ความรุนแรงในครอบครัวไม่เคยจางหาย | ว่องวิช ขวัญพัทลุง
สังคมยุคปัจจุบัน คนส่วนใหญ่เริ่มตระหนักถึงความเท่าเทียมเรื่องเพศ เชื้อชาติ ศาสนา สิทธิและเสรีภาพ ภายใต้การคุ้มครองของกฎหมายแม่บทอันเป็นรัฐธรรมนูญ
แต่เหตุใด? บนหน้าสื่อต่างๆ เรายังคงเห็นข่าวที่เป็นการกระทำต่อกันที่รุนแรง ทั้งในทางเสรีภาพ ชีวิต และร่างกาย ไม่เว้นแม้กระทั่งการกระทำระหว่าง “คนในครอบครัว”
เมื่อไม่นานมานี้ก็เกิดเป็นคดีสะเทือนขวัญที่ “สามีอำมหิตราดน้ำมันแล้วจุดไฟเผาก่อนกระหน่ำแทงซ้ำภรรยาเสียชีวิตในสภาพเปลือยกลางที่สาธารณะ” เพียงเพราะเหตุ “ความหึงหวง” ย้อนไปในอดีตเมื่อปี 2544 ก็มีคดีสูตินรีแพทย์ฆ่าและชำแหละศพอดีตภรรยาที่เป็นสูตินรีแพทย์ด้วยกัน
แล้วอำพรางคดีโดยทิ้งเนื้อที่ชำแหละลงบ่อเกรอะ เกิดเป็นตำนาน “คดีพิศวาสฆาตกรรม” ที่ใช้เวลาพิสูจน์ความจริงในกระบวนการยุติธรรมนานร่วม 6 ปี “เพียงเพราะการหย่าร้างและความขัดแย้งจากการขอสิทธิเลี้ยงดูบุตรภายในครอบครัว”
เพื่อหาคำตอบของปัญหาดังกล่าวผู้เขียนจึงขออธิบาย “โครงสร้างของความรุนแรง” ภายใต้หลักการทางสังคมวิทยา และหลักนิติธรรมทางกฎหมาย โดยแยกออกเป็นสองประเด็นศึกษา ดังนี้
1. ความรุนแรงทางสังคม
หลักการนี้ถูกอธิบายโดยนักสังคมวิทยามากมายว่า “พฤติกรรมมนุษย์ ย่อมแปรผันไปตามบริบทของกลุ่มคน สังคม ภายใต้กฎเกณฑ์และกระบวนการทางสังคมที่ยึดเหนี่ยวหรือแบ่งแยกผู้คน ผ่านสภาวะที่เป็นปัจเจกและผ่านสถานะสมาชิกแห่งกลุ่มก้อนของสังคม”
กล่าวคือ กระบวนการขัดเกลาสมาชิกของแต่ละสังคมย่อมเป็นเครื่องชี้นำ หรือหล่อหลอมการกระทำของสมาชิกแห่งสังคม ผ่านการเรียนรู้ และตกทอดสืบมารุ่นสู่รุ่น เปรียบเสมือนค่านิยมแห่งสังคมที่แสดงออกผ่านทัศนคติของผู้กระทำ ผู้ถูกกระทำ รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้อง
ซึ่งในที่นี้หากจะอธิบายผ่านประวัติศาสตร์ของสังคมมนุษย์ “สังคมปิตาธิปไตย” ย่อมเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด
“สังคมปิตาธิปไตย” คือ ระบบวิธีคิดแบบชายเป็นใหญ่ แสดงออกซึ่งความไม่เท่าเทียมกันระหว่างชายและหญิง โดยใช้โครงสร้างทางสังคมอันเป็นตัวกำหนดสิทธิ อำนาจ รวมถึงเสรีภาพ ผ่านทางสถาบันครอบครัว ระบบเครือญาติ สถาบันการเมืองการปกครอง และสถาบันทางศาสนา
โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาไปที่ “สถาบันครอบครัว” อันเป็นพื้นฐานแห่งสังคม เห็นได้ว่าสามีจะเป็นใหญ่โดยมีภรรยาและลูกเป็นผู้ตกอยู่ภายใต้อำนาจ
ลักษณะความสัมพันธ์เชิงอำนาจเช่นนี้ เป็นที่มาให้ภรรยาย่อมต้องตกเป็นผู้เสียเปรียบอยู่เสมอ พิจารณาได้จาก พฤติกรรมที่สามีมีสิทธิที่จะตั้งชื่อลูก หรือกำหนดทิศทางการตัดสินใจของครอบครัว
และภรรยาจะต้องรับภาระหน้าที่ในงานบ้าน รับใช้สามี ดูแลลูก ก่อผลที่ตามมาคือหากสามีใช้อำนาจครอบงำที่มากเกินควรย่อมนำมาซึ่ง “ปัญหาความรุนแรงในบ้าน” “การข่มขืนหรือทุบตีภรรยา” หรืออาจรุนแรงถึงการ “เอาชีวิต” ของอีกฝ่ายได้
ความรุนแรงเหล่านี้ เรียกว่า “ความรุนแรงทางวัฒนธรรม (Cultural Violence)” คำถามที่เกิดขึ้นตามมาคือ แล้วหากไม่มีการใช้กำลังทะเลาะตบตี เป็นเพียงแค่การใช้อำนาจครอบงำให้ทำอย่างนั้น อย่างนี้
