"โรคชิคุนกุนยา" หมอเตือนภัยเงียบ ไม่มียารักษา 4 จังหวัดป่วยทะลุ 134 ราย
สคร.9 เตือน "โรคชิคุนกุนยา" เป็นภัยเงียบ ช่วงปีที่แล้ว 4 จังหวัดป่วยทะลุ 134 ราย หมอชี้ยังไม่มียารักษา ย้ำเร่งกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย
วันที่ 26 มกราคม 2566 นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 (สคร.9) นครราชสีมา กล่าวถึง โรคไข้ปวดข้อยุงลาย หรือ "โรคชิคุนกุนยา" ซึ่งเป็นโรคติดเชื้อที่มี "ยุงลาย" เป็นพาหะนำโรค มีอาการคล้ายกับโรคไข้เลือดออก แต่อาการของผู้ป่วยจะไม่รุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต
ซึ่งสถานการณ์ของโรคไข้ปวดข้อยุงลาย หรือ โรคชิคุนกุนยา ในเขตสุขภาพที่ 9 (4 จังหวัด) ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 - 30 ธันวาคม 2565 พบผู้ป่วย 134 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต เมื่อแยกเป็นรายจังหวัดพบว่า จังหวัดชัยภูมิ มีผู้ป่วย 90 ราย , จังหวัดนครราชสีมา มีผู้ป่วย 12 ราย , จังหวัดสุรินทร์ มีผู้ป่วย 32 ราย และจังหวัดบุรีรัมย์ ไม่มีรายงานผู้ป่วย โดยช่วงอายุที่พบผู้ป่วยสะสมสูงสุด คือช่วงอายุ 45 - 54 ปี รองลงมาคืออายุ 25 - 34 ปี และอาชีพที่พบผู้ป่วยมากที่สุดคือ อาชีพเกษตรกร กับอาชีพรับจ้าง ส่วนสถานการณ์ของโรคฯในปี 2566 ยังไม่มีรายงานผู้ป่วย
ในปัจจุบันโรคไข้ปวดข้อยุงลาย หรือ โรคชิคุนกุนยา ยังไม่มียารักษา ต้องให้การรักษาตามอาการ และแม้อาการจะแตกต่างจากโรคไข้เลือดออก ตรงที่ไม่มีการรั่วของพลาสมาออกนอกเส้นเลือด จึงไม่พบผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมากจนถึงช็อก แต่เมื่อถูกยุงลายที่มีเชื้อกัดจะทำให้มีไข้สูงเฉียบพลัน ปวดศีรษะ หรือปวดกระบอกตา คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย มีผื่นแดงตามตัวแต่ไม่คัน และอาการที่สำคัญคือ ปวดข้อ ปวดกระดูก คล้ายกับโรคไข้เลือดออก
โรคไข้ปวดข้อยุงลาย หรือ โรคชิคุนกุนยา มาจากภาษาสวาฮิลี เป็นภาษาท้องถิ่นของทวีปแอฟริกา หมายถึง เจ็บจนตัวงอ สะท้อนให้เห็นถึงอาการของผู้ป่วยที่เจ็บปวดตามข้อ ปวดข้อต่อ ข้อนิ้ว ข้อเท้า เข่า ปวดกระดูก จึงต้องเน้นหนักเรื่องการป้องกันตนเองไม่ให้ถูกยุงกัด เมื่อมีอาการป่วยให้รีบไปพบแพทย์ ไม่ควรซื้อยากินเอง เช่น แอสไพริน หรือไอบูโปรเฟน เพราะจะเพิ่มโอกาสให้เลือดออกตามเนื้อเยื่อต่างๆได้
และใช้หลักการป้องกันเดียวกันกับโรคไข้เลือดออก คือ "3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค" 1. เก็บบ้านให้สะอาด เพื่อไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง และฉีดพ่นหมอกควันไล่ยุงตามบ้านเรือน 2. เก็บขยะบริเวณรอบบ้าน เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง 3. เก็บน้ำภาชนะที่ใส่น้ำเพื่ออุปโภค บริโภคต้องปิดฝาให้มิดชิด ล้างคว่ำภาชนะใส่น้ำ และเปลี่ยนน้ำในกระถางหรือแจกันทุกสัปดาห์ เพื่อช่วยป้องกัน 3 โรค คือ โรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคติดเชื้อไวรัสซิกา ซึ่งหากมีข้อสงสัย สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422
ข่าว ประสิทธิ์ ตั้งประเสริฐ จ.นครราชสีมา