จิตแพทย์ ห่วง 'กราดยิงเพชรบุรี' และความรุนแรงซ้ำ ๆ อาจทำสังคมชินชา
จิตแพทย์ ห่วงเหตุกราดยิงเพชรบุรี และความรุนแรงซ้ำ ๆ อาจทำสังคมชินชา แนะยกเลิกปืนสวัสดิการพร้อมต้องมีระบบติดตามตรวจสอบ ด้านอธิบดีกรมจิต ฯ ชี้สังคมเครียดสูง ต้องเพิ่มภูมิคุ้มกันทางจิตใจ
เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2566 นายแพทย์ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กล่าวถึงกรณีเหตุความรุนแรงชายคลั่งกราดยิงเพชรบุรี ซึ่งมีความคล้ายกับเหตุการณ์ก่อนหน้านี้ที่สายไหม ว่า บทเรียนความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากกรณีการใช้อาวุธปืนทำร้าย ไม่ว่าจะเป็นกรณีสารวัตรคลั่งจนถึงเหตุการณ์ล่าสุด พบว่าเกิดขึ้นมาจากความเครียดและมีปัญหาทางจิตใจ ซึ่งปกติคนที่จะดูแลในเรื่องนี้มีตั้งแต่ชุมชน และองค์กร เพราะผู้ที่มีอาวุธปืน ส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่อยู่ในองค์กรทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นทหาร ตำรวจ, อสส., เจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ ดังนั้น กลไกการดูแลขององค์กรจะต้องทำหน้าที่ ดูแลบุคลากร ส่วนระบบสาธารณสุข จะเป็นเรื่องปลายทาง
นพ.ยงยุทธ กล่าวว่า การถือครอบครองอาวุธปืน ต้องมีระบบติดตามปัญหาสภาพจิตใจทั้งระบบ ไม่ใช่แค่จำกัดไว้ที่ส่วนกลาง ทำหน้าที่ติดตาม เช่น กองทัพบกมีระบบติดตามอยู่ที่โรงพยาบาลพระมงกุฏฯ หรือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีโรงพยาบาลตำรวจ คอยกำกับติดตามสภาพจิตใจ เพราะการครอบครองอาวุธปืน มีในเจ้าหน้าที่ทุกพื้นที่ของประเทศการถือครอบครองอาวุธต้องเข้าใจว่า อาจก่อเหตุ ได้ตั้งแต่ตัวเองและผู้อื่น เช่น ทำร้ายตนเอง หรือคนในครอบครัว คนในชุมชน หรือแม้แต่คนไม่รู้จัก
ดังนั้น อย่าได้นำอำนาจทางปกครองหรือวินัยมาจำกัด ในเรื่องการดูแล ครอบครองอาวุธปืนอย่างเดียว แต่ต้องใช้มาตรการการดูแลเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบ พร้อมเรียกร้องยกเลิก ซื้ออาวุธปืนสวัสดิการ เพราะคำว่าสวัสดิการนั้นไม่เหมาะ ใช้กับอาวุธ เพราะการใช้อาวุธเป็นการใช้ในขณะปฎิบัติหน้าที่ หากเสร็จสิ้นภารกิจหรือไม่ได้เกี่ยวข้องแล้ว ก็ไม่ควรมีการครอบครองอาวุธปืน เช่น กรณีเหตุกราดยิงที่เพชรบุรีนี้ จะพบว่าเป็นลูกจ้างชั่วคราวเท่านั้น แม้ที่มาของอาวุธปืนจะไม่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานก็ตาม
นพ.ยงยุทธ ยังกล่าวว่า ทั้งนี้ ขอปฏิเสธวิจารณ์การปฎิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจเพราะไม่เกี่ยวข้อง แต่อยากชี้ให้เห็นถึงการนำเสนอข่าวมากกว่า ที่ทาง กสทช. ควรเข้ามามีบทบาทควบคุมไม่ให้เกิดความดราม่า มากจนเกินไป เพราะห่วงว่าในอนาคตสังคมจะเกิดความชินชาต่อความรุนแรง
โดยพฤติกรรมของความรุนแรงจากการนำเสนอข่าว จะเริ่มจาก 1.เลียนแบบหรือเป็นแบบอย่าง 2.ชินชา และ 3. ลดความยับยั้งชั่งใจ ซึ่ง กสทช.สามารถเข้ามาดูแลและควบคุมได้ตั้งแต่สื่อหลัก รวมถึงสื่อออนไลน์ที่มีการลงทะเบียน เพราะบทเรียนจากการนำเสนอข่าวจะเห็นว่าทุกครั้งมีบทเรียนไม่ซ้ำกันและดราม่า ความรุนแรงก็แตกต่างกัน การติดตามข่าวแบบทุกนาที หรือทุกชั่วโมง ทำให้เกิดความเครียดและท้ายที่สุดสังคมก็จะชินชา
ด้าน พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีความรุนแรงที่เกิดขึ้นใน อ.เมือง จ.เพชรบุรี คล้ายกับที่เกิดขึ้นในเขตสายไหม อาจมีลักษณะเกิดการลอกเลียนแบบความรุนแรง (Copycat) หรือไม่ ว่า
หากติดตามข้อมูลจากข่าวจะพบว่าผู้ก่อเหตุจัดการกับความรู้สึกของตนเองในเรื่องคดีความด้วยวิธีไม่เหมาะสม จนนำไปสู่การใช้อาวุธปืนทำร้ายคนอื่น โดยไม่กลัวกฎหมายเพราะถูกครอบงำความคิดในเชิงเหตุผล ส่วนการใช้ยาเสพติดจะเกี่ยวข้องมากน้อยอย่างไร จะต้องไปดูในรายละเอียดว่าเป็นเหตุของการใช้ความรุนแรงหรือเป็นอีกส่วนที่ใช้เพื่อจัดการกับอารมณ์ของตนเอง
ทั้งนี้ ตนเป็นห่วงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพราะจะเป็นการเลียนแบบในกลุ่มผู้ที่ไม่สามารถจัดการกับอารมณ์ของตนเองได้ อย่างไรก็ตาม ไม่สามารถสรุปได้ว่าการก่อเหตุครั้งนี้เกิดจากการลอกเลียนแบบเพียงอย่างเดียว เพราะคนที่รู้สติของตัวเองก็จะไม่ลอกเลียนแบบนี้ในเรื่องเช่นนี้ ฉะนั้นเรื่องของพฤติกรรมมนุษย์ไม่ได้เกิดขึ้นจากเหตุปัจจัยเดียว แต่ยังมีอีกหลาย ๆ องค์ประกอบเกี่ยวข้อง
สังคมมีความเครียดสูงขึ้น เรายิ่งต้องเพิ่มภูมิคุ้มกันทางจิตใจมากขึ้น จะปล่อยตัวตามสิ่งแวดล้อมไม่ได้ กลับกันเราต้องมีสติ เรียนรู้การจัดการด้านความคิด อารมณ์ด้านลบของตัวเอง ยิ่งเห็นเหตุการณ์เช่นนี้ เรายิ่งต้องสร้างความตระหนักให้ตัวเอง เพื่อลดความเครียด ความทุกข์ของตัวเองไม่ปล่อยให้เป็นเหยื่อของสิ่งเหล่านี้