เสรีภาพกับแนวคิดที่แตกต่างของ “สิทธิการปกป้องตนเอง” | ว่องวิช ขวัญพัทลุง 

เสรีภาพกับแนวคิดที่แตกต่างของ “สิทธิการปกป้องตนเอง” | ว่องวิช ขวัญพัทลุง 

“สิทธิการปกป้องตนเอง ปกป้องครอบครัวและคนที่คุณรัก ไม่ควรถูกจำกัดอยู่แค่ในบ้านเท่านั้น” คำกล่าวของ “เวย์น ลาปิแอร์” ถ่ายทอดอารมณ์และความต้องการอันแรงกล้าของสมาคมไรเฟิลแห่งชาติ (National Rifle Association - NRA) กลุ่มเสรีนิยมด้านอาวุธปืน

  หลังที่ศาลสูงสุดสหรัฐฯ มีคำตัดสินชี้ขาดว่าชาวอเมริกันมีสิทธิขั้นพื้นฐานที่จะพกปืนในที่สาธารณะ เพื่อป้องกันตนเอง หลังจากได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลร่วมกับชายชาวนิวยอร์กอีก 2 คนที่ถูกปฏิเสธใบอนุญาตพกปืน 

    คำพิพากษาดังกล่าวส่งผลพวงให้ต้องยกเลิกกฎหมายของรัฐนิวยอร์ก ซึ่งกำหนดให้บุคคลต้องพิสูจน์ให้ได้ว่ามีเหตุอันควรตามกฎหมายที่จะต้องป้องกันตนเอง ก่อนจะได้รับใบอนุญาตพกปืนออกสู่สาธารณะที่ใช้มานานกว่าศตวรรษ

ทั้งนี้ยังผลไปอีก 5 รัฐ ที่มีกฎหมายลักษณะเดียวกันเพื่อจำกัดไม่ให้ผู้คนพกพาปืนในที่สาธารณะโดยไม่มีเหตุอันควรต้องเปลี่ยนแปลงกฎหมายให้เป็นไปตามคำพิพากษาดังกล่าว 

 ประเด็นคำถามที่ตามมาของสังคม คือ เสรีภาพจากการป้องกันตนจะนำมาซึ่งการกระทำความผิดที่มากขึ้นหรือไม่

    การป้องกันตนเอง หมายถึง การป้องกันภัยอันละเมิดด้วยกฎหมายที่ใกล้จะถึง ด้วยจำต้องกระทำเพื่อป้องกันสิทธิของตนเองหรือผู้อื่นภายใต้วิถีทางที่น้อยที่สุดอันจะหลุดพ้นจากภัยดังกล่าว

เป็นหลักการ “Self Defense” ที่ตีความบทบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 2 ของสหรัฐอเมริกา (Second Amendment) ซึ่งเป็นหลักการเดียวกับ “ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 68” ของประเทศไทย ซึ่งให้อำนาจที่จะกระทำแก่ปวงชนชาวไทยในการป้องกันตนเองหรือผู้อื่นโดย “ไม่ผิดกฎหมาย” 

    อะไรคือสาเหตุที่ทำให้ “การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ” กลายเป็นปมปัญหาของสังคมยุคปัจจุบัน สิ่งบ่งชี้ที่ชัดเจนที่สุด 2 ประการ คือ 1) อัตราการกระทำผิด (จากอาวุธปืน) ที่เพิ่มขึ้น และ 2) การบังคับใช้กฎหมายในการเข้าถึงอาวุธปืนที่ไม่ทั่วถึงและชัดเจน 

กล่าวคือ การมีขึ้นของสิทธิในการป้องกันตนเองที่นำมาซึ่งเสรีภาพในการพกพาอาวุธปืนนั้น เป็นผลมาจากการเป็น “รัฐสมัยใหม่” ที่ไม่สามารถดูแลและให้ความปลอดภัยแก่ชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สิน ของประชาชน อันถือเป็นหน้าที่หลักของรัฐได้อย่างทั่วถึง

ภายใต้ความสลับซับซ้อนของสังคมและประชากรที่เพิ่มขึ้น จึงต้องกระจายการมีอำนาจในการดูแลตนเองเพื่อความปลอดภัยไปสู่ประชาชนผู้ที่ใกล้ต่อ “ภยันตราย” ยิ่งสังคมยิ่งเติบโต ความบกพร่องนี้แห่งรัฐก็มากขึ้นเช่นกัน 
    
การให้สิทธิป้องกันตนเองจึงไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด ในทางเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายอาญา กล่าวอีกนัยหนึ่งการก่อกำเนิดเสรีภาพย่อมเป็นผลโดยตรง จากการการันตีสิทธิผ่านรัฐธรรมนูญ อันเป็นจุดเริ่มต้นแห่งรัฐสมัยใหม่ (Magna Carta; "กฎบัตรใหญ่แห่งเสรีภาพ" ถือเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของโลก)

ซึ่งเริ่มมีขึ้นในยุโรปตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 13 พัฒนาไปสู่การเป็นรากฐานแนวคิดทางกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ซึ่งต้องประกันสิทธิตามรัฐธรรมนูญให้แก่ผู้เข้าสู่กระบวนการทุกฝ่ายโดยไม่สนใจแค่อำนาจที่รัฐพึงมี

