'ศึกษาธิการ-แรงงาน' ยกระดับการมีงานทำ เพิ่มขีดความสามารถประเทศ
“ศึกษาธิการ-แรงงาน ร่วมใจ สู่ไทยมีงานทำ” ยกระดับการมีงานทำ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2566 นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) และนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (รมว.รง.) ร่วมเป็นประธานเปิดงาน “ศึกษาธิการ – แรงงาน ร่วมใจสู่ไทยมีงานทำ” ภายใต้ความร่วมมือในการส่งเสริมการศึกษาและการมีงานทำให้แก่นักเรียน นักศึกษา และแรงงานทุกระดับ ระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกับ กระทรวงแรงงาน
โดยมีนายอรรถพล สังขวาสี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา นายสุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการสภาการศึกษา นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นายมณฑล ภาคสุวรรณ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงศึกษาธิการ ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน และสถานประกอบการ ร่วมงาน ณ วิทยาลัยการอาชีวศึกษาปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี
นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ในการจัดการศึกษานั้น สถานศึกษาต้องดำเนินการพัฒนาผู้เรียนทุกระดับการศึกษา ให้มีวิธีคิดและทักษะที่เป็นสากล สอดคล้องกับศตวรรษที่ 21 มุ่งเน้นการจัดการเรียนรู้ที่หลากหลาย โดยยึดความสามารถของผู้เรียนเป็นหลัก และพัฒนาผู้เรียนให้เกิดสมรรถนะที่ต้องการ สอดคล้องกับมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับ การจัดเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับประชาชนทุกช่วงวัยได้รับการศึกษาตามความต้องการอย่างมีคุณภาพและมาตรฐาน รวมทั้งการพัฒนาทักษะทางอาชีพของผู้เรียน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต สร้างอาชีพและรายได้ที่เหมาะสม และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
รมว.ศธ. กล่าวต่อไปว่า จากความร่วมมือ เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2565 สู่การขับเคลื่อนภายใต้การบรูณาการการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงแรงงาน ภายใต้รัฐบาลที่นำโดย พลเอก ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อการส่งเสริมให้ประชาชนมีงานทำ สร้างแรงงานมีศักยภาพ มีงานทำ มีรายได้ มีหลักประกันมีความมั่นคงเป็นที่พึ่งของตนเองและผู้อื่น ซึ่งถือว่าเป็นภารกิจที่สามารถนำมาเสริมศักยภาพในการขับเคลื่อนการศึกษา และร่วมพัฒนาหลักสูตรฐานสมรรถนะ ในการจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิต และการพัฒนาทักษะอาชีพของผู้เรียนได้เป็นอย่างดี อีกทั้ง ยังเป็นการพัฒนาศักยภาพของนักเรียน นักศึกษา รวมถึงแรงงานทุกระดับให้มีความรู้ ความสามารถ และทักษะฝีมือ ให้เป็นไปตามมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ และตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน ทั้งด้านปริมาณ และคุณภาพ รองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจในอนาคต ตลอดจนพัฒนาสมรรถนะในการแข่งขันของประเทศ ให้ผู้จบการศึกษาในทุกระดับ และแรงงาน มีอาชีพ สู่คุณภาพชีวิตที่ดี
