สั่งรื้อแล้ว ! ปมราดยางมะตอยปิดทับโคนต้นไม้ เขตรักษาพันธุ์ฯ เชียงดาว
ผอ.สบอ.16 ลงพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว ตรวจสอบปัญหา ปมผู้รับเหมาราดยางมะตอยปิดทับโคนต้นไม้ ทำเอาโซเชียลถล่มยับ ล่าสุดรื้อยางมะตอยที่ทับออกแล้ว พร้อมปรับภูมิทัศน์โดยรอบ
เมื่อวันที่ 9 ก.พ.66 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่ผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊ก Vanchai Tantivitayapitak ได้โพสต์ภาพเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแห่งหนึ่ง ที่ราดยางมะตอยปิดทับโคนต้นไม้ พร้อมตั้งคำถามเหตุใดจึงมีการจัดการดูแลป่าแบบไม่มีความรู้ ทั้งที่เป็นพื้นที่รับผิดชอบของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เกิดกระแสวิจารณ์อย่างหนักนั้น
ล่าสุด ทางนายอิศเรศ สิทธิโรจนกุล ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 พร้อมด้วยนางสาวจิราภรณ์ มีวาสนา หัวหน้ากลุ่มงานสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 (เชียงใหม่) และนายวิทธวัช ทะวาปี นักวิชาการป่าไม้ปฏิบัติการ ได้ร่วมกันลงพื้นที่ตรวจสอบอย่างเร่งด่วน พบว่าจุดดังกล่าวนั้นอยู่บริเวณจุดรวมพลของนักศึกษาธรรมชาติที่จะเดินขึ้นดอยหลวงเชียงดาว ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของศูนย์บริการนักท่องเที่ยวเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว
ต่อมา นายอิศเรศ โรจนกุล ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ได้มีการใช้จอบขุดยางมะตอยออกจากพื้นที่บริเวณดังกล่าว ซึ่งมีการราดยางมะตอยไว้ทั้งหมด ประมาณ 300 ตารางวาซึ่งมีต้น ยางแดง /อบเชย /ประดู่ มะม่วง/ ตะแบก และพลับพลาทั้งหมด 27 ต้น
โดยเป็นไม้ของป่าเต็งรังและให้มีการขุดยางมะตอยและหินกรวดออกให้หมดเพื่อคืนหน้าดินให้กลับเข้าสู่ปกติ เพื่อให้รากต้นไม้ประสานกันเหมือนเดิมพร้อมนำเจ้าหน้าที่กลุ่มงานวิชาการเข้าสำรวจพื้นที่และต้นไม้ด้วยว่ามีต้นไม้ต้นใดได้รับผลกระทบหรือไม่
ด้านนายอิศเรศ โรจนกุล ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 กล่าวว่า หลังมีการแชร์ภาพลงบนโลกโซเชียล เมื่อช่วงเย็นวานนี้ (8 กพ.66) จึงได้สั่งการให้หัวหน้าเขตรักษาพันธ์สัตว์เชียงดาว และผู้รับเหมาให้หยุดดำเนินการ พร้อมหาวิธีแก้ไขโดยด่วน
วันนี้ก็ได้เข้ามาในพื้นที่พร้อมกับผู้เชี่ยวชาญในการดูแลต้นไม้เป็นกรณีพิเศษ ซึ่งเดิมพื้นที่ตรงนี้เป็นจุดรวมพลของนักท่องเที่ยวที่จะเดินขึ้นดอยหลวงทุกปี ทางหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าก็ได้ทำเรื่องเพื่อขอทำที่จอดรถ และรวมพลเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้มีที่พัก
โดยปีนี้ ทางศูนย์วิศวรกรรมเชียงใหม่ ได้ดำเนินการซึ่งก็ต้องยอมรับว่าเป็นข้อผิดพลาดจากการประสานงานในการดำเนินการในพื้นที่ มีการเทพื้นชั้นแรกชิดต้นไม้เกินไป เป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมอยู่แล้ว
"ต้องขอขอบพระคุณทางผู้ใช้โซเชียลที่ค่อยเป็นหูเป็นตา และกระบอกเสียงที่ให้ทางเจ้าหน้าที่ได้รับทราบข้อเท็จจริงว่าการดำเนินการจะเทพื้นตรงไหนต้องมีการสำรวจก่อนควรหรือไม่ควรอย่างไร และในอนาคตบางพื้นที่หากต้องการมีการพัฒนาสาธารณูปโภคนั้นจะต้องคำนึงถึงต้นไม้เป็นหลัก หรือว่าเข้ามาสำรวจก่อนทุกครั้งเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาเช่นนี้อีกด้วย" ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 กล่าว