    เมื่อมองที่ปมปัญหาแห่งเสรีภาพที่นำมาซึ่งปัญหาที่ได้กล่าวมา เห็นได้ว่า ประเด็นที่แท้จริงไม่ใช่สถิติแห่งการกระทำความผิดด้วยอาวุธปืน แต่กลับเป็นแรงจูงใจที่ใช้ในการกระทำ

ประกอบกับการเข้าถึงอาวุธปืนที่ปราศจากความเหนียวแน่นแห่งองค์ประกอบของหลักกการของรัฐ ว่าจะยืนหยัดอยู่บนการควบคุมที่เข้มงวดในการเข้าถึงอาวุธปืน หรือนำเสรีภาพในการพกพามาใช้ประกอบเพื่อแก้ปัญหาแห่งสังคม 

    รัฐเท็กซัส สหรัฐ ได้ออกกฎหมายครอบครองปืนฉบับใหม่ที่มีชื่อว่า “Unlicensed Carry Law” มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 กันยายนปี 2021 โดยกฎหมายดังกล่าว เปิดทางให้ประชาชนสามารถพกปืนสั้นในที่สาธารณะได้โดยไม่จำเป็นต้องมีใบอนุญาตหรือการฝึกฝนใด ๆ มาก่อน ภายใต้กฎหมายที่ถือว่าเสรีภาพในการครอบครองอาวุธปืนนั้นไม่มีอายุขั้นต่ำ

แต่หากจะพกปืนสั้นไปที่สาธารณะผู้ครอบครองจะต้องมีอายุ 21 ปีบริบูรณ์ก่อนเท่านั้น ภายใต้ข้อยกเว้นที่ว่า กฎหมายจะอนุญาตให้ผู้ที่มีอายุ 18-21 ปี สามารถ “ซื้อ” ปืนได้ โดยต้องมีเงื่อนไขพิเศษ คือ มีความเสี่ยงจากความรุนแรงในครอบครัว ถูกสะกดรอยตาม ถูกบังคับค้าประเวณี และ “อยู่ภายใต้คำสั่งคุ้มครองของพนักงานฝ่ายปกครอง” 

    จะเห็นได้ว่า แม้รัฐเท็กซัสจะมองว่าการเข้าถึงอาวุธปืนเป็นเสรีภาพตามความหมายแห่งรัฐธรรมนูญ แต่ก็ยังคงไว้ซึ่งกรอบที่กำหนดการควบคุมการเข้าถึงที่ชัดเจน ทั้งประเภทของอาวุธที่ต้องเป็นปืนพกสั้น (Handgun) เท่านั้น จึงสามารถพกพาในที่สาธารณะได้ รวมไปถึงเงื่อนไขทางอายุและความจำเป็นอันพิจารณาไปตามแต่ละบุคคลภายใต้คำสั่งของเจ้าหน้าที่รัฐที่มีอำนาจอนุญาต 

    แสดงให้เห็นถึงการไม่ละเลยทั้งเสรีภาพของประชาชน ในลักษณะของการมีกรอบแห่งกฎเกณฑ์อันมีมาตรฐานร่วมกัน อีกทั้งหลังจากที่ศาลสูงสุดมีคำตัดสินเพียงไม่นาน วุฒิสภาสหรัฐ ก็ได้ผ่านร่างกฎหมายควบคุมอาวุธปืนแห่งชาติฉบับแรกในรอบ 30 ปี

สาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ มีเพื่อสร้างความเคร่งครัดในการตรวจสอบประวัติผู้ซื้อปืนว่า เคยกระทำความรุนแรงในครอบครัว หรือก่ออาชญากรรมร้ายแรงในขณะที่เป็นเยาวชนหรือไม่ เพื่อเป็นองค์ประกอบในการครอบครอง เช่นนี้จึงเป็นเครื่องยืนยันจาก “รัฐ” เชิงสัญลักษณ์ได้ว่า “เสรีภาพคือหลักสำคัญที่ต้องกอปรการควบคุมที่ชัดเจนเสมอ” 

ถึงแม้ว่าประชากรกว่าร้อยละ 60 ของรัฐเท็กซัส และประธานาธิบดี “โจ ไบเดน” จะไม่เห็นด้วยกับการออกกฎหมายดังกล่าว แต่เมื่อมันเป็นเสรีภาพตามกฎหมายสูงสุด สังคมก็ต้องเรียนรู้ที่จะใช้สิทธินั้นภายใต้การควบคุมผ่านกระบวนการยุติธรรมที่ชัดเจน ด้วยยอมรับเงื่อนไขที่ว่า “เมื่อสังคมยิ่งซับซ้อนการควบคุมทางเดียวย่อมไม่สามารถสรรค์สร้างสังคมที่ดำรงไว้ซึ่งความปกติสุขได้” 

มากไปกว่านั้น อาจนำมาซึ่งปัญหาอันเป็นความเหลื่อมล้ำจากการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐผู้ทำหน้าที่ควบคุมเพิ่มมากดทับปัญหาเดิมจนส่งผลเสียที่มากกว่าการให้เสรีภาพในการป้องกันตนเป็นพื้นฐาน นั่นคือหลักการง่าย ๆ ของเสรีภาพว่าด้วยการป้องกันตนเอง ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย.