ใช้หลัก 3 ป. สกัดโรคพิษสุนัขบ้าระบาด- ฉีดวัคซีนผู้สัมผัสเชื้อครบแล้ว
สคร.9 โคราช ใช้หลัก 3 ป. สกัดโรคพิษสุนัขบ้าระบาด 4 จังหวัดนครชัยบุรินทร์ ฉีดวัคซีนผู้สัมผัสเชื้อครบแล้ว 74 ราย
เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2566 นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา (สคร.9) เปิดเผยว่า โรคพิษสุนัขบ้า เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คนจากเชื้อไวรัสเรบีส์ (Rabies virus) โดยเชื้อจะเข้าทางบาดแผลที่ถูกกัด ข่วน หรือเลีย หรือสัมผัสกับน้ำลายของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมทุกชนิดที่ติดเชื้อ สัตว์ที่พบบ่อยที่สุดคือ สุนัข รองลงมาคือ แมวและวัว ผู้ที่ได้รับเชื้อพิษสุนัขบ้าจากสัตว์ อาการเริ่มแรกจะมีไข้ต่ำๆ ต่อมามีอาการคัน มักเริ่มจากบริเวณแผลที่ถูกกัด แสบๆ ร้อนๆ แล้วลามไปส่วนอื่น บางคนคันมากจนกลายเป็นแผลอักเสบ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ต่อมากระสับกระส่าย กลัวแสง กลัวลม พูดเพ้อเจ้อ กระวนกระวาย หนาวสั่น ตามักเบิกโพลงบ่อยๆ บางครั้งเข้าใจผิดคิดว่าเป็นโรคทางจิต มีอาการกลืนลำบาก น้ำลายไหล กล้ามเนื้อกระตุก แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก อาจชักเกร็ง อัมพาต หมดสติ และเสียชีวิตในที่สุด
จากข้อมูลระบบสารสนเทศเพื่อการเฝ้าระวังโรคพิษสุนัขบ้า (Thai rabies.net) ตั้งเเต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 ถึงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566 เขตสุขภาพที่ 9 พบจำนวนสัตว์ติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า จำนวน 10 ตัวอย่าง โดยพบที่ จ.บุรีรัมย์ 5 ตัวอย่าง จ.สุรินทร์ 5 ตัวอย่าง พบผู้สัมผัสโรคพิษสุนัขบ้าทั้งสิ้น 74 ราย โดยพบที่ จ. สุรินทร์ 67 ราย จ.บุรีรัมย์ 7 ราย และผู้สัมผัสโรคทุกรายได้รับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าครบ
ประชาชนทุกคนสามารถร่วมมือร่วมใจกันกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดไปจากประเทศไทยได้ โดยใช้หลัก 3 ป. ดังนี้ ป.ที่ 1 คือ ป้องกันสัตว์เป็นโรค โดยการนำสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า เริ่มฉีดครั้งแรกเมื่ออายุ 2-4 เดือน และฉีดซ้ำตามกำหนดทุกปี ทำหมันสุนัขถาวรเพื่อไม่ให้มีจำนวนมากเกินความต้องการ จะช่วยลดสุนัขจรจัด และหากพบสัตว์ตายผิดปกติ ขอให้ส่งซากสัตว์ไปตรวจหาเชื้อซึ่งปัจจุบันสามารถส่งได้ทั้งตัวไม่ต้องตัดหัว ผู้ที่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ส่งตรวจได้ที่สถานเสาวภา สภากาชาดไทย ในต่างจังหวัดส่งที่สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดและอำเภอ ป.ที่ 2 คือ ป้องกันการถูกกัด ไม่ปล่อยสุนัขหรือแมวออกนอกบ้านตามลำพัง หากต้องพาออกไปนอกบ้านให้ใส่สายจูง
นอกจากนี้ประชาชนยังสามารถหลีกเลี่ยงการถูกกัดโดยยึดคาถา 5 ย. คือ 1.อย่าแหย่ให้สุนัขโมโห โกรธ 2.อย่าเหยียบหาง หัว ตัว ขา หรือ ทำให้สุนัขหรือสัตว์ต่างๆ ตกใจ 3.อย่าแยกสุนัขที่กำลังกัดกันด้วยมือเปล่า 4.อย่าหยิบชามข้าวหรือเคลื่อนย้ายอาหารขณะที่สุนัขกำลังกินอาหาร และ 5.อย่ายุ่งหรือเข้าใกล้กับสุนัขที่ไม่มีเจ้าของหรือไม่ทราบประวัติ ป.ที่ 3 ป้องกันหลังถูกกัด โดยรีบล้างแผลด้วยน้ำและสบู่อย่างเบามือนานอย่างน้อย 10 นาที เพื่อกำจัดเชื้อออกไปให้มากที่สุด จากนั้นใส่ยาฆ่าเชื้อที่บาดแผล และกักสุนัขเพื่อดูอาการ 10 วัน หากสุนัขตายให้ส่งตรวจหาเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า และไปพบแพทย์ เพื่อฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ควรฉีดให้ครบชุดและตรงตามแพทย์นัด อาจท่องจำง่ายๆ คือ "ล้างแผล ใส่ยา กักหมา หาหมอ และฉีดวัคซีนให้ครบ" เพียงเท่านี้ก็สามารถป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าได้ หากประชาชนมีข้อสงสัย สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422