หรือด่าทอใช้ถ้อยคำหยาบคาย ด้วยอ้างความปรารถนาดี เช่นนี้ยังถือว่าเป็นความรุนแรงทางวัฒนธรรมอยู่หรือไม่? คำตอบจึงต้องพิจารณาโครงสร้างความรุนแรงในประเด็นถัดไป
2. ความรุนแรงเชิงโครงสร้าง
คือ ลักษณะหรือแนวคิดที่บิดเบี้ยว บกพร่องและขาดความเท่าเทียมผ่านกระบวนการจัดการ การกระทำความผิดอันละเมิดต่อสิทธิ เสรีภาพ ทั้งในทรัพย์สิน ร่างกาย เพศ ชื่อเสียง รวมถึงชีวิตของสมาชิกในสังคม
กล่าวคือ สังคมที่จะดำรงอยู่ต่อไปได้นั้นต้องเป็นสังคมที่มีหลักนิติธรรมเชิงโครงสร้าง ผ่านระบบ กฎเกณฑ์ และกระบวนการที่ต้องเข้าถึงง่ายและเท่าเทียม ภายใต้เงื่อนไขแห่งความโปร่งใสอันตรวจสอบได้ ซึ่งเรียกว่า “กระบวนการยุติธรรมภายใต้กฎหมาย”
สังคมจะกำหนดกฎเกณฑ์เพื่อเป็นกรอบของการอยู่ร่วมกันอันคำนึงถึงสิทธิของสมาชิกของสังคมอย่างเท่าเทียม กำหนดบทลงโทษหากไม่ปฏิบัติตาม (กฎหมาย) และกำหนดวิธีการให้ได้มาซึ่งความยุติธรรมไว้อย่างชัดเจน (ระบบศาล)
กฎเกณฑ์ และกระบวนการดังกล่าวนี้ถูกสร้างมาเพื่อลดอัตราการเกิดความรุนแรงในสังคม ด้วยการการันตีสิทธิ เสรีภาพต่างๆ ให้กับทุกคนในสังคม ไม่ว่าสมาชิกแห่งสังคมนั้นจะอยู่ในฐานะอย่างไร หรือสถานภาพใดก็ตาม
อธิบายผ่านข้อเท็จจริงก็คือ ไม่ว่าสมาชิกจะมีฐานะทางการเงินดีแค่ไหนก็ตาม หากกระทำความผิดต่อสมาชิกคนอื่นในสังคม ย่อมต้องรับผิดโดยไม่สามารถใช้ฐานะทางการเงินมาเป็นข้อยกเว้น
เช่นเดียวกันแม้จะมีสถานภาพเป็นสามี ก็ย่อมไม่มีสิทธิครอบงำเหนือภรรยาภายใต้ความเท่าเทียมแห่งกฎเกณฑ์ที่กำหนดไว้
ประเด็นที่จะนำไปสู่คำตอบที่ได้ตั้งไว้ก่อนหน้านี้ก็คือ กฎเกณฑ์ของเราคุ้มครองสิทธิได้ดีแค่ไหน? การเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมจะต้องทำอย่างไร? มีหน่วยงานรัฐใดบ้างที่ต้องให้ความรู้และคุ้มครองต่อสมาชิกในสังคมในหัวข้อนี้? หรือกระบวนการยุติธรรมได้ธำรงไว้ซึ่งความยุติธรรมที่แท้จริงหรือไม่?
เหล่านี้คือคำถามอันแสดงให้เห็นถึงภาวะวิกฤติศรัทธาต่อกระบวนการยุติธรรมของสมาชิกในสังคม ซึ่งนำมาสู่ “ความรุนแรงเชิงโครงสร้าง (Structural Violence)” ถึงตรงนี้ผู้อ่านจะเห็นได้ว่า “ความรุนแรงทางวัฒนธรรม (Cultural Violence)” และ “ความรุนแรงเชิงโครงสร้าง” ย่อมเป็นส่วนประกอบซึ่งกันและกันของการเกิด “ความรุนแรง”
หากสังคมใดที่มีความรุนแรงทางวัฒนธรรมที่สูง แต่ความยุติธรรมเชิงโครงสร้างยังมั่นคง ผ่านการมีกฎหมายที่คุ้มครองอย่างเท่าเทียมไม่คำนึงถึงเพียงแค่คำว่า “ฐานะ” หรือ “สถานะ” ปรับใช้บริบทของการลงโทษแบบยุติธรรมโดยปราศจาก “อคติ” ทางอำนาจหน้าที่ อัตราความรุนแรงของสังคมนั้นก็ย่อมน้อยลง
เพราะโครงสร้างความรุนแรงได้ถูกสร้างสมดุลผ่านกระบวนการยุติธรรม ดังนั้น กล่าวได้ว่าก้าวแรกของการหยุดโครงสร้างความรุนแรง คือ การตระหนักและไม่ละเลยต่อสิทธิที่ตนมี และไม่ไปละเมิดสิทธิของผู้อื่น ในทางกลับกัน ประกอบกับการมีองค์ความรู้ในการใช้กระบวนการยุติธรรมให้เกิดประโยชน์สอดคล้องกับหลักการ
เช่นนี้ ท่านผู้อ่านคงได้คำตอบแล้วว่าเหตุใด “ความรุนแรงในครอบครัว” จึงเป็นสิ่งที่อยู่คู่สังคมไทยมาอย่างช้านาน และไม่มีทีท่าว่าจะมีอัตราที่ลดลงแต่อย่างใด