โดยตลอดระยะเวลา 1 ปี ในการดำเนินงานร่วมกันส่งผลให้เกิดการขับเคลื่อนที่เกิดประโยชน์ต่อนักเรียนนักศึกษาในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับการบูรณาการกับทุกภาคส่วนของทั้งสองกระทรวง ตามกรอบการดำเนินงาน 4 ด้าน ดังนี้ 1. ด้านระบบฐานข้อมูล Big Data และการส่งเสริมการมีงานทำ การจัดทำแพลตฟอร์มกลาง “ไทยมีงานทำ” ในการบริหารจัดการส่งเสริมการศึกษาและการมีงานทำแก่นักเรียน นักศึกษา และแรงงานทุกระดับ ให้ทุกภาคส่วนทราบอย่างทั่วถึง โดยมีผู้สำเร็จการศึกษาจากสถานศึกษาในสังกัด สอศ. ได้ประโยชน์จากการเข้าถึงแหล่งงานจากผู้ประกอบการโดยตรง จำนวน 420,494 คน 2. ด้านการพัฒนาหลักสูตรและการพัฒนาบุคลากรและครูผู้สอน เป็นการพัฒนาหลักสูตร Up – Skill, Re – Skill และหลักสูตร e – Learning ที่เชื่อมโยงกับมาตรฐานฝีมือแรงงาน และกฎหมายแรงงานที่ควรรู้ โดยมีการพัฒนาหลักสูตรยานยนต์ไฟฟ้า EV เชื่อมโยงกับมาตรฐานฝีมือแรงงาน 7 สาขาอาชีพ ในสถานศึกษา จำนวน 52 แห่ง มีหลักสูตรได้รับการรับรองจากคณะกรรมการกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ จำนวน 42 สาขาวิชา หลักสูตรที่เชื่อมโยงกับมาตรฐานฝีมือแรงงาน 273 สาขาอาชีพ จำนวน 933 รายวิชา หลักสูตรระยะสั้นที่เชื่อมโยงกับกรอบคุณวุฒิวิชาชีพ จำนวน 5 สาขาอาชีพ (สาขาอาชีพช่างยนต์, อาชีพช่างเชื่อมโลหะ, อาชีพผู้ประกอบการอาหารและโภชนาการ, อาชีพช่างเสริมสวย, อาชีพช่างไฟฟ้า) 3. ด้านการทดสอบและการจัดตั้งศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานและการประเมินการจัดตั้งศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถ เป็นการยกระดับสมรรถนะนักเรียน นักศึกษา และแรงงานทุกระดับด้วยระบบการรับรองมาตรฐานฝีมือแรงงาน โดยมีศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานในสถานศึกษาสังกัด ศธ. เพิ่มขึ้นรวมทั้งสิ้น 264 แห่ง มีผู้อบรมทดสอบในปี พ.ศ. 2565 จำนวน 266 คน และในปีนี้ จำนวน 251 คน โดยศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถ ได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมการจัดตั้งศูนย์ในสถานศึกษาเป็นระยะเวลา 3 ปี 4. ด้านการส่งเสริมและพัฒนางานในการจัดการอาชีวศึกษาด้านทวิภาคี และการแข่งขันฝีมือแรงงาน เป็นการจัดการศึกษาอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีคุณภาพสูง เพื่อยกระดับกำลังคนอาชีวศึกษาสมรรถนะสูง จัดฝึกอบรมครูฝึกในสถานประกอบการ จำนวน 1,966 คน การพัฒนาระบบยื่นขอรับสิทธิประโยชน์ผ่านระบบ PRB e-service เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่สถานประกอบการที่เข้าร่วมการจัดการอาชีวศึกษาทวิภาคี การดำเนินงานร่วมกับสำนักงานประกันสังคม ปรับปรุงแนวทางการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีให้เข้าถึงได้ง่ายขึ้น และพัฒนานักเรียน นักศึกษาให้มีสมรรถนะสูงตามมาตรฐานสากล World Skills
ซึ่งจากการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่าง 2 กระทรวง ส่งผลทำให้เกิดประโยชน์ต่อนักเรียนนักศึกษาสังกัดกระทรวงศึกษาธิการในวงกว้าง ซึ่งจะเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพของประเทศไทย มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีอาชีพและมีรายได้ที่เหมาะสมต่อไป
นอกจากนี้ภายในงานจัดให้มีตลาดนัดแรงงาน (Job Fair) การรับสมัครงานของสถานประกอบการ การอบรมอาชีพอิสระ หรือ 108 อาชีพ การรับสมัครออนไลน์ ฝึกอบรมหลักสูตร Up-Skill และให้บริการลงทะเบียนหางานออนไลน์ ผ่านแพลตฟอร์ม ไทยมีงานทำ (Thaiมีงานทำ) ทั้งนี้ผู้ที่สนใจหางานสามารถลงทะเบียนผ่าน แพลตฟอร์ม ไทยมีงานทำ (Thaiมีงานทำ) ได้อีกด้วย