ธุรกิจการบินเชียงใหม่ฟื้นตัว เตรียมอัดฉีด 1 หมื่นล้าน สร้างอาคารผู้โดยสาร

ธุรกิจการบินเชียงใหม่ฟื้นตัว เตรียมอัดฉีด 1 หมื่นล้าน สร้างอาคารผู้โดยสาร

ท่าอากาศยานเชียงใหม่ สรุปตัวเลขเที่ยวบิน-ผู้โดยสารปี 65 กลับมาฟื้นตัว เตรียมอัดฉีดอีก 10,000 ล้านบาท สร้างอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ ขณะที่ปี 66 การบินในประเทศ-ต่างประเทศ กลับสู่ภาวะปกติร้อยละ 63 - การก่อสร้างสนามบินแห่งที่ 2 นำผลมติบอร์ดลุ้นรัฐบาลพิจารณาอนุมัติ

เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายวิจิตต์ แก้วไทรเทียม ผู้อำนวยการท่าอากาศยานเชียงใหม่ แถลงข่าวผลการดำเนินงานของท่าอากาศยานเชียงใหม่ ในโอกาสครบรอบ 35 ปี ว่า 10 ปีที่ผ่านมา ท่าอากาศยานเชียงใหม่ มีอัตราการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2562 มีจำนวนผู้โดยสารสูงสุดกว่า 11,300,000 ล้านคน ส่วนปี 2536-2564 เป็นช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 แต่หลังจากรัฐบาลไทยผ่อนคลายมาตรการการเดินทาง ทำให้ในปี 2565 ที่ผ่านมา ทั้งเที่ยวบิน และจำนวนผู้โดยสารกลับมาฟื้นตัว โดยมีอากาศยานพาณิชย์ บินขึ้น-ลง 39,027 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ร้อยละ 90.88 มีจำนวนผู้โดยสาร 5.46 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ร้อยละ 209.72 มีปริมาณการขนถ่ายสินค้า 5,588 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ร้อยละ 68.42

นายสรายุทธ จำปา รองผู้อำนวยการท่าอากาศยานเชียงใหม่ (สายสนับสนุนธุรกิจ) กล่าวว่า ปีนี้ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) มีแผนพัฒนาสนามบินเชียงใหม่ ระยะเร่งด่วน โดยจะมีการย้ายอาคารคลังสินค้า และ อาคารดับเพลิง ไปทางทิศใต้ของสนามบิน เพื่อบรรเทาความแออัด ซึ่งเป็นงานก่อสร้างกลุ่มอาคารทดแทน ได้แก่ อาคารดับเพลิง อาคารคลังสินค้า และลานจอด GSE โดยอยู่ระหว่างเตรียมเข้ากระบวนการจัดหาภายในปีงบประมาณ 2566 ใช้งบประมาณ 700 ล้านบาท

ส่วนระยะที่ 1 ซึ่งจะเป็นการสร้างอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศที่จะใช้งบประมาณ กว่า 10,000 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณารายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งดำเนินการควบคู่ไปกับการจ้างออกแบบและจัดหาผู้รับจ้าง โดยคาดว่าจะได้ผู้รับจ้างภายในปีงบประมาณ 2566 เช่นกัน

ด้านนายณัฐวุฒิ ทาอินต๊ะ รองผู้อำนวยการท่าอากาศยานเชียงใหม่ (สายปฏิบัติการ) กล่าวว่า ปัจจุบันท่าอากาศยานเชียงใหม่ มีสายการบินที่ให้บริการทั้งหมด 24 สายการบิน ใน 30 เส้นทาง เป็นสายการบินภายในประเทศ 12 เส้นทาง ครอบคลุมทั่วทุกภูมิภาค และมีเส้นทางบินตรงระหว่างประเทศ 18 เส้นทาง ซึ่งเมื่อเทียบกับปี 2562 ก่อนเกิดสถานการณ์โควิด 19 ถือว่าการให้บริการในภาพรวมกลับคืนมาแล้วกว่าร้อยละ 63 โดยเส้นทางล่าสุดที่คาดว่าจะเปิดให้บริการในตารางฤดูร้อนคือช่วงปลายเดือนมีนาคมที่จะถึงนี้ ได้แก่ เส้นทาง คุนหมิง-เชียงใหม่

ส่วนการสร้างสนามบินแห่งที่2 เบื้องต้น ทางบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ไม่ได้มีอำนาจในการ อนุมัติก่อสร้าง เป็นเพียงการทำงานวิจัย ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อสำรวจพื้นที่ โดยในงานวิจัยระบุว่าพื้นที่ ที่เหมาะสม คือ พื้นที่อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ คาบเกี่ยวกับพื้นที่ อำเภอบ้านธิ จังหวัดลำพูน โดย อำนาจในการจะอนุมัติก่อสร้างต้องขึ้นอยู่กับรัฐบาล หลังจากนี้ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) จะนำผลมติบอร์ดเสนอต่อกระทรวงคมนาคมเพื่อนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)เพื่อพิจารณาอนุมัติหลักการ และจะนำเสนอต่อที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น เพราะเป็นโครงการใหญ่