"ฝุ่น PM 2.5" ลำปาง วางมาตรการลด-ป้องกันผลกระทบสุขภาพ

"ฝุ่น PM 2.5" ลำปาง วางมาตรการลด-ป้องกันผลกระทบสุขภาพ

สสจ.ลำปาง เผย ฝุ่นละอองเล็ก PM 2.5 มีแนวโน้มเกินค่ามาตรฐาน ในช่วง ม.ค. ถึง เม.ย. วางมาตรการลดและป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพ พร้อมเฝ้าระวังผู้ป่วยที่มีผลกระทบ 4 กลุ่มโรค

เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2566 นายแพทย์ประเสริฐ กิจสุวรรณรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดลำปาง กล่าวว่า สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) มีแนวโน้มเกินค่ามาตรฐาน ในช่วงเดือนมกราคม จนถึงเดือนเมษายนของทุกปี ปัจจุบันปริมาณค่าฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ของจังหวัดลำปาง มีค่าเกินมาตรฐาน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ตั้งแต่วันที่ 24 มกราคม - 13 กุมภาพันธ์ 2566 และวันนี้ (13 กุมภาพันธ์ 2566) มีค่าปริมาณ PM 2.5 สูงที่สุดของปี 2566 มีค่า 135 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และมีแนวโน้มสูงเพิ่มขึ้น โดยช่วงสัปดาห์นี้คาดการณ์ว่าอัตราการระบายอากาศมีแนวโน้มลดลง อาจส่งผลให้ปริมาณ ฝุ่น PM 2.5 มีแนวโน้มสูงขึ้น (ข้อมูลจากสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 2 ลำปาง) อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนชาวจังหวัดลำปาง

สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลำปาง ได้เฝ้าระวังผู้ป่วยกลุ่มโรคที่มีผลกระทบ 4 กลุ่มโรค ประกอบด้วย โรคระบบทางเดินหายใจ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคตา และโรคผิวหนัง พบว่า ตั้งแต่วันที่1 มกราคม – 12 กุมภาพันธ์ ของปี 2565 – 2566 เพิ่มขึ้นจากปี 2565 โดยพบจำนวนผู้ป่วยนอกที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลด้วยโรคที่เฝ้าระวัง ปี 2565 จำนวน 3,958 ครั้ง และปี 2566 จำนวน 4,206 ครั้ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.27 พบผู้ป่วยมากขึ้นโดยเฉพาะผู้ป่วยระบบทางเดินหายใจ เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.52 และกลุ่มโรคทางตา เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.52 ส่วนกลุ่มโรคผิวหนัง และโรคระบบหัวใจและหลอดเลือด พบจำนวนลดลง ร้อยละ 11.43 และ 4.38 ตามลำดับ

สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลำปาง มีมาตรการดำเนินงาน 3 มาตรการ และ 10 กิจกรรมการดำเนินงาน เพื่อการลดและป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพจากฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน PM2.5 ดังนี้

มาตรการ : ลดและป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพ

1. เฝ้าระวังและแจ้งเตือนสถานการณ์ความเสี่ยงต่อสุขภาพ โดยการสื่อสารความรู้/ความตระหนัก เรื่อง PM 2.5 ทั้งระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน โดยเฉพาะ อาสาสมัครสาธารณสุขในพื้นที่ ผ่านช่องทางต่างๆ เช่น กลุ่มไลน์ เวปไซต์ Facebook เสียงตาสายในหมู่บ้าน

2. เฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพและพฤติกรรมสุขภาพใน 4 กลุ่มโรค (กลุ่มโรคทางเดินหายใจ, กลุ่มโรคหัวใจหลอดเลือด, กลุ่มโรคตาอักเสบ, กลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ) โดยการเฝ้าระวังการเจ็บป่วย และสอบสวนโรคในกรณีที่พบผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจำนวนมาก

มาตรการ : จัดบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุข

1. สนับสนุนอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลแก่กลุ่มเสี่ยง ได้สนับสนุนหน้ากาก N95 ให้หน่วยบริการ ทุกแห่ง 144 แห่ง จำนวน 13,000 ชิ้น เพื่อแจกจ่ายให้กับกลุ่มเปราะบาง และกลุ่มที่มีโรคประจำตัว โดยเฉพาะ โรคหืด และโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง

2. โรงพยาบาลทุกแห่งเปิดดำเนินการคลินิกมลพิษ เพื่อให้คำปรึกษาประชาชน และเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์กรณีพบผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5)
 

3. เยี่ยมบ้าน โดยทีม 3 หมอ กลุ่มเปราะบาง ประกอบด้วย เด็กเล็ก หญิงมีครรภ์ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดบ้าน/ติดเตียง ผู้ที่มีโรคประจำตัว โดยเฉพาะ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหืด และส่งเสริมให้ใช้ N95 ในการป้องกันฝุ่น PM 2.5 โดยในช่วงตั้งแต่ 1 มกราคม – 12 กุมภาพันธ์ 2566 หน่วยบริการสาธารณสุข ได้เยี่ยมบ้านไปแล้วทั้งสิ้น 40,989 คน

4. ตรวจสุขภาพผู้ปฏิบัติงานดับไฟป่า ก่อนเข้าปฏิบัติงานดับไฟป่า ตั้งแต่วันที่ 23 มกราคม 2566 เบื้องต้นตรวจสุขภาพผู้ปฏิบัติงานดับไฟป่าไปแล้วจำนวน 462 คน ผลตรวจปกติ 121 ราย คิดเป็นร้อยละ 26.19 ผิดปกติ 431 ราย คิดเป็นร้อยละ 73.81 พบอาการผิดปกติ 3 ลำดับแรก ได้แก่ ระดับไขมันในเลือดสูง ดัชนีมวลกาย ระดับน้ำตาลในเลือด คิดเป็นร้อยละ 58.44 38.96 และ 33.77 ตามลำดับ และได้ให้คำแนะนำในการปฏิบัติตัวเพื่อความปลอดภัยจากการปฏิบัติงาน

5. ส่งเสริมให้มีการจัดห้องปลอดฝุ่น (Clean Room) ในสถานที่ต่างๆ ในเดือน มกราคม 2566 มีการรณรงค์ดำเนินการใน สถานที่ทำงาน ศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียน และอื่นๆ รวม 387 ห้อง

มาตรการ : เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ

1. สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลำปางเปิดประชุมศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อลดและป้องกันฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอนวันที่ 26 มกราคม 2566 ณ ห้องประชุมสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลำปาง ได้มีข้อสั่งการให้หน่วยบริการสาธารณสุขทุกแห่ง เตรียมการเฝ้าระวัง ดูแลและ ป้องกันผลกระทบ ต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่จากสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก

2. ส่งเสริมและขับเคลื่อนการบังคับใช้กฎหมาย พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และพระราชบัญญัติโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2562

3. ส่งเสริมองค์กรสาธารณสุขต้นแบบลดมลพิษ เช่น กิจกรรมตรวจควันดำรถยนต์ราชการ Big Cleaning ล้างแอร์ ปลูกต้นไม้ Car Pool เพิ่มพื้นที่สีเขียว เป็นต้น

ข้อแนะนำสำหรับประชาชน

1. ประชาชนติดตามสถานการณ์ปริมาณฝุ่น PM 2.5 ในแต่ละวันจาก กรมควบคุมมลพิษ เว็บไซต์ Air 4 thai และจากการประชาสัมพันธ์ของจังหวัดลำปาง

2. กรณีมีค่าฝุ่น PM 2.5 สูงเกินค่ามาตรฐาน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

กลุ่มประชาชนทั่วไป

1. ให้ใช้สวมหน้ากากอนามัย ป้องกันฝุ่นละออง แนะนำให้ใช้หน้ากาก N95 ซึ่งมีประสิทธิภาพในการป้องกันฝุ่น PM 2.5 ได้ดีกว่าหน้ากากอนามัยธรรมดา

2. หลีกเลี่ยง หรือ งดกิจกรรมการออกกำลังกายกลางแจ้ง

3. หากมีมีอาการผิดปกติควรปรึกษาแพทย์

กลุ่มเปราะบาง ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัว

1. แนะนำให้ใช้หน้ากาก N95 ในการป้องกันตัวเอง ซึ่งมีประสิทธิภาพในการป้องกันฝุ่น PM 2.5 ได้ดีกว่าหน้ากากอนามัยธรรมดา

2. งดกิจกรรมการออกกำลังกายกลางแจ้ง

3. สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัว ควรเตรียมยาและเวชภัณฑ์ให้พร้อม และรับประทานยาอย่างต่อเนื่อง

4. หากมีอาการผิดปกติควรปรึกษาแพทย์

ขอความร่วมมือจัดเตรียมห้องปลอดฝุ่น ในสถานที่ต่างๆ เช่น สถานที่ทำงาน/ภาครัฐ เอกชน สถานศึกษา ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โรงงาน สถานประกอบการ ห้างร้าน ร้านอาหาร/ร้านกาแฟ

การจัดเตรียมห้องปลอดฝุ่น (Clean Room) มีองค์ประกอบ

1. เป็นห้องที่มีการปิดประตูหน้าต่าง และซีลขอบประตูหน้าต่างให้มิดชิด

2. มีระบบปรับอากาศภายในห้อง (Air Conditioner)

3. มีเครื่องฟอกอากาศ ที่ใช้ใส้กรองเฮปป้า (HEPA filter)

สำหรับครัวเรือน ขอความร่วมมือให้มีการทำความสะอาดบ้านเรือนให้สะอาดเป็นระเบียบ งดกิจกรรมการเผาสร้างมลพิษ ปิดประตูหน้าต่างให้มิดชิด กรณีมีค่าฝุ่น PM 2.5 สูงเกินค่ามาตฐาน และส่งเสริมให้จัดห้องปลอดฝุ่นในครัวเรือน