กยท. เดินหน้าหารือจ่ายเงินประกันรายได้ 7,600 ล้าน

กยท. เดินหน้าหารือจ่ายเงินประกันรายได้  7,600 ล้าน

กยท. เดินหน้าหารือจ่ายเงินประกันรายได้ 7,600 ล้าน การันตีถึงมือชาวสวนยางทันที เมื่อผ่านมติบอร์ด ธ.ก.ส.

กยท. เผย เงินประกันรายได้ เฟส 4 กว่า 7,600 ล้านบาท จะถึงมือชาวสวนยางได้ทันที เมื่อบอร์ด ธ.ก.ส. ไฟเขียวอนุมัติจ่ายเงินฯ มั่นใจ ได้เป็นของขวัญปีใหม่ไทย ก่อนสงกรานต์แน่นอน

นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ กยท. ได้ส่งข้อมูลเกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนและแจ้งข้อมูลพื้นที่กับ กยท. ภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2565 รวมกว่าประมาณ 1.6 ล้านราย ให้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) ไว้ ซึ่งมีสิทธิ์รับเงินในโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 4  รวมวงเงินประมาณ 7,600 ล้านบาท

ทั้งนี้ ได้เร่งประสานความร่วมมือและหารือ ธ.ก.ส. เรื่องการจ่ายเงินประกันให้กับชาวสวนยาง โดยทันทีที่คณะกรรมการ ธ.ก.ส. มีมติอนุมัติจ่ายเงินโครงการดังกล่าว  เงินจะเข้าสู่บัญชีของเกษตรกรชาวสวนยาง เชื่อว่าก่อนเทศกาลสงกรานต์ในเดือนเมษายน 2566 นี้อย่างแน่นอน


สำหรับโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 4   คณะรัฐมนตรีได้พิจารณาเห็นชอบเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 มีระยะเวลาดำเนินโครงการจนถึงกันยายน 2566  โดยได้กำหนดระยะเวลาประกันรายได้รวม 2 เดือน คือ  ตุลาคม – พฤศจิกายน 2565  โดยจะต้องเป็นสวนยางที่มีอายุตั้งแต่ 7 ปีขึ้นไปและเปิดกรีดแล้ว  รายละไม่เกิน 25 ไร่  โดยกำหนดราคาประกันผลผลิตยางแต่ละชนิด ดังนี้ ยางแผ่นดิบคุณภาพดี 60 บาท/กิโลกรัม น้ำยางสด (DRC 100%) 57 บาท/กิโลกรัม และยางก้อนถ้วย (DRC 50%) 23 บาท/กิโลกรัม แบ่งสัดส่วนให้เจ้าของสวน ร้อยละ 60 และคนกรีด ร้อยละ 40 ของรายได้ทั้งหมด

 

ทั้งนี้โครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง  ได้ดำเนินการมาแล้ว 3 ระยะ ตั้งแต่ตุลาคม 2562 วงเงินรวมทั้งสิ้น 46,682.88 ล้านบาท  ถือเป็นมาตรการหนึ่งของรัฐบาลที่ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกร ลดความเสี่ยงเรื่องรายได้  สร้างความมั่นคงและความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง

 
ผู้ว่าการ กยท.ยังกล่าวถึงสถานการณ์ราคายางว่า  สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง (Climate Change)  ทำให้ราคายางไม่เป็นไปตามทฤษฎี ฤดูร้อนฝนก็ยังตก ผลผลิตยางจึงไม่แน่นอน ไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้  ผนวกกับเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ส่งผลให้ความต้องการใช้ยางลดลงไปด้วย  ราคายางจึงผันผวน แกว่งตัว อย่างไรก็ตาม ราคายางก้อนถ้วย ซึ่งเป็นยางที่มีการซื้อขายมากที่สุดคือประมาณร้อยละ  60 ของยางทั้งหมด มีราคาค่อนข้างนิ่งประมาณ 40 บาทต่อกิโลกรัม (DRC100%)    แต่คาดว่าแนวโน้มในอนาคตราคาน่าจะดีขึ้น เนื่องจากปริมาณยางที่ออกสู่ตลาดยังมีไม่มาก


อย่างไรก็ตามในอนาคตหากเกษตรกรต้องการขายยางได้ราคาที่สูงกว่าราคาตลาดทั่วไป และมีตลาดรับซื้อที่แน่นอน เกษตรกรชาวสวนยางจะต้องตื่นตัวในการปรับปรุงและพัฒนาสวนยางพาราให้ได้มาตรฐานสากล  เนื่องจากประเทศผู้นำเข้ายางในหลายประเทศ โดยเฉพาะในทวีปยุโรปได้นำมาตรการตรวจสอบย้อนกลับ และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมาเป็นเงื่อนไขสำคัญในการรับซื้อ โดยจะรับยางหรือผลิตภัณฑ์จากยางที่มาจากสวนยางพาราที่ได้มาตรฐาน สามารถแสดงแหล่งกำเนิดของผลผลิตได้ เท่านั้น