กกท. เร่ง กสทช. แก้กฎ 'Must Have-Must Carry' หวั่นสร้างปัญหาอีกในอนาคต
ผู้ว่าการ กกท. เร่ง กสทช. แก้กฎ "Must Have-Must Carry" หวั่น สร้างปัญหาอีกในอนาคต รับกฎดังกล่าวทำให้ยากต่อการที่จะหาภาคเอกชนมาร่วมลงทุน และอาจทำให้ไทยเสียเปรียบในการเจรจาค่าลิขสิทธิ์
เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2566 ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) เปิดเผยว่า เมื่อสัปดาห์ก่อน ตนได้เดินทางไปยังกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกเกมส์ ครั้งที่ 32 ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 26 ก.ค. - 11 ส.ค. 2024 ซึ่งในโอกาสนี้ กกท. ได้เข้าพูดคุยถึงเรื่องลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดกีฬาโอลิมปิกเกมส์ 2024 ด้วย
อย่างไรก็ตามยังคงมีสิ่งที่น่ากังวลเกี่ยวกับเรื่องลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด เพราะตั้งแต่จบจากฟุตบอลโลก 2022 ที่กาตาร์ ยังไม่มีการนำบทเรียนและปัญหาที่ยุ่งเหยิงต่างๆที่เกิดขึ้นจากการบังคับใช้กฎ "มัสต์แฮฟ" และ "มัสต์แครี่" จนเกิดปัญหาต่างๆตามมา มาร่วมถกและพูดคุยอย่างจริงจังแต่อย่างใด
"ส่วนตัวอยากให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ควบคุม ดูแล และกำกับการใช้ กฎมัสต์แฮฟ และ มัสต์แครี่ ปรับแก้ไขกฎดังกล่าวให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ส่วนจะมีปรับเปลี่ยนตรงไหน แก้อย่างไร กกท.ก็พร้อมจะเข้าไปร่วมรับฟังและให้ข้อมูล เพราะต้องยอมรับว่ากฎดังกล่าว ยังคงเป็นปัญหาสำหรับการดำเนินการเจรจาซื้อลิขสิทธิ์การแข่งขันมหกรรมกีฬา ซึ่งก็รวมถึงซีเกมส์ ครั้งที่ 32 ที่กัมพูชาด้วย อีกทั้งยังยากต่อการที่จะหาภาคเอกชนมาร่วมลงทุนภายใต้เงื่อนไขและกฎดังกล่าวด้วย" ดร.ก้องศักด กล่าวทิ้งท้าย
สำหรับ กสทช. ได้ออกกฎ "มัสต์แฮฟ" (Must Have) ระบุ 7 มหกรรมกีฬาที่คนไทยต้องดูฟรี ประกอบด้วย ซีเกมส์, อาเซียนพาราเกมส์, เอเชียนเกมส์, เอเชียนพาราเกมส์, โอลิมปิกเกมส์, พาราลิมปิกเกมส์ และฟุตบอลโลก พร้อมกับออกกฎ "มัสต์ แครี่" (Must Carry) ควบคู่กัน โดยระบุว่า เจ้าของลิขสิทธิ์ต้องดำเนินการให้ทุกแพลตฟอร์ม เพื่อให้คนไทยได้ชมแบบฟรีๆ ซึ่งด้วยเงื่อนไขต่างๆ ทำให้ยากต่อการที่ภาคเอกชนจะเข้ามาลงทุน หรือร่วมลงทุนกับภาครัฐในยุคปัจจุบัน รวมถึงทำให้ประเทศไทยเสียเปรียบในการต่อรองราคาค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดมหกรรมกีฬาทั้ง 7 รายการกับเจ้าของลิขสิทธิ์ ที่รับทราบว่าไทยมีกฎดังกล่าว