่างวันที่ 25-27 มกราคม 2566 ณ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน ผู้เข้าชมงานจะได้รับชมนิทรรศการผลงานปฏิบัติการฝนหลวงในหลากหลายมิติที่พัฒนาต่อยอดเรื่อยมาตลอดระยะเวลากว่า 10 ปี ซึ่งนอกจากภารกิจหลักในการบรรเทาและป้องกันภัยแล้งแล้ว ปฏิบัติการฝนหลวงยังครอบคลุมถึงปฏิบัติการเติมน้ำในเขื่อนเพิ่มน้ำต้นทุนสำหรับอุปโภคบริโภค เติมน้ำในดินเพิ่มความชุ่มชื้นลดสาเหตุการเกิดไฟป่า ปฏิบัติการดับไฟป่า ปฏิบัติการทำลายพายุลูกเห็บ ซึ่งผู้เข้าชมงานจะได้รับความเพลิดเพลินร่วมไปกับความเข้าใจปฏิบัติการขึ้นทำฝนหลวงอย่างเป็นรูปธรรม โดยเราจะเชิญนักเรียนนักศึกษาเข้าร่วมชมงานวันสถาปนากรมฝนหลวง ฯ ครบรอบ 10 ปีในครั้งนี้เพื่อสร้างเสริมความรู้ความเข้าใจงานฝนหลวงให้แก่เยาวชนด้วย” นายสุพิศกล่าว
รองอธิบดีกรมฝนหลวง ฯ กล่าวต่อว่า ตลอดระยะเวลาการสานต่อและน้อมนำศาสตร์ตำราฝนหลวง พระราชทานมาเป็นแนวทางปฏิบัติงาน เป็นที่ประจักษ์ชัดแจ้งว่าฝนหลวงช่วยบรรเทาภัยแล้งให้ประชาชน ให้เกษตรกรที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งน้ำหลักได้ ได้มีน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค มีน้ำให้พื้นที่เกษตร ตลอดจนปฏิบัติการอื่น ๆ ที่ต้องการการบริหารจัดการน้ำในอากาศให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดแก่ประชาชน
“ข้าราชการและเจ้าหน้าที่กรมฝนหลวงฯทุกคนจะมุ่งมั่นสานต่องานศาสตร์พระราชา ปฏิบัติการฝนหลวง เพื่อช่วยแก้ไขและบรรเทาปัญหาของประชาชนและเกษตรกรให้สมดั่งพระราชปณิธานรัชกาลที่ 9 พร้อมกับพัฒนาต่อยอดงานในอีก 7 ด้าน ได้แก่ การทำฝนหลวงแบบเต็มอิ่ม เทคโนโลยีเพิ่มประสิทธิภาพ ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ส่งเสริมงานวิจัย เพิ่มจำนวนอาสาสมัครฝนหลวง ยกระดับวัฒนธรรมองค์กร และยกระดับธรรมาภิบาลในภาครัฐ ซึ่งในวาระครอบรอบปีที่ 10 และปีต่อไปนี้พี่น้องทั้งประเทศจะได้ประจักษ์ว่าฝนหลวงที่พระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานมาจะอยู่เคียงข้างเป็นกำลังสนับสนุนด้านน้ำให้เกษตรกรและประชาชนคนไทยตลอดไป” นายสุพิศกล่าวในตอนท้าย