จริงหรือ? เตรียมรับมือ "พายุไต้ฝุ่นเข้าไทย" หลายจังหวัดจะได้รับผลกระทบ
จริงหรือ? เตรียมรับมือ "พายุไต้ฝุ่นเข้าไทย" ความเร็วลม 118 กม./ชม. หลายจังหวัดจะได้รับผลกระทบ ล่าสุด กรมอุตุนิยมวิทยา ชี้แจงแล้ว
ตามที่มีการแชร์ข้อความเตือนภัยเรื่อง เตรียมรับมือ "พายุไต้ฝุ่นเข้าไทย" ความเร็วลม 118 กม./ชม. หลายจังหวัดจะได้รับผลกระทบ ล่าสุดทาง กรมอุตุนิยมวิทยา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ออกมาชี้แจงถึงประเด็นดังกล่าวแล้ว
จากกรณีที่มีการบอกต่อข้อมูลโดยระบุว่า "เตรียมรับมือพายุไต้ฝุ่นเข้าไทย" ความเร็วลม 118 กม./ชม. หลายจังหวัดจะได้รับผลกระทบ ทางกรมอุตุนิยมวิทยา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ตรวจสอบข้อมูลและชี้แจงว่า
"ข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลที่ไม่ได้มีที่มาจากข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยา ซึ่งจากการติดตามพยากรณ์อากาศ 7 วันข้างหน้า ระหว่างวันที่ 27 มกราคม - 2 กุมภาพันธ์ 2566 ในช่วงวันที่ 27 - 30 มกราคม 2566 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังแรงอีกระลอกหนึ่งจากประเทศจีนแผ่เสริมลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน และทะเลจีนใต้ ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอากาศหนาวเย็นลง กับมีลมแรง และอุณหภูมิจะลดลง 4 - 8 องศาเซลเซียส"
สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังแรงขึ้น ทำให้บริเวณภาคใต้ตอนล่างมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันมีกำลังแรง โดยอ่าวไทยมีคลื่นสูง 2 - 4 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 4 เมตร ส่วนบริเวณทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 1 - 2 เมตร บริเวณห่างฝั่งมีคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร
ส่วนในช่วงวันที่ 31 มกราคม - 2 กุมภาพันธ์ 2566 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังแรงจากประเทศจีนที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้จะมีกำลังอ่อนลง ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอุณหภูมิสูงขึ้น 3 - 5 องศาเซลเซียส กับมีหมอกในตอนเช้า แต่ยังคงมีอากาศเย็นถึงหนาวในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบนมีอากาศเย็นในตอนเช้า ในขณะที่มีลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้เข้ามาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลางตอนล่างในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566 ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนบางแห่งเกิดขึ้น
สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้จะมีกำลังอ่อนลง ทำให้บริเวณภาคใต้ตอนล่างมีฝนลดลง ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันจะมีกำลังอ่อนลง โดยอ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูง ประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนบริเวณทะเลอันดามันมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณห่างฝั่งมีคลื่นสูง 1 - 2 เมตร
ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อ และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ และเพื่อมิให้เกิดความสับสน และตื่นตระหนกขึ้นในสังคม หากมีสงสัยหรือต้องการข้อมูลเพื่อเติมสามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.tmd.go.th โทรสายด่วน 1182